บทความแนวคิดทางธรรมเรื่อง “อย่าหวังพึ่งร่มเงาเมฆ” โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

 อย่าหวังพึ่งร่มเงาเมฆ

โดย  น.ท.สมปอง  วัฒนกูล  อศจ.บก.รร.นร.

เมื่อดวงอาทิตย์ถูกเมฆลอยมาบดบัง ย่อมทำให้เกิดร่มเงาขึ้นที่ภาคพื้นดิน แต่ร่มเงาเมฆนั้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อเมฆลอยหายไป เงาก็ย่อมจะหายไปด้วย ไม่อาจเป็นเงาที่ถาวรได้ คนที่พึ่งร่มเงาเมฆจึงพึ่งได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น ไม่อาจพึ่งได้ตลอดไป

ในทางพระพุทธศาสนา มีสิ่งที่เปรียบได้กับร่มเงาเมฆนั่นก็คือการพนัน ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยหวังสร้างฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นหรือหวังรวยทางลัด ด้วยการเล่นการพนัน บางครั้งแม้จะโชคดีได้ทรัพย์สินเงินทองมา ก็ได้มาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ด้วยเวลาที่ไม่นานนัก ทรัพย์สินเงินทองนั้นก็จะค่อย ๆ มลายสูญสิ้นไป จึงกล่าวได้ว่าไม่มีใครสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างฐานะให้แก่ตัวเอง หรือแม้แต่สร้างมรดกไว้ให้ลูกหลานได้ด้วยการเล่นการพนันเลย เพราะในที่สุดแล้ว ย่อมจะพบกับความหายนะ ความวิบัติเดือดร้อนต่าง ๆ จนถึงสิ้นเนื้อประดาตัว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ดังนั้น พระท่านจึงพูดว่าการพนันเป็นอบายมุข คือทางแห่งความเสื่อมประการหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม คนที่มีความขยันหมั่นเพียร ประกอบอาชีพที่สุจริต รู้จักประหยัดอดออม  ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว ก็ย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ลำบากฝืดเคือง ถึงแม้จะมีรายได้ไม่มากนัก แต่ก็เป็นรายได้ที่มั่นคงได้ เหมือนร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ย่อมเป็นร่มเงาที่ถาวรกว่าร่มเงาเมฆ

ผู้หวังสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น จึงควรประกอบอาชีพที่สุจริต เป็นต้นดังกล่าว และไม่ควรฝากอนาคตไว้กับการพนัน เพราะการหวังร่ำรวยทางลัด เป็นความเพ้อฝัน เปรียบเหมือนการหวังพึ่งร่มเงาเมฆโดยแท้

 

 

บทความแนวคิดทางธรรมเรื่อง “ตายเพราะปาก” โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

ตายเพราะปาก

โดย น.ท.สมปอง  วัฒนกูล  อศจ.บก.รร.นร.

มีเรื่องเล่าว่า  เต่าตัวหนึ่งหากินบริเวณเดียวกับหงส์จนสนิทสนมกัน วันหนึ่ง หงส์ชวนเต่าไปเที่ยวดูภูมิประเทศบนยอดเขาจิตรกูฏซึ่งเป็นสถานที่สวยงาม โดยให้เต่าคาบไม้ตรงกลาง  ส่วนตัวเองพร้อมเพื่อนอีกตัวหนึ่งคาบที่ปลายไม้สองข้างแล้วบินไปสู่จุดหมาย ระหว่างทางได้บินผ่านหมู่บ้าน พวกเด็ก ๆ เห็นเข้า จึงร้องตะโกนให้มาดูหงส์หามเต่าบินไป  เต่าไม่พอใจจึงคิดจะบอกเด็กว่า ถึงหงส์จะหามเราไปมันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับพวกเจ้า  พออ้าปากเพื่อจะพูดเท่านั้น ก็ร่วงลงมากระแทกพื้นตาย

เรื่องนี้แม้จะเป็นเพียงนิทานชาดก แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปากที่อาจเป็นเงื่อนไขสำคัญแห่งความเป็นและความตายของชีวิตได้ทีเดียว   โดยเฉพาะในกรณีการพูดจาปราศรัยนั้น  หากพูดโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีก็อาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ เช่น ทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ หรือที่ร้ายแรงกว่านั้นก็อาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาททำร้ายกันได้  เพื่อป้องกันปัญหาที่สร้างความเดือดร้อน ทางศาสนาจึงแนะให้ใคร่ครวญก่อนพูด  เพื่อให้ได้คำพูดที่ถูกกาลเทศะ  คำพูดที่เป็นสัตย์เป็นจริง คำพูดที่มีสาระ และเป็นคำที่ไพเราะเสนาะโสตฟังแล้วไม่ระคายหู  เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง รวมทั้งสร้างความรักความสามัคคีต่อกัน     ทำให้บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมปรารถนา

เต่าในนิทานชาดกนั้นถึงแก่ความตายเหตุเพราะอ้าปากพูดในเวลาและสถานที่ไม่เหมาะสม ฉันใด คนที่ไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อนพูด ก็มีโอกาสประสบกับความเดือดร้อน ฉันนั้น ดังคำประพันธ์ของสุนทรภู่ที่ว่า

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์        มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต

แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร           จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา