ร้อนกายแต่ไม่ร้อนใจ
โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.
ท่ามกลางสภาวะอากาศที่ร้อน เคยสังเกตหรือไม่ว่า คนเรามักจะบ่นคำว่า “ร้อน” ให้กับคนรอบข้างได้ยินบ่อยแค่ไหน เมื่ออากาศร้อน ส่งผลให้เกิดอาการไม่สบายกาย และจิตใจคนก็สับสนกระวนกระวายตามไปด้วย ความร้อนทางกายไม่รุนแรง สามารถบรรเทาหรือแก้ร้อนได้ง่าย เช่น อาบน้ำ เปิดพัดลม เปิดเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น แต่ความร้อนใจนั้นแก้ยาก และมีผลร้ายแรงกว่าความร้อนทางกาย อันตรายทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความร้อนใจ บางคนร้อนกายพาให้ร้อนใจตามไปด้วย หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย นั่นเพราะว่าสภาวะจิตใจขาดการควบคุมการรู้ไม่เท่าทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้น ในทางศาสนาสอนว่าร้อนกาย แก้ไขได้ไม่ยาก ร้อนใจต่างหากที่แก้ยากกว่า แม้ท่ามกลางอากาศเหน็บหนาว แต่ในจิตใจมนุษย์ก็สามารถร้อนเป็นไฟได้ ดังนั้น เมื่อเกิดความร้อนใจ ก็ต้องแก้ให้ถูกจุด ถึงแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่จะยากหนักเข้าไปอีกถ้าไม่ลองแก้ไข
เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ถูกพระเทวทัตกลิ้งหินเพื่อทำร้าย แต่ว่าหินไปชนหินอีกก้อนหนึ่งแล้วสะเก็ดกระเด็นมาต้องที่พระบาท เกิดอาการห้อพระโลหิตขึ้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ ถวายยาประคบ ยานั้นมีฤทธิ์แสบร้อนมาก หมอกลับบ้านนอนไม่หลับทั้งคืน เป็นห่วงว่าพระผู้มีพระภาค จะทรงปวดแสบปวดร้อนจนบรรทมไม่หลับ จึงตื่นแต่เช้ามืดมาเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความเป็นห่วงมาถึงก็กราบทูลถามว่า “พระองค์บรรทมหลับสบายดีหรือเมื่อคืนนี้” พระองค์ตรัสตอบว่า “เรา นอนหลับสบายดี ไม่มีปัญหาอะไร ความร้อนในตถาคตไม่มี เราดับร้อนได้ตั้งแต่ตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ พอได้ตรัสรู้แล้วความร้อนก็หายไป ความร้อนข้างในก็ไม่มี ความร้อนข้างนอกก็ไม่มี อะไรมากระทบเราก็ไม่รู้สึกหนาว ไม่รู้สึกร้อน ไม่รู้สึกอะไร” หมอได้ฟังเช่นนั้นก็คลายความกังวลได้ คลายทุกข์คลายร้อนใจไปได้
ช่วงเดือนเมษายนของทุกปีอากาศค่อนข้างร้อนกว่าทุกเดือน นอกจากมีผลต่อความร้อนภายนอกคือร้อนกายแล้ว ยังอาจส่งผลต่อภายในคือทำให้ร้อนใจหรือใจร้อนตามไปด้วย และส่งผลให้เกิดความทุกข์ได้มากกว่า ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่าใจกำลังเริ่มร้อน ลองหันมาใช้หลักธรรมในทางศาสนาคือความเมตตาและรู้จักให้อภัยกัน เป็นต้น เข้าชโลมใจ ก็จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ร้อนกายแต่ไม่ร้อนใจ” ได้เป็นอย่างดี