บทความแนวคิดทางธรรมเรื่อง “ไก่นอกสำนัก” โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

  ไก่นอกสำนัก

————— โดย น.ท.สมปอง  วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

มีเรื่องเล่าในชาดกว่า ไก่ตัวหนึ่งเมื่อเกิดมาแล้วก็อยู่ตามลำพัง ไม่ได้รับการฝึกสอนอบรม            ในเรื่องหน้าที่ของไก่จากพ่อแม่หรือไก่จ่าฝูงเหมือนไก่ตัวอื่น ๆ จึงขันเรื่อยเปื่อยโดยไม่รู้เวลา เช้าก็ขัน เที่ยงก็ขัน ค่ำก็ขัน ดึก ๆ ตื่นขึ้นมาก็ขันอีก ทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าจวนจะสว่าง รีบตื่นขึ้นมาตระเตรียมการงาน เมื่อลุกขึ้นมาแล้วจึงรู้ว่าผิดเวลา เป็นอย่างนี้บ่อยครั้งจึงจับไก่ตัวนั้นเชือดเสียด้วยความรำคาญ

เรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องเล่า  แต่เมื่อพิจารณาความเป็นไปในสังคมของมนุษย์ก็จะพบว่า  คนเรานั้นถ้าเกิดมาแล้วอาศัยบิดามารดาหรือครูบาอาจารย์ให้การอบรมสั่งสอนให้รู้จักดีชั่ว รู้ถูกรู้ผิด การดำเนินชีวิตก็จะสะดวกขึ้นและไม่ผิดพลาด แต่ถ้ามีบิดามารดาหรือครูบาอาจารย์คอยอบรมชี้แนะแล้วไม่ให้ความสำคัญกับคำสั่งสอนนั้น ชอบทำตัวเป็นคนว่ายาก ไม่เชื่อฟังใคร อยากทำอะไรก็ทำ ก็ไม่ต่างอะไรกับไก่ที่มุ่งแต่จะขันตามใจชอบ  การกระทำเช่นนี้แม้จะรู้สึกว่ามีความสุขอยู่บ้างที่ได้ทำตามใจตนเอง แต่ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่พาไปสู่ความเสื่อม แม้จะไม่ถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนไก่นอกสำนัก แต่ก็จะค่อย ๆ เสื่อมลงอย่างแน่นอน เพราะการไม่เรียนรู้แบบแผนที่ดี หรือรู้แล้วไม่ทำให้ถูกต้อง จะมีข้อดีอยู่นิดเดียวเท่านั้นคือรู้สึกมีอิสระ ความรู้สึกนี้จะหล่อเลี้ยงใจให้มีความสุขแบบฉาบฉวย แล้วหลอกล่อชักนำไปสู่ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่กว่า

ไม่ว่าในกาลใดก็มีความจริงที่ตรงกันว่า  ชีวิตที่มั่นคงก้าวหน้าและมีความปลอดภัย  คือชีวิตที่ดำเนินอยู่ในแบบแผนที่ดี และแบบแผนที่ดีนั้นก็เป็นที่ทราบกันว่ามีอยู่ทั่วไป  อีกทั้งเข้าใจได้ไม่ยากเพียงแต่บางครั้งเป็นสิ่งที่ถูกตั้งข้อรังเกียจ จึงทำให้บางคนต้องมีสภาพเหมือนไก่นอกสำนัก

 

เกร็ดความรู้ด้านศาสนพิธีเรื่อง “การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ” โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ โดย น.ท.สมปอง  วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

คำว่า “พุทธมามกะ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา” ขยายความว่า ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน, ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเรียบเรียงตั้งเป็นแบบไว้ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดจะส่งเจ้านายคณะหนึ่งออกไปศึกษาในทวีปยุโรป ด้วยเกรงว่าจะเปลี่ยนใจไปนับถือศาสนาอื่น จึงได้เกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะสืบต่อกันมา โดยจัดทำในกรณีต่าง ๆ โดยเฉพาะ ดังนี้

  • เมื่อบุตรหลานพ้นวัยทารก อายุ ๑๒-๑๕ ปี
  • เมื่อจะส่งบุตรหลายไปอยู่ในถิ่นที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา
  • โรงเรียนประกอบพิธีให้นักเรียนที่เข้าศึกษาใหม่ในแต่ละปีเป็นหมู่คณะ
  • เมื่อบุตรผู้เคยนับถือศาสนาอื่นต้องการประกาศตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

สำหรับในกองทัพเรือ ได้กำหนดให้มีพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเป็นประจำทุกปี โดยจะกำหนดให้หน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือทุกหน่วยมีการประกอบพิธีในช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษาประมาณ ๗ วัน โดยกำลังพลที่เข้าร่วมพิธีคือกำลังพลที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการใหม่ในกองทัพเรือ ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการย้ำให้สำนึกในความเป็นชาวพุทธที่มีความบริสุทธิ์งดงามทั้งกายและใจแล้ว ยังเป็นการสืบทอดและรักษาประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณกาลอีกด้วย

บทความแนวคิดทางธรรมเรื่อง “ลิงไม่ล่ามโซ่” โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.

เรื่อง วินัยนำไปดี

มีเรื่องเล่าว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นยุคที่บ้านเมืองมีความสงบสุขมาก ความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมืองส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนมีระเบียบวินัย ข้อบังคับใดที่ทรงวางไว้ใครจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ และเพราะเหตุที่บ้านเมืองมากไปด้วยระเบียบวินัยนี้เอง ทำให้ประชาชนบางพวกไม่พอใจ  จึงขอให้พระเถระรูปหนึ่งไปเข้าเฝ้าเพื่อขอให้ทรงลดหย่อนเรื่องระเบียบวินัยลงเสียบ้าง  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงรับสั่งว่าจะขอผัดผ่อนไปก่อนสัก ๗ วัน แล้วจึงจะให้คำตอบ และก่อนที่พระเถระจะกลับ ทรงถวายลิงตัวหนึ่งแก่พระเถระโดยขอร้องว่าอย่าล่ามโซ่ เมื่อพระเถระนำลิงมาเลี้ยงที่วัดโดยไม่ล่ามโซ่ก็สร้างความโกลาหลวุ่นวายขึ้นตามประสาลิงจนพระเถระทนไม่ไหว สามวันต่อมาจึงนำลิงไปส่งคืน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงตรัสว่า “พระคุณเจ้าเอาลิงตัวเดียวไปเลี้ยงโดยไม่ล่ามโซ่ มันยังทำความเดือดร้อนถึงเพียงนี้      แต่โยมเลี้ยงคนทั้งประเทศ ถ้าโยมปกครองคนทั้งประเทศโดยไม่ใช้กฎหมายและระเบียบวินัยแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร” เมื่อได้ฟังดังนั้น พระเถระก็ยอมรับความจริงว่า การปกครองคนหมู่มาก จำเป็นต้องมีกฎหมายและระเบียบวินัย มิฉะนั้นบ้านเมืองจะวุ่นวายเหมือนการเลี้ยงลิงโดยไม่ล่ามโซ่นั่นเอง

เรื่องนี้สอนให้เห็นชัดว่าความมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการอยู่ร่วมกัน เพราะระเบียบวินัยเป็นเครื่องฝึกให้คนรู้จักระวังตัว รู้จักควบคุมตัวเอง และรู้จักเชื่อฟัง ไม่ก่อปัญหาแก่คนอื่น คนมีระเบียบวินัยจึงเป็นคนที่มีคุณสมบัติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ใช่แต่เท่านั้น ระเบียบวินัยยังเป็นเครื่องหนุนให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องสุจริต และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย ทางพระจึงสอนว่า วินัยที่ศึกษาและปฏิบัติดีแล้วเป็นมงคลของชีวิต