สารบัญ
ความสำคัญของผลงาน
โครงงานวิจัยนี้เป็นการนำเสนอเครื่องฝึกจำลองศูนย์ยุทธการสำหรับนักเรียนนายเรือ โดยได้แนวความคิดในการทำวิจัยจากการปฏิบัติหน้าที่นายยามศูนย์ยุทธการของนักเรียนนายเรือในช่วงการฝึกภาคปฏิบัติในทะเล เนื่องจากนักเรียนนายเรือยังขาดความชำนาญและความมั่นใจในการนำข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องศูนย์ยุทธการมาประมวลผลและตัดสินใจสำหรับการปฏิบัติภารกิจในหลายด้าน เช่น การสื่อสารทางยุทธวิธีที่ต้องใช้บรรณสาร ATP เพื่อเข้าประมวลและถอดประมวล, การใช้ข้อมูลจากเรดาร์มาคำนวณบนกระดานหนสำหรับหาทิศทางและระยะเวลาที่ต้องไปยังตำบลที่ในรูปกระบวนเรือใหม่, การทำงานร่วมกันเป็นทีมในแต่ละส่วนภายในห้องศูนย์ยุทธการ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากข้อจำกัดในการฝึกอบรมที่โรงเรียนนายเรือที่ครูผู้สอนไม่มีเครื่องช่วยฝึกที่จะทำให้นักเรียนได้เห็นภาพเสมือนจริงคล้ายการปฏิบัติงานในเรือ การเรียนการฝึก ณ โรงเรียนนายเรือจะเป็นรูปแบบที่ครูผู้สอนเป็นผู้คิดโจทย์ขึ้นและบอกค่าตัวแปรต่างๆ ของเรดาร์ให้กับนักเรียนนายเรือ(ไม่เหมือนกับการฝึกในเรือจริงที่นักเรียนนายเรือจะนำข้อมูลต่างๆ มาจากอุปกรณ์) อีกทั้งข้อมูลที่ครูผู้สอนกำหนดให้นั้นยังเป็นข้อมูลที่ไม่แปรเปลี่ยนตามเวลา ซึ่งไม่เหมือนในสถานการณ์จริงที่เรือต้องมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
คณะทำงานมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางที่จะพัฒนาการฝึกการปฏิบัติหน้าที่นายยามศูนย์ยุทธการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก่อนที่นักเรียนนายเรือจะทำการฝึกภาคปฏิบัติในทะเลจริง โดยได้นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเครื่องฝึกจำลองการเดินเรือที่กองการฝึกกองเรือยุทธการใช้อยู่เดิม มาประยุกต์ใช้ต่อยอด เพิ่มแนวความคิดด้านระบบเครือข่าย การใช้เรดาร์เดินเรือ ประกอบกับการนำวิทยุสื่อสารมาใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารทางยุทธวิธี บูรณาการร่วมกันทำให้สามารถจำลองสถานการณ์ได้ใกล้เคียงกับการปฏิบัติงานในห้องศูนย์ยุทธการจริง ซึ่งสามารถเพิ่มความชำนาญให้กับนักเรียนนายเรือและทำให้นักเรียนนายเรือเข้าใจภาพการปฏิบัติหน้าที่นายยามศูนย์ยุทธการได้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
เครื่องจำลองการฝึกศูนย์ยุทธการสำหรับนักเรียนนายเรือนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนการฝึกปฏิบัติการหน้าที่ในห้องศูนย์ยุทธการของนักเรียนนายเรือ ประกอบด้วย การรวบรวมข่าวสาร การดำเนินกรรมวิธี การแสดงภาพ การประเมินผล การกระจายข่าวสาร การเสนอแนะในการนำเรือ รวมถึงการทำงานเป็นทีม โดยการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้
กระบวนการผลิตผลงาน
- เรียนรู้รูปแบบและวิธีการเรียนการสอนการปฏิบัติการในห้องฝึกศูนย์ยุทธการ ณ โรงเรียนนายเรือ
- เรียบเรียงรายการที่สามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้โดยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์
- คัดสรรหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมและเปรียบเทียบความเหมาะสมกับรายการพัฒนาที่ต้องการ
- ปรับแต่งฮาร์ดแวร์จากระบบเดิมเพื่อสนับสนุนการใช้งานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง
- ปรับแต่งซอฟแวร์จากระบบเดิมเพื่อสนับสนุนการใช้งานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง
- เพิ่มแนวความคิดของการใช้งานในรูปแบบของเครือข่าย
- เพิ่มแนวความคิดในส่วนการใช้งานของครู เพื่อใช้ตรวจสอบการฝึก
- ทดลองการใช้งานระบบแบบแยกอิสระ
- แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานแบบอิสระ
- ทดลองการใช้งานระบบแบบเครือข่าย
- แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานแบบเครือข่าย
- จัดทำคู่มือและอบรมการใช้งานระบบให้กับผู้ปฏิบัติ
ผลการดำเนินการ
โรงเรียนนายเรือได้รับเครื่องจำลองการฝึกศูนย์ยุทธการสำหรับนักเรียนนายเรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบ ที่มีการเชื่อมโยงเป็นระบบเครือข่าย รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร เสมือนการฝึกปฏิบัติในเรือจริง บูรณาการร่วมกันเป็นเครื่องมือสนับสนุนการฝึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องศูนย์ยุทธการสำหรับนักเรียนนายเรือได้ ซึ่งสามารถใช้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือได้เป็นอย่างดี โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมีความสามารถในการทำงานที่สำคัญ ดังนี้
- สามารถเชื่อมโยงระบบเป็นแบบเครือข่ายได้
- สามารถแสดงผลการปฏิบัติของเรือแต่ละลำแบบ Real Time ได้
- สามารถแสดงตำบลที่ของเรือแต่ละลำบนจอเรดาร์ได้
- สามารถกำหนดพื้นที่การฝึกได้ทั้งบริเวณชายฝั่ง ท่าเรือร่องน้ำของไทยหรือในทะเล
- สามารถกำหนดเรือที่สัญจรในพื้นที่ได้
- สามารถติดต่อสื่อสารได้ในลักษณะเดียวกับระบบวิทยุสื่อสารภายในเรือ
- สามารถทำการฝึกศูนย์ยุทธการแบบเสมือนจริงได้
- สามารถบอกแบริ่ง ระยะ ของเรือในการฝึกได้
- สามารถทำการฝึกการนำเรือ เข้ารูปกระบวนได้
- สามารถกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเรือแต่ละลำได้
ปัจจัยความสำเร็จ
พล.ร.ต.สุภชิต นาวีสุรพล หัวหน้าฝ่ายศึกษาโรงเรียนนายเรือ หัวหน้าโครงการวิจัย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไข ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและสนใจในเทคโนโลยี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบนี้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี ด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง ต้อนรับการพัฒนาใหม่ๆ และการสนับสนุนจาก พล.ร.ท.ชัชชัย โพธิพรรค ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ที่ต้องการแก้ปัญหาเกี่ยวการการเรียนการสอนด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเป็นแรงผลักดันให้เกิดโครงการนี้และคอยสนับสนุนในทุกด้านให้ผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จตามจุดประสงค์ของโครงการ
บทเรียนที่ได้รับ
ในการใช้งานระบบเครื่องจำลองการฝึกศูนย์ยุทธการสำหรับนักเรียนนายเรือในช่วงทดลองใช้งานนั้น มีข้อปัญหาข้อขัดข้อง ดังนี้
ปัญหา:
- คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานระบบ 3 จอ เวลาเปิดเครื่องแล้วใช้งานได้เพียง 1 จอ ต้องตั้งค่าการ์ดจอใหม่ให้แสดง 3 จอ
- พังงา และอุปกรณ์สั่งจักรไม่ทำงาน ต้องตั้งค่าในโปรแกรมจำลองการฝึกใหม่
สาเหตุ:
- เกิดจากการปิดอุปกรณ์ไม่ถูกขั้นตอน เช่น ไฟตก หรือกดปิดเครื่องโดยไม่ออกจากโปรแกรมทั้งหมดก่อน
แนวทางการแก้ไข:
- ปิดเครื่องตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
- สามารถพัฒนาระบบเพื่อป้องกันความผิดพลาดเหล่านี้ด้วยการเพิ่มเครื่องสำรองไฟ
ผลการตรวจสอบ:
- ทดลองเปิด ปิด ระบบหลายครั้ง ทั้งแบบปิดเปิดทันที แบบทิ้งไว้ช่วงหนึ่ง และแบบทิ้งไว้หลายวัน สรุปได้ว่า หากทำการปิดตามขั้นตอน ระบบจะสามารถทำงานได้ตามปกติ
ปัญหา:
- โปรแกรมมีการประมวลผลผิดพลาด ไม่เสถียร หลุด ในระหว่างการใช้งานแบบเต็มรูปแบบ (มีการใช้คอมในเครือข่าย 6 เครื่อง)
สาเหตุ:
- เกิดจากคอมที่ไม่มีการ์ดจอประมวลผลไม่ทันและทำให้คอมเครื่องอื่นๆ รวนไปด้วย
แนวทางการแก้ไข:
- ตั้งค่าภายในโปรแกรมให้เหมาะสมกับความสามารถของคอมพิวเตอร์
ผลการตรวจสอบ:
- ตั้งค่าที่เหมาะสมและทดลองเดินเครื่องฝึกเต็มรูปแบบ สามารถใช้งานได้โดยสมบูรณ์ ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง คือ 30 นาที, 1 ช.ม. และ 2 ช.ม. ระบบเสถียรในทุกช่วงเวลา
สรุปผลการใช้งานทดลองใช้งาน
- เครื่องจำลองการฝึกศูนย์ยุทธการสำหรับนักเรียนนายเรือ สามารถใช้ในการฝึกนักเรียนนายเรือได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ
การเผยแพร่
- เข้าร่วมในงานวิชาการนิทรรศการ ณ รร.นายร้อย จปร. นครนายก เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60
- เข้าร่วมในงานวันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ 2561 ภายใต้หัวข้องาน “โชว์ แชร์ ช็อป ใช้” ณ หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 61