บทความแนวคิดทางธรรมเรื่อง”โทษของการไม่รู้คุณ”

—————— โดย  น.ท.สมปอง  วัฒนกูล  อศจ.บก.รร.นร.

มีนิทานเล่าเป็นคติสอนใจไว้ว่า เนื้อสมันตัวหนึ่งถูกนายพรานไล่ล่าหมายจะสังหาร จึงวิ่งหนีสุดชีวิตจนไปพบพุ่มไม้หนาทึบพุ่มหนึ่งกระโดดเข้าไปหลบซ่อนตัวในพุ่มไม้นั้น เมื่อนายพรานตามมาทันแต่มองหาไม่พบก็ผ่านเลยไปทางอื่นเสีย เนื้อสมันเห็นว่าตนเองปลอดภัยแน่แล้ว ก็เกิดความชะล่าใจ ยิ่งเห็นพุ่มไม้ที่อาศัยหลบซ่อนนั้นเต็มไปด้วยยอดและใบอ่อนที่แตกระบัด ก็สำคัญว่าเป็นโชคดีที่มาพบอาหารอันโอชะแล้วและเล็มกินใบไม้นั้นอย่างเพลิดเพลิน จนพุ่มไม้กลับโล่งโปร่งบางไปถนัดตา ฝ่ายนายพรานเมื่อผิดหวังก็เดินกลับมาทางเก่า ได้มองเห็นเนื้อสมันตัวนั้นอีกครั้ง จึงได้สังหารด้วยธนูสมดังใจหมาย ก่อนจะตาย  เนื้อสมันคิดถึงโทษที่ตนได้ทำลายพุ่มไม้ซึ่งเคยช่วยชีวิตไว้ จึงเกิดสำนึกว่า  “นี่แหละ โทษแห่งการทำลายสิ่งที่มีคุณ”

เรื่องนี้ให้ข้อเตือนใจว่า การทำลายสิ่งที่มีคุณ จะมีแต่ความหายนะโดยส่วนเดียว และสิ่งที่มีคุณนั้นก็มีมากหลาย นอกจากบุคคลแล้วยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่ชีวิตต้องพึ่งพิงเกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่อาชีพการงาน ผืนแผ่นดินที่อาศัย ป่าไม้ลำธารไปจนถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ผู้ที่มีความสำนึกในคุณของสิ่งเหล่านี้ จะไม่ทำลาย มีแต่คอยอนุรักษ์สร้างสรรค์ให้ดีงามยิ่งขึ้นไป การกระทำเช่นนี้เป็นหลักแห่งความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญข้อหนึ่งที่ใช้ตัดสินความเป็นคนดีหรือคนชั่ว

การที่มนุษย์ทำลายป่าไม้ แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งมีคุณ ด้วยความโลภบ้าง    ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมักง่ายบ้าง  ก็เป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบันแล้วว่า แท้จริงคือการสร้างความหายนะแก่ตนเองทั้งสิ้น ความกตัญญูรู้คุณต่อบุคคลหรือสิ่งที่มีคุณนี้ จึงไม่ใช่เรื่องผิวเผินที่มีไว้สำหรับสอนเด็กอย่างที่คิดกันเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในจิตสำนึกของทุกคน หาไม่แล้ว สักวันหนึ่งก็อาจจะมีชะตากรรมเหมือนเนื้อสมันในเรื่องนี้ก็เป็นได้