สารบัญ
เรื่องเล่าจากประสบการณ์การเรียนรู้และการทำงานที่เป็นเลิศ
“เป็นทหารทั้งกายใจ ฝึกได้ใน ๓๒ วัน”
๑. ชื่อ – สกุลผู้เล่าเรื่อง
น.อ.บุญเกิด มูลละกัน รอง ผบ.กรม นนร.รอ.ฯ
๒. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เล่า
ผู้อำนวยการกองฝึกข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร
๓. ชื่อเรื่องที่เล่า
“เป็นทหารทั้งกายใจ ฝึกได้ใน ๓๒ วัน”
๔. บริบทหรือความเป็นมาของเรื่องที่เล่า
จากประสบการณ์ที่พบเห็นการฝึกข้าราชกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตรที่ผ่านมารวมถึงผล
สำฤทธิ์ของการฝึกเมื่อไปรับราชการในกองทัพเรือ ครูผู้ฝึกต้องการพัฒนาการฝึกให้ดีขึ้นภายใต้ขีดจำกัดใน
หลาย ๆ เรื่องเช่น ระยะเวลาที่สั้น ผู้เข้ารับการฝึกที่เป็นพลเรือนไม่เคยผ่านการฝึกวิชาทหาร เป็นบุตรหลานนายทหารผู้ใหญ่ ด้วยความตั้งมั่นทำอย่างไรจะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกเป็นทหารด้วยจิตวิญญาณไปตลอดชีวิต
๕. วิธีการ / ขั้นตอนหรือกระบวนการที่ทำให้งานนั้นสำเร็จ
การเตรียมการ
– ศึกษาข้อมูลในอดีต เมื่อครั้งที่เป็น นนร. ได้เห็นความเป็นไปของผู้เข้ารับการฝึก เห็นจุดอ่อนและ ข้อบกพร่องหลาย ๆ ประการ เช่น วินัยทหาร ความเข้มแข็ง ความอดทน การทำความเคารพ การเดินแถว การใช้สรรพนามพูดกับผู้บังคับบัญชา/ครูฝึก อย่างไม่เหมาะสม เช่น เรียกครูฝึก “พี่ค่ะ” นอกจากนั้นยังได้ศึกษาคำวิจารณ์ของอดีต ผบ.ทร. ว่าการฝึกถูกปล่อยปละละเลย ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกขาดวินัยทหาร ส่งผลให้ในปีนั้นผู้อำนวยการฝึกฯ ถึงกับถูกงดบำเหน็จ
– ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือครูฝึกเอาใจหรือตีสนิทผู้เข้ารับการฝึกที่เป็นบุตรหลานนายทหารผู้ใหญ่ ด้วยหวังผลในการเจริญเติบโตในชีวิตราชการ หรือเกรงใจ ไม่กล้าฝึกหนัก และยังมีเหตุการณ์ที่ผู้เข้ารับการฝึกแสดงปฏิกิริยาต่อครูฝึกในโรงอาหารด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม ไม่ให้ความเคารพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการฝึกอย่างชัดเจนซึ่งไม่ควรให้เกิดขึ้นอีกในการฝึกรุ่นต่อ ๆ ไป
– ศึกษาหลักสูตรการฝึกที่ผ่านมาว่ามีการฝึกอย่างไร ในห้วงระยะเวลาที่กำหนด เรื่องของ วัตถุประสงค์การฝึก ตารางการฝึก และหัวข้อวิชาต่าง ๆ
วิธีการ
– ยึดแถลงหลักสูตรเดิม เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่พัฒนาเทคนิคการฝึกใหม่
– คัดเลือกครูฝึก ที่มีบุคลิกภาพ/ลักษณะทางทหารที่ดี มีจรรยาบรรณ และมีความเป็นผู้นำ ทั้งจาก กรม นนร.รอฯ. และ ฝศษ.รร.นร.
– จัดให้การประชุมกองอำนวยการฝึก มอบนโยบายอย่างชัดเจน ร่วมคิดร่วมทำ กำหนดตารางการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย
– กำหนดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติ เช่น ห้ามเรื่องชู้สาว ห้ามการดื่มสุรา ห้ามแสวงหา
ผลประโยชน์ใด ๆ ข้อควรปฏิบัติได้กำหนด Motto “ผู้นำคือครู” หมายถึง “ครูธรรมดา บอกเล่าได้ ครูชั้นดีต้องอธิบายได้ ครูชั้นยอดมีการสาธิตประกอบ ครูที่ยิ่งใหญ่สามารถปลุกเร้านักเรียนได้ ”
– เข้าพบ ผบ.รร.นร. เพื่อนำเรียนแผนการฝึกและรับมอบนโยบาย ซึ่ง ผบ.รร.นร. ได้กรุณาให้เจตนารมณ์/แนวคิด ๓ เรื่องที่ต้องทำให้ได้ ได้แก่
– “เกียรติยศไม่ได้มาแต่กำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ”
– ความสบายไม่เคยทำให้ใครได้ดี ซึ่งก็คือ “เคี่ยวเอ็น กรำกระดูก”
– ปลูกฝัง“ความสามัคคี” และแปลงเจตนารมณ์ ผบ.รร.นร.มาจัดทำแผนนำไปสู่เป็นการปฏิบัติให้จงได้
– บูรณาการข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาทำแผนการฝึกแผนงานมีความชัดเจน หวังผล และจะต้องเดินตามแผนทุกขั้นตอนตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย“ไม่ใช่การคิดแผนวันต่อวันว่าวันนี้จะทำอะไรดี”
แบบเดิม |
แบบใหม่ |
– การศึกษาดูงาน ๗ วัน รุ่นก่อน ๆ ดูงานแล้วฝึก แล้วดูงาน แล้วฝึก สลับกันไปมา | – ศึกษาดูงานให้จบไปทีเดียว แล้วฝึกให้เป็นปัญหาต่อเนื่อง |
– เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งจบการฝึก เช่น สัปดาห์แรกห้ามเยี่ยม | – สัปดาห์แรกเยี่ยมได้ สัปดาห์ที่ ๒ เยี่ยมได้เฉพาะเสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์ที่ ๓ และ ๔ ห้ามเยี่ยม |
– ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ |
การปฏิบัติ
จัดปฐมนิเทศทั้งผู้ปกครองและผู้เข้ารับการฝึกผู้เข้ารับการฝึก เพื่อแก้ปัญหาลูกนายทหารผู้ใหญ่ ให้ทำความเข้าใจหลักสูตรฯ รับรู้เป้าหมายที่ต้องการคือ การเป็นทหารตลอดชีวิต เป็นทหารทั้งกายและใจ ภายใต้การฝึก ๓๒ วัน “เกียรติยศไม่ได้มาแต่กำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ”
วิธีการฝึก
– หลักการคือ “ไม่ยัดเยียดการฝึก” กล่าวคือต้องฝึกด้วยเหตุผล ทุกย่างก้าว ทุกลมหายใจเข้าและออกทุกกิจกรรมคือการฝึก ซึ่งทุกคนหมายถึงครูผู้ฝึกและผู้รับการฝึก ต้องเข้าใจตรงกันตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน ถูกกดดันแค่ไหน ถูกทำโทษแค่ไหน ต้องเข้าใจว่านี่คือการฝึกและจะไม่ต่อต้าน และยอมรับว่านี่คือการฝึกเพื่อที่จะเป็นทหารไปตลอดชีวิต ถ้าเรายัดเยียดการฝึก ก็หมายความว่าเพียงทำให้การฝึกให้มันจบ ๆ ไปให้ครบเวลา
– ทุกครั้งที่มีการสร้างสถานการณ์ในปัญหาฝึก ครูฝึกต้องอธิบายเหตุผลในการฝึกนั้นๆเพื่อให้ผู้รับการฝึกเข้าใจว่าเจตนารมณ์ที่ทำเช่นนั้นคืออะไร เช่น การลวงการปล่อยพัก
เป็นการสร้างสถานการณ์ลวงปล่อยพัก โดยลวงให้เข้าใจว่านี่คือการปล่อยพักจริง ทุกคนจะได้กลับบ้านจริง สร้างสถานการณ์ให้สมจริง โดยครูฝึกฝากซื้อของ ผู้เข้ารับการฝึกก็เปลี่ยนชุดพร้อมที่จะกลับบ้าน แต่เมื่อถึงเวลาปล่อยจริง ๆ กลับมีคำสั่งยกเลิกการปล่อยพัก ทุกคนต้องอยู่โรงเรียน ด้วยเหตุผลเพียงว่าลืมยกเลิกอาหารเย็น ซึ่งฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ หลังการฝึกเสร็จสิ้นอธิบายเหตุผลว่า เป็นการฝึกเพื่อให้ทนต่อความผิดหวัง โดยไม่แสดงออกว่าไม่พอใจ นี่คือการฝึกที่ต้องทนให้ได้ ทนต่อความผิดหวังได้ และห้ามแสดงออก นี่คือวินัยทหาร ต้องทำตามคำสั่ง
– ให้นักเรียนปฏิญาณตนก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ “ขอบคุณพ่อแม่ที่ทำให้เราเกิดมา ขอบคุณชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากิน ขอบคุณแผ่นดินที่ให้เราอาศัยอยู่ ขอบคุณคุณครูที่ช่วยสั่งสอน เรากินเพื่ออยู่ หวังต่อสู้เพื่อการศึกษา” เพื่อปลูกฝัง/ขัดเกลา ปลูกฝังคุณธรรมในจิตใจ ขอบคุณพ่อแม่ที่ทำให้เกิดมา สอนให้มีความกตัญญู เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักว่าเพราะพวกเขาคือความหวังของพ่อแม่ เวลาที่พวกเขาท้อที่สุด เหนื่อยที่สุด หิวที่สุด พวกเขาจะคิดถึงพ่อแม่ ขอบคุณชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากิน สอนให้เห็นอกเห็นใจผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา เห็นใจผู้ใต้บังคับบัญชา สร้างภาวะผู้นำ ขอบคุณแผ่นดินที่ให้เราอาศัยอยู่ ปลูกฝังให้รักชาติและให้เสียสละแก่ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ขอบคุณคุณคุณครูที่ช่วยสั่งสอน สอนให้กตัญญูและเชื่อฟังต่อครูผู้สอน เรากินเพื่ออยู่ หวังต่อสู้เพื่อการศึกษาเพื่อสอนให้พากเพียรพยายามตั้งใจในการรับฝึกศึกษาอบรม
– เน้นการฝึกลักษณะท่าทางทางทหารเนื่องด้วยเวลามีจำกัด จึงให้ใช้เวลาว่างเว้นจากตารางฝึกที่มีให้เป็นประโยชน์สูงสุด โดยเน้นให้ฝึกทหารราบ และให้เป็นการฝึกที่สนุก เพราะไม่ใช่เป็นการยัดเยียด ทุกคนเข้าใจเหตุและผล ครูแต่ละคนก็มีศิลปะในการฝึก เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ก็ให้ผู้เข้ารับการฝึกฝึกกันเอง เช่น ตรวจผม เครื่องแต่งกาย แต่ก็มีครูฝึกคอยกำกับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้สามารถประเมินได้ทั้งครูฝึกและผู้เข้ารับการฝึกไปพร้อม ๆ กัน
– ครูฝึกต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ในทุกๆเรื่อง เช่นเรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย ระเบียบวินัย และลักษณะท่าทางทางทหาร
– ช่วงสุดท้ายคือช่วงฝึกภาคสนาม หลังจากศึกษาดูงานเสร็จแล้ว เหลือเวลา ๒ วันสุดท้ายการฝึกเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นทั้งการฝึกและการประเมินผลว่าตลอดห้วงระยะเวลา ๓๐ วันที่ผ่านมาตลอดหลักสูตรการฝึกนั้น ผู้เข้ารับการฝึกพร้อมหรือยังที่จะจบไปรับราชการทหารในกองทัพ ทั้งในเรื่องระเบียบวินัย ความกล้าหาญ ความอดทน ความสามัคคี และปฏิภาณไหวพริบ จึงกำหนดเป็น “ปัญหาการฝึก ๔๘ ชั่วโมง” ๔๘ ชั่วโมงนี้ ทุกคนนอนน้อย เดินทั้งคืน กินแค่พอประทังชีวิต พวกเขาต้องกำข้าวสารไปคนละ ๑ กำมือ เอาไปรวมกันหุงแล้วนำมาแบ่งกันกิน ซึ่งก็ไม่ค่อยจะพอกินเท่าไหร่เป็น ๔๘ ชั่วโมงที่หิวสุด เหนื่อยสุด ง่วงสุด ทุกอย่างจะจบลงเมื่อไรไม่รู้ จบที่ไหนก็ไม่รู้….
วิธีการ – สร้างสถานการณ์ฝึกให้บ่งการ/ปัญหาต่อเนื่องเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันไป
– ฝึกใช้ความคิด ไม่ใช่แค่เพียงทำตามคำสั่งเท่านั้น สร้างสถานการณ์ให้ผู้เข้ารับการฝึกเป็นหน่วยทหารหน่วยหนึ่งที่ต้องปฏิบัติภารกิจที่ลับสุดยอดเรียกชื่อหน่วยว่า “หน่วยสมิง” อำพรางตนเป็นนักเรียนข้าราชการกลโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตรภารกิจที่ได้รับมอบคือนำลังปริศนา ๓ ลัง ไปยังที่หมายที่หน่วยเหนือกำหนด โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าของในลังนั้นคืออะไรแต่พวกเขาต้องดูแลรักษายิ่งชีวิต แต่ในพื้นที่มีกองโจรฝ่ายตรงข้ามพยายามขัดขวางในความสำเร็จภารกิจ
๑. ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๑ การรวบรวมข่าว ตามหลักสูตรเดิม เป็นห้วงเวลาปล่อยผู้เข้ารับการฝึกพักผ่อนในพื้นที่ตลาดสัตหีบ เพื่อผ่อนคลาย แต่ในการฝึกได้ปรับให้เป็นปล่อยนักเรียนที่ไร่องุ่น Silver Lake แต่ต้องรับมอบภารกิจให้ไปรวบรวมข่าว ๓ ฉบับ ซึ่งซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่าง ๆ จากสายลับฝ่ายเดียวกันซึ่งจะต้องมีสัญญานพวก สัญญาณผ่าน โดยครูฝึกเป็นกองโจรฝ่ายตรงข้ามที่พยายามขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้ข่าวไปง่าย ๆ ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ผ่อนคลายจากการฝึกได้พักผ่อนแต่ได้รับการฝึกด้วยและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ฝึกการทำงานเป็นทีม ฝึกปฏิภาณไหวพริบ จนกระทั่งสำเร็จภารกิจคือได้ข่าวตามที่หน่วยเหนือส่งให้ซึ่งนำไปสู่ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๒
๒. ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๒ แผนลวงถอนตัวทางทะเลคือปัญหาฝึกพายเรือทนในแถลงหลักสูตรนั่นเอง แต่ปรับให้เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องตามบ่งการ เพื่อให้การพายเรือมีจุดมุ่งหมาย ทำให้มีความสนุกในการพายเรือ ไม่ใช่สั่งให้พายก็พาย
และต้องสละเรือเพื่อว่ายน้ำแทรกซึมเข้าหาดเพื่อป้องกันการตรวจพบของกองโจรฝ่ายตรงข้าม เป็นการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เข้ารับการฝึกต้องว่ายน้ำเข้ามาในอ่าวมีเพรียง มีหินบาดเท้า และตามร่างกายบ้าง เพื่อสอนให้รู้ว่าวิธีการว่ายน้ำเมื่อต้องเอาตัวรอด ไม่ให้ได้รับบาดเจ็บมากต้องว่ายน้ำอย่างไร ซึ่งทางกองอำนวยการฝึกฯก็ได้ไปตรวจสอบพื้นที่แล้ว มีอุปสรรคบ้าง แต่ไม่รุนแรง ทุกคนเข้าใจสถานการณ์และสามารถผ่านไปได้
รวมทั้งให้มีการลอยคลอในน้ำรับประทานอาหารเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกความอดทนไม่ยิ่งหย่อนต่อความยากลำบากใด ๆ มีวินัยและเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งรับข่าวสารนำไปสู่ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๓
๓. ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๓ ถอนตัวจากการรุกไล่ล่ากองโจรฝ่ายตรงข้าม ภารกิจคือจำเป็นต้องถอนกำลังไปยังที่รวมพลแห่งใหม่ สร้างสถานการณ์รถที่นั่งไปถูกโจมตีปล้นยึดรถ
จำเป็นต้องเดินเท้า (ปัญหาเดินทางไกล) การเดินทางต้องผ่านอุปสรรคและมีสิ่งกีดขวาง
ต้องข้ามรั้วลวดหนาม บังเกอร์ ไต่เชือก เดินข้ามเขาสูงชันระยะทาง ๑๐ กม. เข้าฐานพักแรม ให้นักเรียนนอนในเต้นท์ และที่สำคัญคือให้มีน้ำใช้อย่างจำกัด
สถานการณ์นี้ สอนให้การดำรงความมุ่งหมาย อดทนต่อทุกสิ่ง “ภารกิจเหนือสิ่งอื่นใด แม้ชีวิต” ต้องเห็นอกเห็นใจกัน ไม่เห็นแก่ตัว ใครคนใดคนหนึ่งไม่สามารถใช้น้ำได้ตามความต้องการของตนเอง และฝึกความอดทน รวมทั้งพวกเขาต้องเรียนรู้ว่าต้องมีความสามัคคีจึงจะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ และนำไปสู่ความสำเร็จได้
๔. ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๔ ให้มีการฝึกพายเรือยาง ฝึกยิงปืน และฝึกการดำรงชีพในป่า รวมทั้งฝึกให้มีความกล้าหาญฝึกจับงูเป็น ๆ และกินเนื้องูได้สอนให้รู้จักคำว่า “เรากินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน”
ต่อมาหน่วยเหนือส่งเสบียงอาหารทาง ฮ. พวกเขาต้องฝึกรับ – ส่งเสบียงจาก ฮ. ที่ทิ้งเสบียงลงในน้ำ ก็ต้องว่ายน้ำไปรับของ รองเท้าเปียก/เน่า พวกเขาสามารถกินข้างถนนได้ นอนข้างถนนได้ ขับถ่ายข้างถนนได้ เพราะทหารต้องอดทน เสียสละ ไม่รักความสบาย เราต้องดูแลประชาชนและประเทศชาติ ขั้นตอนการฝึกเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ผบ.รร.นร. ที่ว่า “ความสบายไม่เคยทำให้ใครได้ดี ทุกขั้นตอนฝึกต้องผ่านขบวนการเคี่ยวเอ็น กรำกระดูก” แต่ทั้งนี้ทุกกิจกรรมต้องมีความปลอดภัย ๑๐๐% ผลผู้เข้ารับการฝึกไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ
สิ่งที่ได้คือ วินัย ความกล้าหาญ ความสามัคคี ความอดทน
โดยครูทุกคนต้องยึดหลักการ ครูต้องเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ ให้ผู้เข้ารับการฝึกเกิดความศรัทธาในตัวครูฝึก พวกเขากินอย่างไร ครูฝึกกินอย่างนั้น ลำบากอย่างไร ครูฝึกก็ลำบากอย่างนั้น ทำเหมือนกัน หรือลำบากมากกว่าตั้งแต่ ผอ.ฝึกฯ เป็นต้นไปเช่นต้องห่มผ้าเหลือง แต่งกายเป็นพระในสถานการณ์การฝึกปัญหาตามธงเพื่อความสมจริง เพื่อให้นักเรียนเกิดความศรัทธาในความตั้งใจ มุ่งมั่นทุ่มเทของครู
๕. ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๕ ฝึกการสังเกตการณ์ในเวลากลางคืน ฝึกประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียงและฝึกความกล้าหาญ คือการเอาชนะความกลัวด้วยการมีสติด้วยปัญหาผี โดยให้ไปรวบรวมข่าวจากโรงศพและนำข้อเฉลยที่ได้ไปสู่บ่งการต่อไป
๖. ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๖ การถอนตัวเพื่อนำส่งลัง ๓ ลังตามคำสั่งหน่วยเหนือตั้งแต่ต้นซึ่งตลอดเส้นทางได้ถูกกองโจรฝ่ายตรงข้ามพยายามแย่งยึดและต้องการเปิดเผยความลับ
สร้างสถานการณ์นักเรียนถูกกองโจรฝ่ายตรงข้ามจับเป็นเชลยเพื่อซักถามข่าวนักเรียนทุกคนจะได้รับการปลูกฝังเป็นทหาร ห้ามแพร่งพายความลับของทางราชการเป็นอันขาด ดั่งคำปฏิญาณที่ว่า “แม้จะถูกต้านทานอย่างหนัก จากศรัทตรูที่โหดเหี้ยม ภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศจะเลวร้ายสักปานใดก็ตาม ก็หาทำให้ทหารหน่วยนี้เสียขวัญและเปลี่ยนความตั้งใจแต่อย่างใดไม่ เพราะเรายึดมั่นเสมอว่า ภารกิจเหนือสิ่งอื่นใด แม้ชีวิต” ในขณะที่พวกเขากำลังฝึกตามสถานการณ์ที่จัดขึ้น พวกเขาก็ต้องแบกลังปริศนาทั้ง ๓ ลังไปด้วยทุกแห่งด้วยความวิริยะ อุตสาห์ พากเพียรพยายาม
๗. ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๗ กลยุทธ์พระเจ้าตากเข้าตีเมืองจันทร์ ครูฝึกสั่งให้เทน้ำทิ้ง โดยที่ทุกอย่างยังคลุมเครือ ไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ที่ไหน จะจบการฝึกเมื่อไร เพื่อฝึกความมีวินัย ขวัญกำลังใจที่เด็ดขาดแน่วแน่
ระหว่างการฝึกมีผู้เข้ารับการฝึก ๒ คนได้รับบาดเจ็บ คนหนึ่งเอ็นหัวเข่าฉีกจากการหกล้ม อีกคนหนึ่งบาดเจ็บที่ฝ่าเท้า ทำให้ต้องมีการประคอง/หิ้วปีกแบกหามกันไปตลอดทาง ซึ่งครูฝึกได้ริเริ่มนำเรื่องนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก โดยสร้างสถานการณ์ตอกย้ำว่าคนเจ็บเป็นภาระของเพื่อน ๆ ทำให้ต้องหอบหิ้ว แบกหามไปตลอดระยะเวลาฝึก ครูฝึกกล่าวว่าคนเจ็บว่าเป็นภาระ ในขณะที่คนเจ็บก็รู้สึกผิดไปด้วย เป็นตัวถ่วงอย่างโน้นอย่างนี้ เพื่อทดสอบน้ำใจเพื่อน ทดสอบความสามัคคี ปรากฏว่าเพื่อน ๆ ทุกคน ออกมาปกป้องเพื่อนที่บาดเจ็บ ว่าพวกเขายินดีแบกเพื่อนที่บาดเจ็บไปทุกหนทุกแห่ง เกิดความเป็นความผูกพันและรักใคร่ สามัคคีกันตลอดไป
๘. ปัญหาฝึก/บ่งการที่ ๘ สร้างปรากฏการณ์ “ดาวล้อมเดือน”
เมื่อพวกเขาพากันเดินไปถึงหาดสอ ท่าเรือทุ่งโปรง ตามที่หน่วยเหนือสั่งในรุ่งเช้า ในสภาพที่เหนื่อยที่สุด ง่วงที่สุด หิวที่สุด ท้อแท้สุดกำลัง ก็พบว่าพ่อแม่ของทุกคนรออยู่ แต่ผู้เข้ารับการฝึกก็ยังคงอยู่ในแถว สร้างปรากฏการณ์ “ดาวล้อมเดือน” คือจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอยู่ตรงกลางเปรียบเสมือนดวงเดือน มีพ่อแม่และครูฝึกล้อมรอบเปรียบเสมือนดวงดาว ขั้นตอนสุดท้ายคือเปิดลังปริศนาที่พวกเขามุมานะพากเพียรบากบั่นแบกไปไหนต่อไหนด้วยนั้นว่าข้างในมีอะไรกันแน่
ลังที่ ๑ เปิดออกมาเป็นอินทรธนูของทุกคน ตรงสีตรงเหล่า เป็นการแสดงสัญลักษณ์ถึง “เกียรติยศ” นั่นคือความหมายของคำว่า “เกียรติยศไม่ได้มาแต่กำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ” ความพากเพียร พยายาม การฝึกทั้งมวลที่พวกเขาผ่านมาด้วยตัวของนักเรียนเองได้หล่อหลอมเป็นเกียรติยศที่เกิดขึ้นและอยู่ในจิตวิญญาณ อินทรธนูนี้เป็นเพียงเครื่องหมายยศเท่านั้น และเมื่อนักเรียนทุกคนได้รับแล้วขอจงรักษาเกียรติยศนี้ไว้จนกว่าชีวิตจะหาไม่
ลังที่ ๒ เปิดออกมาเป็นธงราชนาวี เมื่อพวกเขาได้รับเกียรติยศและติดยศเป็นนายสัญญาบัตรของกองทัพเรือแล้ว ต่อไปเขาต้องเสียสละแรงกาย แรงใจ เพื่อกองทัพเรือและเพื่อชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์และพี่น้องประชาชน
ลังที่ ๓ เปิดออกมาเป็นจดหมาย ที่พ่อของผู้เข้ารับการฝึกท่านหนึ่งได้เขียนให้กับผู้เข้ารับการฝึก ที่มีเนื้อหาสะท้อนความรัก ความหวัง เป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่ ที่มีต่อลูก
หลังจากนั้นก็มอบอินทรธนูให้ทุกคน บอกว่านี่คือ “หัวใจของครูที่ได้ถักทอส่งต่อให้ศิษย์ถึงฝั่งฝัน”
สถานการณ์นี้ครูฝึกได้นัดหมายพ่อแม่ไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะมารับลูกได้ที่หาดสอ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ได้ผลสัมฤทธิ์ทุกคนหลั่งน้ำตาด้วยปลาบปลื้มยินดีในความสำเร็จและความประทับใจที่เกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่ากองอำนวยการฝึกวางแผนไว้แล้วหมดแล้วทุกขั้นตอน ตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้ายของการฝึก
การประเมินผล มีการประเมินนักเรียนเป็นรายบุคคลจากครูฝึกตลอดหลักสูตร
เครื่องมือสื่อสารที่ใช้สื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับกองอำนวยการฝึก คือ การสร้างกลุ่ม Line มีทั้งครูฝึก และผู้ปกครอง แต่ผู้เข้ารับการฝึกจะไม่ได้เห็น เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการฝึก โดยครูฝึกจะส่งภาพต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการฝึกให้ผู้ปกครองได้ดูและติดตามสถานการณ์ไปพร้อม ๆ กัน มี facebook upload ภาพตลอดระยะเวลาการฝึก มีคำอธิบายภาพให้เข้าใจวัตถุประสงค์ และผลสัมฤทธิ์ของการฝึก
ในภาพรวม ครูทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการฝึก ให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดปัญหาระหว่างการฝึก ครูฝึกได้วางตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาพลักษณ์ของครูออกมาดี แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีศิลปะในการฝึกให้อยู่ในกรอบของการฝึก
การวิจารณ์หลักสูตร ผู้เข้ารับการฝึกก็วิจารณ์เต็มที่ทั้งมุมบวกและมุมลบ มีการประเมินทุกกิจกรรมด้วยวิธีสังเกตการณ์ เมื่อจบหลักสูตร ได้รับคำชมจากผู้บังคับบัญชา ยังความภาคภูมิใจแก่ครูฝึกทุกคนเป็นอย่างยิ่ง
๖. เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ
๑. มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
๒. การกระตุ้นโดยการพูดจูงใจ
๓. มีการพูดคุยกับนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อทราบถึงปัญหา และแนวความคิดที่มีต่อการฝึก เพื่อนำไปปรับปรุงการฝึกให้เหมาะสม
๔. มีการประชุมชี้แจงผู้ปกครอง และนักเรียนก่อนเข้ารับการฝึก เพื่อทราบถึงแนวทางการเตรียมตัว และจุดมุ่งหายของการฝึก
๕. มีการผูกเรื่องระหว่างการฝึกทำให้การฝึกน่าติดตาม และนักเรียนสนุกไปกับการฝึก
๖. มีการถ่ายนโยบายจากผู้บังคับบัญชา ผู้อำนวยการฝึก และนำไปแปลงเป็นการปฏิบัติของครูฝึกอย่างเป็นรูปธรรม
๗. ครูฝึก รวมถึงผู้อำนวยการฝึกฯ ดูแลเอาใจใส่นักเรียนอย่างใกล้ชิด
๗. ผู้ที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดความสำเร็จและบทบาทของบุคคลนั้น
๑. นักเรียนทุกคน
๒. ครูฝึกทุกท่าน
๓. ส่วนสนับสนุนการฝึก
๘. อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน (Lessons Learned) และแนวทางในการแก้ปัญหา /อุปสรรคดังกล่าว
๑. นักเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ควรมีครูฝึกผู้หญิง
๒. มีการเตรียมการล่วงหน้าน้อยเนื่องจาก ทราบเรื่องจาก กพ.ทร. ล่าช้า การติดต่อประสานงานไม่เป็นระบบเท่าที่ควร
๓. มีนักเรียนป่วยเป็นโรคไขมันพอกตับทำให้มีอุปสรรคในการฝึกบ้าง แต่ด้วยความสามัคคี เพื่อนนักเรียนทุกคนช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ทำให้ผ่านการฝึกไปได้ด้วยดี
๙. ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ
๑. นักเรียนทุกคนผ่านการฝึกด้วยดี
๒. นักเรียนมีความสามัคคี มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม มีจิตสำนึกที่ดีขึ้น
๓. นักเรียนมีความภาคภูมิใจ
๔. ครูและนักเรียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
๕. นักเรียนรู้จักบทบาท หน้าที่ของตนเอง
๖. นักเรียนมีความแข็งแรงทางร่างกาย และจิตใจมากขึ้น รวมทั้งมีความเข้าใจวิทยาศาสตร์การกีฬาพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในการออกกำลังกาย
๑๐. การเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จดังกล่าว
๑. เรียนรู้การเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น และรู้จักการปรับใช้วิธีการฝึกให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เข้ารับการฝึก
๒. ความริเริ่มเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีการพัฒนาไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
๑๑. ประเด็นความรู้หรือประสบการณ์อื่นๆ
๑.จิตวิญญานความเป็นครูความภาคภูมิใจคือความสำเร็จของลูกศิษย์ สามารถส่งเขาถึงฝั่งหมายหาใช่ผลตอบแทนอื่นไม่
๒. องค์ประกอบสำคัญต่อความสำเร็จประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ ผู้เข้ารับการฝึก, ครูผู้ฝึก และขบวนการเรียนการสอนการฝึกฝน
๑๒. ข้อเสนอแนะ
๑. นักเรียนควรออกกำลังกาย และเตรียมร่างกายมาก่อนเข้ารับการฝึก
๒. ครูฝึกที่เป็นนายทหารหญิงมีน้อยเกินไป
๓. วิชาร้องเพลงควรเน้นการร้องเพลงให้ถูกเนื้อ มากกว่าทฤษฎีการร้องเพลง