การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ นนร.จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ
สารบัญ
เทคนิคการตัดเกรดแบบมืออาชีพ
น.ท. ผศ.สันติ งามเสริฐ อาจารย์ ฝศษ.รร.นร.
การตัดเกรดหรือการกำหนดระดับการเรียนรู้ เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน บุคคลโดยทั่วไปมักจะคุ้นชินกับคำว่า “การตัดเกรด” ในบทความนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจที่อยากจะแชร์ความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการตัดเกรดผู้เรียน ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ครูอาจารย์โดยทั่วไปก็ทำเป็นและปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังมีความเชื่อว่ายังมีครูอาจารย์บางส่วนยังไม่เข้าใจแนวคิดและวิธีการปฏิบัติในการตัดเกรดที่ถูกต้อง เพียงแต่เป็นการปฏิบัติตามครูรุ่นพี่หรือผู้แนะนำอื่น ๆ เช่น ครูรุ่นพี่เคยแนะนำให้ใช้วิธีการตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม เราตัดเกรดแบบอิงกลุ่มด้วยทุกครั้ง อันที่จริงแล้วไม่จำเป็นเลย ดังนั้นผู้เขียนจะได้อธิบาย ขยายความ และยกตัวอย่างการตัดเกรดในแต่ละวิธีให้เห็นอย่างชัดเจนต่อไป
การตัดเกรดเป็นการประเมินผลการเรียนรู้อย่างหนึ่ง จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดเกณฑ์การตัดสินที่ได้มาตรฐาน อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เหมาะสมและความยุติธรรมตามหลักวิชา หากการตัดเกรดเป็นการนำผลการเรียนไปเปรียบเทียบกับความสามารถของกลุ่ม เรียกว่า “การตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม” หากนำผลการเรียนไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน เรียกว่า “การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์” ไม่ว่าจะเป็นการตัดเกรดด้วยวิธีการใดก็ตาม จะดีและมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องอาศัยกระบวนการวัด (การเก็บคะแนน) ที่หลากหลาย เชื่อถือได้ มีวิธีการแปลความหมายคะแนนที่เหมาะสมและยุติธรรม (ศิริชัย กาญจนวาสี, 2548) ดังนั้น ถ้าคะแนนที่ได้มีความคาดเคลื่อน ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง และครูผู้สอนยังนำคะแนนดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ปัญหาต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เช่น เกิดความไม่ยุติธรรมสำหรับผู้เรียน เกรดไม่สะท้อนความรู้ความสามารถของผู้เรียนคนนั้น ๆ อย่างแท้จริง เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องเข้าใจแนวคิดอย่างถ่องแท้และปฏิบัติการตัดเกรดที่ถูกต้องตามหลักวิชา เพื่อให้การตัดเกรดในรายวิชาที่ตนสอนมีความหมาย บรรจุเป้าประสงค์การจัดการเรียนการสอน และสามารถสะท้อนความรู้ของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
บทความนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับครูที่เกี่ยวข้องกับการตัดเกรด โดยเนื้อหาประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของการตัดเกรด แนวคิดในการตัดเกรด รูปแบบและวิธีการตัดเกรด ตัวอย่างการตัดเกรด และข้อควรคำนึงในการตัดเกรด เมื่อผู้อ่านพร้อมแล้ว เราไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการตัดเกรดเป็นหัวข้อแรก
1. วัตถุประสงค์ของการตัดเกรด
วัตถุประสงค์ของการตัดเกรดนั้นก็เพื่อให้ได้เกรดที่เป็นตัวบ่งชี้ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนและสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้อง ผลสรุปสุดท้ายของเกรดนั้น จะกำหนดให้เป็นค่าร้อยละ (%) เป็นตัวเลข (1 2 3 4) หรือเป็นสัญลักษณ์ (A B+ B…F) ขึ้นอยู่กับสถาบันที่กำหนด
2. แนวคิดในการตัดเกรด
คำถามยอดฮิตที่อาจจะเกิดขึ้นในใจของครูและผู้เรียน คือ “การเรียนการสอนในครั้งนี้ ครูตัดเกรดด้วยวิธีการใด” “ทำไมจึงเลือกใช้วิธีการตัดเกรดดังกล่าว” “การตัดเกรดในรูปแบบนั้น ๆ จะส่งผลดีหรือผลเสียอย่างไร” คำถามทั้ง 3 คำถาม หากครูผู้สอนมีความชัดเจนตั้งแต่แรก ย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือว่าการตัดเกรดในครั้งนั้น ๆ เป็นไปอย่างมีหลักการและสอดคล้องตามหลักวิชา ซึ่งครูผู้สอนจะต้องเลือกรูปแบบการตัดเกรดให้เหมาะสมกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยมีหลักการที่ยึดถือปฏิบัติโดยทั่วไป คือ “หากเป็นการเรียนการสอนเพื่อรอบรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การสอนในห้องเรียนตามปกติ ครูผู้สอนก็ควรเลือกใช้การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ แต่หากเป็นการเรียนเพื่อการจัดลำดับผู้เรียนหรือการคัดเลือกผู้เรียน ควรเลือกใช้การตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม” เนื่องจากการตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์นั้น จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยกันเรียน สนับสนุนและช่วยเหลือกันระหว่างเรียน ไม่มีบรรยากาศของการแข่งขันกัน เพราะแต่ละคนไม่ต้องระแวงว่าเพื่อนจะได้คะแนนมากกว่า แล้วจะส่งผลให้ตนเองไม่ได้รับการคัดเลือกหรือถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าเพื่อน การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ จะเน้นให้ผู้เรียนผ่านวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ครูกำหนด เป็นการแข่งกับตัวเองท้าทายความสามารถของตนเองกับเกณฑ์ที่ครูกำหนดไว้
ดังนั้น การเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ครูผู้สอนจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ รวมทั้งวิธีการตัดเกรดและแจ้งให้ผู้เรียนทราบตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เริ่มสอน นอกจากนี้ครูผู้สอนจะต้องให้ความสำคัญกับที่มาของคะแนนว่ามาจากแหล่งใดหรือวิธีการใดบ้าง โดยประเด็นสำคัญที่ครูผู้สอนจะต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
1) กิจกรรมที่ควรกำหนดเป็นคะแนนควรมีกิจกรรมใดบ้าง นั่นก็คือเนื้อหาที่นำมาใช้สอบเพื่อเก็บคะแนนนั่นเอง
2) น้ำหนักความสำคัญของแต่ละกิจกรรมนั้น ครูผู้สอนให้น้ำหนักความสำคัญไว้อย่างไร เพื่อให้เป็นตัวแทนของจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ของรายวิชานั้น ๆ มากที่สุด โดยทั่วไปนิยมกำหนดเป็นร้อยละ เพื่อรอการประมวลเข้าด้วยกันเป็นคะแนนรวมรายวิชานั่นเอง มีการกำหนดเป็นคะแนนภาคทฤษฎี หรือคะแนนภาคปฏิบัติหรือไม่ น้ำหนักความสำคัญของภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติเท่ากันหรือไม่ วิชานั้น ๆ ให้ความสำคัญกับภาคทฤษฎีหรือภาคปฏิบัติ ซึ่งครูผู้สอนจะต้องทำความเข้าใจในแนวคิดและความมุ่งประสงค์ของรายวิชานั้น ๆ อย่างแท้จริง
3) วิธีการเก็บคะแนนแต่ละกิจกรรมเป็นอย่างไร ใช้เครื่องมือชนิดใดบ้าง เครื่องมือจะต้องมีความตรง (Validity) และความเที่ยง (Reliability) กล่าวคือ ผู้สอนจะต้องพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ประเมินกับจุดประสงค์การเรียนรู้รายวิชาให้ได้ ซึ่งก็คือความตรงเชิงเนื้อหานั่นเอง ส่วนความตรงเชิงทำนายนั้นจะต้องมองไปถึงการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผู้เรียนที่ได้เกรด A วิชาภาษาอังกฤษจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดีกว่าผู้เรียนที่ได้เกรด B เป็นต้น ส่วนความเที่ยงนั้น หมายถึง การประเมินผลจะต้องได้ผลเหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไป โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเที่ยงของการประเมิน ได้แก่ ความผิดพลาดด้านการสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในกระบวนการสอบ ครูผู้สอนไม่กำหนดเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ชัดเจนตั้งแต่แรก จนส่งผลให้เกิดความลำเอียงในการให้คะแนน และความไม่ใส่ใจในการสอนของครูเท่าที่ควร เช่น ใช้วิธีการสอบที่ไม่หลากหลาย คะแนนไม่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน เป็นต้น (อุไร จักษ์ตรีมงคล, 2556)
3. รูปแบบและวิธีการตัดเกรด
การตัดเกรดมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม (Norm – Referenced Grading) 2) การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ (Criterion – Referenced Grading) และ 3) การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์และอิงกลุ่ม (Criterion and Norm Referenced Grading)
สำหรับตัวอย่างในการตัดเกรดในแต่ละวิธี ผู้อ่านสามารถศึกษาได้จากลิ้งค์ นี้ครับ
Link ตัวอย่างแสดงวิธีการตัดเกรด ตัวอย่างการตัดเกรดแต่ละวิธี
4. ข้อควรคำนึงในการตัดเกรด
กระบวนการตัดเกรดที่มีคุณภาพและยุติธรรมสำหรับผู้เรียนนั้น มีข้อควรคำนึงดังนี้
4.1 ครูผู้สอนควรแจ้งให้ผู้เรียนทราบตั้งแต่ชั่วโมงแรกของการสอนเกี่ยวกับวิธีการตัดเกรด เนื้อหาหรือกิจกรรมที่เป็นคะแนน และนำไปสู่การตัดเกรด
4.2 วิชาที่มีการกำหนดน้ำหนักความสำคัญโดยการระบุจำนวนหน่วยกิตของภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ แยกจากกัน ให้ดำเนินการรวมคะแนนของแต่ละส่วนในเรือนร้อยก่อนและคูณด้วยจำนวนหน่วยกิตของแต่ละส่วน จากนั้นนำคะแนนมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนหน่วยกิตรวม ก็จะได้คะแนนรวมรายวิชาในเรือนร้อย เพื่อนำไปใช้ในการตัดเกรด
4.3 เกรดของผู้เรียนควรมาจากคะแนนที่ได้มาจากกระบวนการเรียนการสอนเท่านั้น ไม่ควรมีคะแนนที่มาจากองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกรดไม่สะท้อนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนอย่างแท้จริง เช่น คะแนนที่เกิดจากความเอ็นดูต่อผู้เรียนคนนั้น ๆ เป็นต้น
4.4 การให้คะแนนต้องมาจากกระบวนการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เช่น ใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ใช้วิธีการวัดผลที่หลากหลาย คะแนนมาจากเนื้อหาหรือกิจกรรมที่สำคัญและสอดคล้องกับความมุ่งหมายของรายวิชา
4.5 ควรเลือกใช้รูปแบบการตัดเกรดที่เหมาะสม (อิงเกณฑ์ หรือ อิงกลุ่ม) หากเป็นการเรียนการสอนเพื่อการรอบรู้ เช่น การเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ ควรเลือกใช้การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ แต่หากเป็นการเรียนการสอนเพื่อการจัดอันดับ/การคัดเลือก/การจัดกลุ่มผู้เรียน ควรเลือกใช้การตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม
4.6 ควรตรวจสอบจุดตัดของคะแนนในแต่ละช่วงเกรดอย่างรอบคอบ รวมถึงตรวจสอบรายละเอียดของคะแนนแต่ละส่วนอย่างรอบคอบเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันความคาดเคลื่อนที่อาจจะเกิดขึ้น
4.7 การกำหนดจำนวนเกรดในกรณีที่ใช้วิธีการตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม ครูผู้สอนควรพิจารณาอย่างรอบคอบจากความสามารถของกลุ่มในภาพรวม การกระจายของคะแนน (คะแนนสูงสุด คะแนนต่ำสุด) หากคะแนนมีการกระจายมาก จำนวนเกรดอาจจะมีจำนวนมาก หากคะแนนมีการกระจายน้อย (คะแนนเกาะกลุ่ม) จำนวนเกรดอาจมีจำนวนน้อย (3 – 5 เกรด)
4.8 ครูผู้สอนควรเป็นผู้ตัดเกรดด้วยตนเอง ไม่ควรส่งคะแนนให้หน่วยงานใดเป็นผู้ตัดเกรดแทนตนเอง
เอกสารอ้างอิง
พิชิต ฤทธิ์จรูญ. (2551). หลักการวัดและประเมินผลการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: เฮ้าส์ ออฟ เคอร์มีสท์.
โรงเรียนนายเรือ. (2561). ระเบียบโรงเรียนนายเรือ ว่าด้วยการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561. (อัดสำเนา)
ศิริชัย กาญจนวาสี. (2548). ทฤษฎีการทดสอบแบบดังเดิม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อนุรักษ์ โชติดิลก. (2552). สถิติในการวัดและประเมินผลการศึกษา. (อัดสำเนา).
อุไร จักษ์ตรีมงคล. (2556). การตัดเกรด. วารสารวัดผลการศึกษา, 30, (87). 1 – 7.
เอมอร จังศิริพรปกรณ์. (2550). การวัดและประเมินผลการศึกษา. (ม.ป.ท.)
Related posts