ประเพณีวันพระ
โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล
คำว่า วันพระ เป็นภาษาปาก คือภาษาที่ชาวบ้านพูดกันทั่วไป แต่ศัพท์เฉพาะหรือศัพท์เทคนิคทางภาษาบาลีท่านใช้ว่า วันธรรมะสวนะ ซึ่งแปลตรงตัวว่า “วันฟังธรรม” หมายถึง วันที่พุทธบริษัทประชุมรวมกัน เพื่อถือศีลฟังธรรม ในพระพุทธศาสนากำหนดเดือนทางจันทรคติ เดือนละ ๔ วัน (คือ ๑ เดือน มีวันพระ ๔ วัน) ได้แก่
๑. วันขึ้น ๘ ค่ำ
๒ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ)
๓ วันแรม ๘ ค่ำ
๔. วันแรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ก็ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันพระ)
คำว่า เดือนขาด ก็คือ เดือนคี่ ได้แก่ เดือนอ้าย เดือน ๓ เดือน ๕ เดือน ๗ เดือน ๙ และเดือน ๑๑ เป็นเดือนที่มี ๒๙ วัน โดยแบ่งเป็นวันขึ้น ๑๕ วัน นับตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ และแบ่งเป็นวันแรม ๑๔ วัน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ ถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ รวมเป็น ๒๙ วันพอดี
ส่วนเดือนเต็ม ก็คือเดือนคู่ ได้แก่ เดือนยี่ เดือน ๔ เดือน ๖ เดือน ๘ เดือน ๑๐ และเดือน ๑๒ เป็นเดือนที่มี ๓๐ วัน โดยแบ่งเป็นวันขึ้น ๑๕ วัน และวันแรม ๑๕ วัน รวมเป็น ๓๐ วัน ซึ่งการนับวันทางจันทรคตินั้น เริ่มน้ับวันขึ้น ๑ ค่ำ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วจึงนับเป็นวันแรม ๑ ค่ำ ถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ รวมเป็น ๒๙ หรือ ๓๐ วัน ตามประเภทของเดือนขาดหรือเดือนเต็ม ดังกล่าวแล้ว