บทความแนวคิดทางธรรมเรื่อง “ลิงไม่ล่ามโซ่” โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

เรื่อง วินัยนำไปดี

มีเรื่องเล่าว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นยุคที่บ้านเมืองมีความสงบสุขมาก ความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมืองส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนมีระเบียบวินัย ข้อบังคับใดที่ทรงวางไว้ใครจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ และเพราะเหตุที่บ้านเมืองมากไปด้วยระเบียบวินัยนี้เอง ทำให้ประชาชนบางพวกไม่พอใจ  จึงขอให้พระเถระรูปหนึ่งไปเข้าเฝ้าเพื่อขอให้ทรงลดหย่อนเรื่องระเบียบวินัยลงเสียบ้าง  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงรับสั่งว่าจะขอผัดผ่อนไปก่อนสัก ๗ วัน แล้วจึงจะให้คำตอบ และก่อนที่พระเถระจะกลับ ทรงถวายลิงตัวหนึ่งแก่พระเถระโดยขอร้องว่าอย่าล่ามโซ่ เมื่อพระเถระนำลิงมาเลี้ยงที่วัดโดยไม่ล่ามโซ่ก็สร้างความโกลาหลวุ่นวายขึ้นตามประสาลิงจนพระเถระทนไม่ไหว สามวันต่อมาจึงนำลิงไปส่งคืน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงตรัสว่า “พระคุณเจ้าเอาลิงตัวเดียวไปเลี้ยงโดยไม่ล่ามโซ่ มันยังทำความเดือดร้อนถึงเพียงนี้      แต่โยมเลี้ยงคนทั้งประเทศ ถ้าโยมปกครองคนทั้งประเทศโดยไม่ใช้กฎหมายและระเบียบวินัยแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร” เมื่อได้ฟังดังนั้น พระเถระก็ยอมรับความจริงว่า การปกครองคนหมู่มาก จำเป็นต้องมีกฎหมายและระเบียบวินัย มิฉะนั้นบ้านเมืองจะวุ่นวายเหมือนการเลี้ยงลิงโดยไม่ล่ามโซ่นั่นเอง

เรื่องนี้สอนให้เห็นชัดว่าความมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการอยู่ร่วมกัน เพราะระเบียบวินัยเป็นเครื่องฝึกให้คนรู้จักระวังตัว รู้จักควบคุมตัวเอง และรู้จักเชื่อฟัง ไม่ก่อปัญหาแก่คนอื่น คนมีระเบียบวินัยจึงเป็นคนที่มีคุณสมบัติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ใช่แต่เท่านั้น ระเบียบวินัยยังเป็นเครื่องหนุนให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องสุจริต และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย ทางพระจึงสอนว่า วินัยที่ศึกษาและปฏิบัติดีแล้วเป็นมงคลของชีวิต

บทความแนวคิดทางธรรมเรื่อง “ลิงเปิดแผล” โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

เรื่อง  ลิงเปิดแผล

มีเรื่องเล่าว่า  ลิงฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่  วันหนึ่งลิงน้อยตัวหนึ่งกระโดดไปตามกิ่งไม้แต่คว้ากิ่งไม้พลาด ตกลงมากระแทกกับตอไม้เข้าอย่างจัง จนบาดเจ็บเป็นแผลที่ท้องมีเลือดไหลออกมา     ลิงตัวอื่น ๆ เห็นเข้าจึงลงจากต้นไม้พากันไปแหวกดูแผล แผลที่มีอยู่เดิมก็ฉีกกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดลิงตัวนั้นก็จบชีวิตอย่างทรมานเพราะความอยากรู้อยากเห็นของลิงทั้งหลาย

ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของคนและสัตว์ มีทั้งคุณและโทษ จึงต้องมีควบคู่ไปกับการใช้วิจารณญาณ แรกสุดก็คือวิธีการที่จะทำให้รู้ให้เห็นว่าเป็นวิธีที่ทำให้ใครเดือดร้อนเสียหายหรือไม่ เพราะการกระทำเพื่อจะได้รู้ได้เห็นให้สมอยากนั้น บางทีก็เป็นการสร้างปัญหาให้คนอื่นเหมือนฝูงลิงที่พากันไปแหวกดูแผลจนลิงตัวหนึ่งต้องตายไป

ต่อมาก็คือเรื่องที่อยากรู้อยากเห็น ต้องรู้ตัวว่าจะรู้ไปเพื่ออะไร คือรู้แล้วละเพราะได้บทเรียนที่เป็นอุทาหรณ์ รู้แล้วเริ่มเพราะเห็นตัวอย่างที่ดี หรือรู้แล้วหลงเหมือนคนที่อยากลองแล้วติดในอบายมุขหรือคนที่จ้องจะเอาสิ่งที่รู้นั้นไปเบียดเบียนผู้อื่น ถ้าไม่ใช่ทั้งสามเรื่องนี้ก็ต้องเป็นเรื่องสุดท้าย คืออยากรู้ขึ้นมาเฉย ๆ ไม่มีเหตุผล เป็นแค่ใจอยากแล้วขวนขวายเพื่อสนองความอยากอย่างเดียว

ไหน ๆ คนเราก็มีธาตุแท้ของความอยากรู้อยากเห็นติดตัวมาด้วยกันทุกคน จะเลิกก็ไม่ได้ ก็จงใช้วิจารณญาณเข้ากำกับ ให้ความอยากรู้อยากเห็นนั้นเป็นพลังในทางสร้างสรรค์ความดีงามเท่านั้น เพราะความอยากรู้อยากเห็นที่ขาดสติ  มักทำให้สูญเปล่าไปกับเรื่องไร้สาระบ้าง  ทำให้ต้องเดือดร้อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งบ้าง ไม่เฉพาะเรื่องลิงเปิดแผลนี้เท่านั้น ในชีวิตจริงก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วไม่น้อยทีเดียว

 

บทความแนวคิดทางธรรมเรื่อง “สิ่งที่เทคโนโลยียังทำไม่ได้” โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

เทคโนโลยียังทำไม่ได้

ปัจจุบันนี้ มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการเป็นอย่างมาก ทำให้ชีวิตสุขสบายและมีแนวโน้มที่จะเป็นสังคมกดปุ่ม คืออยากได้อะไร อยากจะไปไหน เพียงแค่กดปุ่มเท่านั้น ก็สำเร็จสมปรารถนา  บางคนถึงกับกล่าวว่า “โลกมนุษย์ในอนาคตคือโลกของเทคโนโลยี ถ้าใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก และสนองความต้องการให้ถึงที่สุดแล้ว มนุษย์อาจจะบรรลุบรมสุขได้โดยไม่ยากนัก”

แนวคิดดังกล่าว คงมีผู้เห็นด้วยมิใช่น้อย เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า แม้มนุษย์จะสามารถประดิษฐ์เครื่องมือต่างๆ ได้สารพัด แต่ก็ยังไม่สามารถประดิษฐ์เครื่องขัดเกลากิเลสของตนเองได้เลย ตรงกันข้าม ยิ่งเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ดูเหมือนมนุษย์ก็ยิ่งมีความโลภมากขึ้น มีการทำลายล้างกันมากขึ้น มีอาการหลงใหลยึดติดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น  และยิ่งมนุษย์เรียนรู้เทคโนโลยีได้กว้างไกลขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งรู้จักตัวเองน้อยลงเพียงนั้น กล่าวคือ ในขณะที่คนคนหนึ่งสามารถใช้นิ้วกดปุ่มต่าง ๆ  บนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่วนั้น  เขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่านิ้วมือทั้ง ๑๐ นิ้วมีข้อกี่ข้อ และใจของเขากำลังคิดสร้างสรรค์หรือคิดทำลายกันแน่

ศาสนามิได้ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่มีทัศนะว่ายอดของความรู้นั้น คือ การรู้จักตนเองและควบคุมตนเองได้  ในขณะที่เทคโนโลยียังไม่สามารถสร้างเครื่องขัดเกลากิเลสของมนุษย์ได้นั้น  การรู้จักตนเอง ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการควบคุมตนเอง เพื่อขัดเกลากิเลสอันเป็นต้นตอของความทุกข์ทั้งมวลได้อย่างวิเศษที่สุด