ศาสตร์แห่งทะเลและมหาสมุทร
ทะเลและมหาสมุทรได้รับความสนใจจากมนุษย์เริ่มแรกในลักษณะที่เป็นแหล่งอาหารและในการแสวงหาอาหารในทะเล การค้นหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและการแสวงหาดินแดนใหม่ มนุษย์จึงสังเกตพบความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ กระแสน้ำ คลื่น และรู้จักนำเรือหลบหลีกเมื่อมีคลื่นลมแรง ดังนั้นมนุษย์จึงค่อย ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับสมุทรศาสตร์ขึ้นมาเอง เมื่อมีการพัฒนาการของเรือให้มีขนาดใหญ่ขึ้นก็เริ่มมีการแสวงหาประโยชน์จากทะเลมากขึ้น รวมทั้งศึกษาความเป็นมาของทะเลอย่างจริงจัง
ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับทะเล และกระบวนการต่างๆ ในทะเลและมหาสมุทรในมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้น เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศ เพื่อที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
เมื่อประมาณ 350 ปี ก่อนคริสตศักราช อริสโตเติล (Aristotle) เชื่อว่ามหาสมุทร เป็นส่วนที่ลึกที่สุดของผิวโลกและเชื่อว่าความร้อนจากดวงอาทิตย์จะระเหยน้ำจากผิวหน้าทะเล และเมื่อไอน้ำเหล่านี้กระทบกับความเย็นก็จะเกิดการควบแน่นตกลงมาเป็นฝน และเขาได้ริเริ่มทำบัญชีจำแนกประเภทของสัตว์ทะเลขึ้นมา
ภาพประกอบ จาก วิกิพีเดีย