สารบัญ
กล่าวนำ
องค์ความรู้นี้นำเสนอวิธีการติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดว์ 10 แบบ UEFI (อ่านว่า ยู-อี-เอฟ-ไอ) เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานอยู่สามารถเปิด-ปิด ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้งานฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในเครื่องสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น องค์ความรู้นี้ผู้เขียนได้รับประสบการณ์การติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดว์ 10 ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุค (Labtop) Lenovo Legion Y520 เป็นกรณีศึกษา ซึ่งโน้ตบุครุ่นนี้มีเมนบอร์ดที่เป็นฮาร์ดแวร์ร่วมสมัย ที่สามารถเลือกใช้โหมดการบูตเครื่องแบบดั้งเดิมคือ Legacy BIOS หรือแบบใหม่คือโหมด UEFI ซึ่งมีฟีเจอร์การรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่า ทำงานบูตเปิดเครื่องได้เร็วกว่า หากช่างเทคนิคเราไม่มีความใส่ใจตรงจุดนี้ ใช้วิธีการติดตั้งแบบเดิม ๆ ที่เคยทำ ๆ กันมา จะทำให้เราพลาดโอกาส เราจะใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับเงินที่เราได้จ่ายไป ช่างเทคนิคหลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมบริษัทเค้าไม่กำหนดให้เป็น UEFI ไปเลย เหตุก็เพราะฮาร์ดแวร์ที่เราใช้ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ ยังเป็นฮาร์ดแวร์ร่วมสมัย ฮาร์ดแวร์รุ่นเก่าจะยังไม่รองรับระบบนี้ แต่ถ้าเป็นรุ่นใหม่ ๆ จะรองรับระบบนี้แล้ว อีกทั้งระบบปฏิบัติการวินโดว์ที่ใช้ ก็จะต้องเป็นวินโดว์ 8 เป็นต้นไป จึงจะสามารถใช้งานบูตโหมด UEFI ได้ โดยผู้เขียนหวังว่า องค์ความรู้นี้จะก่อประโยชน์ให้กับผู้ที่สนใจ เจ้าหน้าที่เทคนิคของ ทร. ที่ต้องดูแลซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าหน้าที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของโรงเรียนนายเรือ และหน่วย นขต.ทร. อื่น ๆ ฯลฯ
UEFI คืออะไร?
UEFI มาจากคำว่า Unified Extensible Firmware Interface เป็นซอฟต์แวร์คำสั่งให้คอมพิวเตอร์ติดต่อกับฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ทำงานในช่วงเริ่มต้นที่เราเริ่มเปิดเครื่อง โดยคร่าว ๆ ก็เป็นเหมือนไบออส (BIOS) แต่ถูกพัฒนามาเพื่อลดปัญหาของระบบไบออสแบบเดิม การลงวินโดว์แบบ UEFI นั้นเฟิร์มแวร์ในชิพจะเชื่อมต่อกับส่วนบูตวินโดว์ในฮาร์ดดิสก์เลย ทำให้ลดเวลาในการตรวจสอบฮาร์ดแวร์ในส่วนของ บูตเรคคอร์ดออกไป ด้วยข้อดีนี้ ในอนาคตอันใกล้ UEFI จะมาแทนที่ระบบการบูตด้วยไบออสแบบดั้งเดิม ซึ่งมีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ขนาดพื้นที่ในการแบ่งพาร์ทิชันของฮาร์ดดิสก์ และเวลาในการทำงานที่ค่อนข้างมาก
การติดตั้งวินโดว์แบบ UEFI
การโหลดไฟล์สำหรับติดตั้งวินโดว์ 10
ก่อนหน้านี้บูตเรคคอร์ด (Boot Record) ของฮาร์ดดิสก์จะเป็นแบบ MBR (Master Boot Record) จะต้องเซ็ตเมนูไบออสให้บูตเป็น Legacy mode ส่วนระบบบูตแบบ UEFI รองรับระบบปฏิบัติการตั้งแต่วินโดว์ 8 เป็นต้นไป และฮาร์แวร์ก็ต้องรองรับด้วยโดยเฉพาะเมนบอร์ด และฮาร์ดดิสก์แบบโซลิดสเตท (SSD) ในที่นี่จะขอยกตัวอย่างกรณีระบบปฏิบัติการวินโดว์ 10 ก่อนอื่นจะต้องตั้งค่าบูตเรคคอร์ดของฮาร์ดดิสก์ให้เป็นแบบ GPT (GUID Partition Table) จึงต้องสร้างพาร์ทิชันใหม่ทั้งหมด ถึงจะเริ่มติดตั้งวินโดว์ได้ มีขั้นตอนดังนี้
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟต์เพื่อดาวน์โหลดซอฟต์แวร์วินโดว์ 10 (ของแท้) ตามลิงก์นี้ https://www.microsoft.com/th-th/software-download/windows10 ซึ่งหลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว ก็สามารถ Activate ด้วย License ที่เป็นลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์ สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ปัจจุบันนี้ราคาถูกลงมากแล้ว และเป็นการตัดปัญหาการแจ้งเตือนของ Windows Defender Security Center (ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสของวินโดว์) กรณีที่เราใช้ License ที่ไม่ถูกต้อง
2. เมื่อคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟต์แล้ว ให้คลิกที่ปุ่มดาวน์โหลดเครื่องมือทันทีตามภาพ จากนั้นไฟล์ MediaCreationtoolxxx.exe จะถูกดาวน์โหลดมาเก็บในเครื่องของเรา
3. เปิดไฟล์ MediaCreation รอให้โปรแกรมทำงานสักครู่ ที่หน้าต่าง What do you want to do? ให้เลือก Create Installation Media… เพื่อสร้างไฟล์ติดตั้งลงบนยูเอสบีเฟลชไดร์ฟ ตามภาพ
4. ที่หน้าต่าง Select Language … ให้ตั้งค่าต่าง ๆ ตามภาพแล้วกด Next
5. ที่หน้าต่าง Should which media to use เลือก ISO file คลิก Next
6. ที่หน้าต่าง Select a path เลือกที่เก็บไฟล์ ISO ที่สร้างขึ้นไว้ที่หน้าเดสทอป รอจนหน้าต่าง Downloading Windows 10 ทำงานจบ (Progress: 100%) กดปุ่ม Finish
การสร้างแฟลชไดร์ฟเพื่อใช้ติดตั้งวินโดว์ 10
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://rufus.akeo.ie จากนั้นเลือกดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุด หรือจะสั่ง Run ออนไลน์ก็ได้ถ้าเนตแรงพอ
Last updated 2018.09.17: Rufus 3.3 (1 MB)
2. เปิดโปรแกรม Rufus พร้อมกับเสียบแฟลชไดร์ฟขนาดความจุไม่ต่ำกว่า 4 GB ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่หัวข้อ Boot selection คลิกที่ปุ่ม Select เลือกไฟล์ ISO ที่เราสร้างขึ้นจากขั้นตอนที่แล้ว (Windows.iso อยู่หน้าเดสทอป) และตั้งค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ตามภาพ เมื่อเรียบร้อยแล้วคลิก START รอจนโปรแกรมทำงานจบกดปุ่ม Close ปิดโปรแกรม
3. นำแฟลชไดร์ฟที่สร้างขึ้นไปใช้ติดตั้งวินโดว์ 10 ได้แล้ว จบขั้นตอนสร้างแฟลชไดร์ฟ
การติดตั้งวินโดว์ 10 จากแฟลชไดร์ฟ
1. ตรวจสอบพาร์ทิชันของฮาร์ดดิสก์เครื่องที่จะติดตั้งว่าเป็น GPT หรือ MBR โดยคลิกขวาที่เมนูวินโดว์เลือก Disk Management
2. ที่หน้าต่าง Disk Management คลิกขวาไดร์ฟที่ต้องการจะตรวจสอบเลือก Properties > Volumes ที่หัวข้อ Partition style: จะบอกว่าเป็นชนิดใด หากเป็น GPT ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่หากเป็น MBR เราจะเข้าไปแก้ไขในขั้นตอนต่อไป
3. ปิดเครื่องแล้วเสียบแฟลชไดร์ฟที่เตรียมไว้แล้วเข้าที่ช่อง USB เปิดเครื่องเข้าเมนูไบออสเพื่อตั้งค่า โดยกดปุ่ม DEL F2 หรือ F12 แล้วแต่เครื่อง เมื่อเข้ามาได้แล้วที่เมนู Boot>Boot Mode เลือกให้เป็น UEFI และ USB Boot > Enabled, Boot order, Boot Priority เลือก USB First เพื่อให้เครื่องบูตจากแฟลชไดร์ฟ บางเครื่องอาจจะต้องกด F12 เพื่อไปเลือกค่าในบูตโหมด เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วกด F10 เพื่อเก็บค่า (Save) และรีสตาร์ทเครื่อง
4. เมื่อเครื่องบูตจากแฟลชไดร์ฟแล้ว ก็ทำการติดตั้งวินโดว์ตามขั้นตอนปกติจนถึงขั้นตอน Windows Setup ตามภาพ
5. กดปุ่ม Shift + F10 ที่คีย์บอร์ด เพื่อเข้าหน้าต่างดอส (Command Prompt) จากนั้นพิมพ์คำสั่ง diskpart ตามภาพ
6. จาก DISKPART พิมพ์คำสั่ง list disk จะแสดงฮาร์ดดิสก์และการแบ่งพาร์ทิชันที่มีทั้งหมดในเครื่อง
7. เลือก Disk ที่ต้องการจะแปลงเป็น GPT ใน ตย. คือ Disk 0 ใช้คำสั่ง select disk 0 จากนั้นใช้คำสั่ง clean และ convert GPT ตามภาพ
8. เมื่อแปลงพาร์ทิชันเรียบร้อยแล้ว ปิดหน้าต่างดอส กลับเข้ามาที่หน้าต่าง Windows Setup กดปุ่ม Refresh เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง
9. คลิกที่ Disk เลือก New เพื่อทำการแบ่งพาร์ทิชัน หากไม่ต้องการแบ่งกด Apply ตามภาพ
10. การสร้างพาร์ทิชันแบบ GPT นี้ ฮาร์ดดิสก์จะถูกแบ่งออกเป็นพาร์ทิชันย่อย ๆ อีกตามภาพ ไม่ต้องไปสนใจอะไร เลือกเฉพาะ Disk Partition ที่มีความจุมากที่สุดที่เราต้องการจะติดตั้งวินโดว์ จากนั้นคลิก Next
11. หน้าต่าง Installing Windows จะแสดงการติดตั้ง ดูความก้าวหน้าได้จาก Status รอจนเสร็จเรียบร้อย ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนของการติดตั้งวินโดว์ 10 แบบ UEFI
สรุป
องค์ความรู้นี้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ วิธีการติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดว์ 10 แบบ UEFI เพื่อให้เราใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยจะสังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจนตอนที่เริ่มเปิดเครื่อง จะใช้เวลาบูตที่ค่อนข้างเร็วกว่าที่ผ่านมาจากผลการทดสอบใช้เวลาประมาณ 10 วินาที โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุค Lenovo Legion Y520 เป็นกรณีศึกษา วิธีการติดตั้งแบบนี้ ฮาร์ดดิสก์ และเมนบอร์ดจะต้องรองรับ ส่วนระบบปฏิบัติการจะต้องเป็นวินโดว์ 8 เป็นต้นไป ชุดคำสั่ง UEFI นี้ จะเข้ามาแทนที่ระบบการบูตเครื่องแบบดั้งเดิม Legacy BIOS ทั้งหมดในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้เขียนหวังว่า องค์ความรู้นี้จะก่อประโยชน์ให้กับผู้ที่สนใจ เจ้าหน้าที่เทคนิคของ ทร. ที่ต้องดูแลซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าหน้าที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของโรงเรียนนายเรือ และหน่วย นขต.ทร. อื่น ๆ ฯลฯ
เทคนิคการติดตั้งวินโดว์ 10 แบบ UEFI ตามกระทู้ที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น มีนัยดังพรรณนามาคงพอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและนำไปปฏิบัติเป็นลำดับไป เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ …
กราบบบ
RTNA KM จงวัฒนาสถาพร.. สาธุ
วิน 7 ก็มีแบบ uefi ครับ ผมลงอยู่ อาจไม่เท่าวิน 8 แต่ก็เร็วกว่า mbr ทั่วไปอย่างเทียบไม่ติด และเมื่อใช้ร่วมกับ ssd ทำให้การเรียกใช้โปรแกรมเป็นไปอย่างรวดเร็วเต็มประสิทธิภาพครับ เหตุผลที่ไม่ลง 8 หรือ10 เพราะไดร์เวอร์บางตัวไม่ทำงาน คือมันสุดที่ 7 แม้จะไปหาโหลดตามที่โปรแกรมเมอร์เขาโมมาให้ มันก็ไม่รองรับ เช่น ไดรเวอร์การ์ดจอของ amd ที่ใช้ระบบการ์ดจอของ microsoft ทดแทนไม่ได้ เป็นต้น
ตามนั้นเลยครับ ^^