สารบัญ
ครูทหารมืออาชีพ
นาวาโท ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันติ งามเสริฐ
อาจารย์ ฝ่ายศึกษา โรงเรียนนายเรือ
ถึงผู้อ่านทุก ๆ ท่าน กระผม น.ท. ผศ.สันติ งามเสริฐ อาจารย์ ฝศษ.รร.นร. ในฐานะที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานที่โรงเรียนนายเรือ และได้ทำหน้าที่สอนในวิชาครูทหาร สำหรับนักเรียนนายเรือ ชั้นปีที่ 3 มามากกว่า 5 ปี ดังนั้น จึงอยากที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการทำหน้าที่ครู ไม่ว่าจะเป็นครูพลเรือนหรือครูทหาร บทบาทและหน้าที่แทบจะเหมือนกัน คือการทำหน้าที่อบรมและให้การศึกษาแก่ศิษย์ ทั้งวิชาความรู้ คุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้เขาเหล่านั้น มีวิชาความรู้ที่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในอาชีพของตนเอง รวมถึงการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข ศาสตร์และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ครูนั้น มีมากมายที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอและแบ่งปันแก่ทุก ๆ ท่าน แต่ในขั้นต้นนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นความรู้ที่จำเป็นในลำดับต้น ๆ ในการทำหน้าที่ครู อันประกอบด้วย หัวข้อที่สำคัญ จำนวน 5 หัวข้อ ดังนี้
- ความหมายของคําว่า “ครู” และ “อาจารย์”
- ความสำคัญของครู
- บทบาทของครูทหาร
- หน้าที่ของครูทหาร
- คุณลักษณะของครูทหารที่ดี
ครูพลเรือนและครูทหาร ในที่นี้ผู้เขียนจะใช้คำว่าครูแทนครูทหารด้วย ครูถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสําคัญดุจบิดามารดาของลูกศิษย์ เพราะเป็นผู้คอยอบรม สั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ ประสบการณ์ บ่มเพาะขัดเกลาให้ลูกศิษย์เป็นคนดี รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี ครูถือเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสําคัญอย่างมากในการจัดการศึกษา นอกจากนี้ครูยังมีบทบาทในหลายด้าน เช่น บทบาทในการพัฒนาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่า การที่จะสร้างครูให้มีคุณภาพ มีความเจริญงอกงามทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายเลย เนื้อหาในลำดับต่อไปผู้เขียนขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ บทบาทหน้าที่ และคุณลักษณะที่ดีของครู เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งในอนาคตผู้อ่านบางท่านอาจจะมีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ครู อันจะส่งผลให้สามารถนำความรู้ต่าง ๆ ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ หัวข้อแรกที่ผู้เขียนอยากแบ่งปัน
1. ความหมายของคําว่า “ครู” และ “อาจารย์”
ปัจจุบันคําว่า “ครู” และ “อาจารย์” มักจะใช้ควบคู่กันอยู่เสมอ จนบางครั้งหลายคนมักจะเข้าใจผิดหรือมีความสับสนว่าทั้งสองคํามีความหมายเหมือนกัน เป็นคําเดียวกันหรือไม่ แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองคํามีความแตกต่างกัน กล่าวคือ คําว่า “ครู” มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า “คุรุ – ครุ” ภาษาสันสกฤตว่า “คุรุ” และภาษาอังกฤษใช้คําว่า “Teacher” คําว่า “ครู” ถ้าในความหมายที่เป็นคํานามในภาษาสันสกฤต หมายถึง “ผู้สั่งสอนศิษย์หรือถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์” ส่วนความหมายที่เป็นคําวิเศษณ์ในภาษาบาลี หมายถึง หนัก สูง และในภาษาสันสกฤต หมายถึง ใหญ่หรือหนัก ส่วนรากศัพท์เดิมของคําว่า “อาจารย์” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า “อาจารย” และภาษาสันสกฤตว่า “อาจาริย” ภาษาอังกฤษใช้คําว่า “Instructor” มีนักวิชาการ และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ให้ความหมายของคําว่า “ครู” และ “อาจารย์” ไว้หลากหลาย โดยสรุป คําว่า “ครู” (Teacher) หมายถึง บุคลากรซึ่งทําหน้าที่อบรมสั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ แก่ศิษย์ เพื่อพัฒนาให้ศิษย์มีความเจริญงอกงามทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในสังคม ซึ่งทําหน้าที่สอนในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนในระดับต่ำกว่าปริญญา (กุลิสรา จิตรชญาวณิช, 2561) ส่วนคำว่า อาจารย์ นั้น หมายถึง ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งทําหน้าที่สั่งสอนให้ความรู้และอบรมความประพฤติของศิษย์ โดยทําหน้าที่สอนอยู่ในระดับอุดมศึกษา
ในปัจจุบันผู้ที่ทําหน้าที่เกี่ยวกับการสอนไม่ว่าจะมีคุณวุฒิการศึกษาในระดับใดหรือสอนในระดับใด ส่วนใหญ่คนในสังคมภายนอกมักจะนิยมเรียกว่า “อาจารย์” เหมือนกันหมด เพื่อเป็นการให้เกียรติและยกย่องผู้ที่ประกอบอาชีพครู ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเสียหายแต่ประการใด แต่ในแวดวงทางทหารนั้น มักจะใช้คำว่า “ครู” มากกว่าคำว่า “อาจารย์” ซึ่งการกล่าวคำว่าครูนั้น จะแสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนม ความผูกพัน ความเอื้ออาทรต่อกันระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งเนื้อหาต่อจากนี้ ผู้เขียนจะขอใช้คำว่าครูแทนความหมายของอาจารย์ด้วย หลังจากที่ทุก ๆ ท่านได้ทราบความหมายของคำว่าครู และ คำว่า อาจารย์ กันแล้ว ในลำดับต่อไป ผู้เขียนจะนำพาทุก ๆ ไปรับรู้เกี่ยวกับความสำคัญของครู
2. ความสำคัญของครู
ทุกอาชีพในสังคมล้วนมีความสําคัญและมีบทบาทลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ไม่ว่าบุคคลจะประกอบอาชีพใดล้วนแล้วแต่มีครูที่คอยอบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชา ความรู้และฝึกฝนประสบการณ์ต่าง ๆ แม้แต่วิชาชีพทหารก็เช่นกัน ก็ต้องมีทหารที่เป็นครูในการทำหน้าที่ถ่ายทอดวิทยาการทางทหาร ทักษะ และประสบการณ์ทางทหารแก่บรรดาศิษย์ในชั้นเรียน เพราะในความเป็นจริง ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ต้องมีครู ไม่มีใครที่รู้ทุกอย่างโดยไม่มีครู ในอดีตจนถึงปัจจุบันผู้ที่ทําหน้าที่อบรมสั่งสอนบุคคลอื่นให้มีความเจริญงอกงาม มักได้รับการยกย่องว่าเป็นครู ปัจจุบันผู้ทำหน้าที่ครูทั้งครูพลเรือนและครูทหารได้รับการยกย่องให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เพราะต้องรับภาระหนักในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อาชีพนี้จึงเป็นอาชีพที่ท้าทาย ดังนั้น เพื่อให้เห็นความสําคัญของผู้ทำหน้าที่ครูทหาร จึงขอสรุปความสําคัญของครูทหารไว้ดังนี้
2.1 ความสําคัญในการพัฒนากำลังพลของหน่วย
บุคคลที่เป็นกลไกสําคัญในการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาของกองทัพ คือ ผู้บริหารและครูทหาร เพราะเป็นผู้ที่พัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญงอกงาม ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อให้สามารถนําความรู้และทักษะต่าง ๆ ไปประยุกต์ในการดํารงชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ครูทหารยังมีบทบาทสําคัญในการทําหน้าที่อบรม บ่มเพาะจิตใจและพฤติกรรมต่าง ๆ ให้ศิษย์เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสําคัญที่ทําให้คนต่างจากสัตว์ เพราะคนรู้จักคิด แยกดีชั่ว ถูกผิดออกจากกันได้ มีเหตุผลไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรงในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกับสัตว์ ดังนั้น หากคนยังมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงจนเป็นนิสัย ไม่คิดพิจารณาการกระทำของตนก่อนปฏิบัติ ก็คงไม่ต่างอะไรกับสัตว์
2.2 ความสําคัญในการพัฒนาสังคม
เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การอยู่รวมกันของคนในสังคมบางครั้งต้องมีปัญหาหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละคนมาจากพื้นฐานที่แตกต่างกันและมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร สุดท้ายย่อมมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาทุกครั้ง การให้การศึกษาที่ดีแก่คนในสังคมโดยมีครูเป็นผู้ทําหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้มีปัญญา เพื่อที่จะนํามาใช้ในการดํารงชีวิต โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง ผู้อื่น และสังคม ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหากคนสังคมใดได้รับการพัฒนาและได้รับการศึกษาที่ดี ย่อมเป็นกําลังสําคัญที่จะพัฒนาสังคมนั้น ๆ ให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบไป
2.3 ความสําคัญในการพัฒนากองทัพ
ครูทหารเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังพลให้มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของหน่วย เนื่องจากการศึกษาในกองทัพเป็นการจัดการศึกษาเฉพาะทาง ครูทหารนอกจากจะต้องมีความรู้ในศาสตร์ของพลเรือนแล้ว ยังจะต้องมีความเชี่ยวชาญศาสตร์ทางทหารด้วย เพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นครูทหารได้อย่างสมบูรณ์แบบ สามารถพัฒนากำลังพลในกองทัพให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในศาสตร์ทางทหาร เพื่อนำพากองทัพให้เจริญก้าวหน้าและเป็นกองทัพที่มีศักยภาพสูงต่อไป
2.4 ความสําคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
ประเทศใดมีครูที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการศึกษา ย่อมช่วยพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรืองได้ โดยสิ่งที่ครูสามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติได้นั้นมีหลายแนวทางด้วยกัน เช่น ช่วยสอนผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในทุกด้านตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม สามารถนําความรู้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ นอกจากนี้ครูยังสามารถช่วยพัฒนาประเทศในลักษณะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติ คิดค้นนวัตกรรม หรือสิ่งแปลกใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและประเทศชาติ
ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ครูทหารมีความสำคัญในการพัฒนากำลังพลของหน่วย พัฒนาสังคม พัฒนากองทัพ และพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้น เมื่อผู้อ่านได้ทราบแล้วว่า ครูทหารมีความสำคัญอย่างไร แล้วบทบาทหน้าที่ของครูทหารนั้น เป็นอย่างไร ผู้เขียนจะได้นำเสนอในเนื้อหาต่อไป (กุลิสรา จิตรชญาวณิช, 2561)
3. บทบาทของครูทหาร
ครูทหารเป็นบทบาทที่มีความสําคัญยิ่ง เพราะครูทหารมีความสำคัญในการพัฒนากองทัพเพื่อให้กำลังพลของกองทัพเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีคุณค่าต่อสังคม ดังนั้น บทบาทที่สําคัญของครูทหารมีดังต่อไปนี้
3.1 บทบาทในการเป็นแม่พิมพ์ของชาติ
ครูทหารจะต้องเป็นต้นแบบหรือแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ แบบอย่างที่ดีแก่กำลังพลในกองทัพและบุคคลทั่วไปในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านความรู้ พฤติกรรม บุคลิกภาพ ฯลฯ สิ่งที่ครูทหารพึงกระทําหรือจําเป็นต้องกระทําในฐานะแม่พิมพ์ของชาติมีหลายประการ เช่น เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการพัฒนาตนเองด้านวิชาการ เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย/กองทัพ/กาลเทศะ รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการมีคุณธรรมและจริยธรรม
3.2 บทบาทการเป็นวิศวกรของสังคมและกองทัพ
ครูทหารเปรียบเสมือนนักสร้าง นักออกแบบ นักตรวจสอบให้สิ่งที่สร้างเป็นไปตามทิศทางที่สังคมและกองทัพต้องการ เช่น การออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนให้ผู้เรียนมีความสุข สนุกในการเรียน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีพทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาศิษย์ที่มีปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ การสร้างระบบบริหารจัดการในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น
3.3 บทบาทเป็นนักปฏิวัติในสนามรบทางการศึกษา
ครูทหารเป็นผู้พัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของกองทัพให้มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เช่น การปรับปรุงระบบการทํางานหรือการสอนให้มีประสิทธิภาพ การทํางานร่วมครูทหารท่านอื่น ๆ รวมถึงกำลังพลในกองทัพ ช่วยกําหนดนโยบายของสถาบันให้ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อศิษย์
3.4 บทบาทเป็นผู้นําหรือที่พึ่งพาของสังคม
ครูทหารจะต้องเป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา เป็นที่พึ่งพาของสังคมและกองทัพในหลาย ๆ ด้าน โดยทําหน้าที่พัฒนาศิษย์ให้มีความเจริญงอกงามทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถนําวิชาความรู้ไปใช้ในการดํารงชีวิตให้มีความสุข สิ่งที่ครูทหารพึงกระทําในฐานะเป็นผู้นําหรือที่พึ่งพาของกองทัพ เช่น อบรมสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม ให้ศิษย์มีทักษะกระบวนการคิด ทักษะการใช้ชีวิต ทักษะการใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมให้ศิษย์มีความใฝ่รู้ รู้จักใช้ชีวิตแบบพอเพียง ปลูกฝังให้ศิษย์มีจิตสาธารณะ รู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
3.5 บทบาทเป็นกระจกเงาของศิษย์
ครูทหารเป็นผู้คอยแนะนําตักเตือนศิษย์ให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ไม่ประพฤติปฏิบัติตนในลักษณะของการนําความเดือดร้อนต่าง ๆ มาสู่ตนเองและผู้อื่น สิ่งที่ครูพึงกระทําในฐานะกระจกเงาของศิษย์ เช่น ตักเตือนศิษย์ที่ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม หรือศิษย์ที่มีพฤติกรรมไม่ดีหรือไม่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ
3.6 บทบาทเป็นพ่อแม่คนที่สอง
ครูทหารเป็นผู้ที่ทําหน้าที่คล้ายกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูแลเอาใจใส่ลูกศิษย์ คอยอบรมสั่งสอนให้ศิษย์ทุกคนเป็นคนดี ชี้แนะแนวทางต่าง ๆ ให้รักในสิ่งที่ถูก รู้ผิดอย่างมีเหตุผล รวมทั้งช่วยเติมเต็ม ส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของศิษย์ให้มีความเจริญงอกงามและมีคุณภาพ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ และที่สําคัญในช่วงเวลาที่ศิษย์มีปัญหา ครูทหารต้องดูแลช่วยเหลือด้วยความรัก ความเมตตา เปรียบเสมือนเป็นลูกของตนเอง
หลังจากที่ผู้อ่านได้ทราบบทบาทของครูทหารแล้ว การที่ครูทหารจะแสดงบทบาทนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องรู้วิธีการปฏิบัติในบทบาทนั้น ๆ ด้วย ซึ่งก็คือ หน้าที่ของครูทหารนั่นเอง ในลำดับต่อไปผู้เขียนจะได้นำเสนอหน้าที่ของครูทหาร
4. หน้าที่ของครูทหาร
หน้าที่ของครูทหารมีหลายประการ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่าย จึงสรุปหน้าที่ของครูทหาร ตามความหมายของคําในภาษาอังกฤษ คําว่า “TEACHERS” ดังนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552)
4.1 การสอน (Teaching)
ครูทหารมีหน้าที่อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ และประสบการณ์ด้านการทหารแก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์มีความรู้ ความสามารถในศาสตร์ด้านการทหารและมีความเจริญงอกงามในจิตใจ การสอนเป็นภาระหน้าที่สําคัญของครูทหารทุกคนที่ต้องปฏิบัติอย่างเต็มศักยภาพ เพราะถ้าครูทหารไม่ให้ความสําคัญในการอบรม
สั่งสอนศิษย์อย่างจริงจัง ศิษย์ก็จะไม่เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงประสงค์ตามที่กำหนด
ซึ่งมีแนวทางดำเนินการดังนี้
4.1.1 เป็นการสอนที่มีการเตรียมการสอนเป็นอย่างดี ครบองค์ประกอบของการสอน ได้แก่ มีการกำหนดวัตถุประสงค์การสอนที่ชัดเจน มีการกำหนดเนื้อหาที่เหมาะสม มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ มีการใช้สื่อการสอนที่เหมาะสม และมีการวัดและประเมินผลที่ถูกต้องตามหลักการ
4.1.2 เป็นการสอนที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับจุดประสงค์การสอน เนื้อหาเหมาะสมกับผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม
4.1.3 เป็นการสอนที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองหรือได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และความกระตือรือร้นในการเรียน
4.1.4 เป็นการสอนที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรและรายวิชา
4.1.5 เป็นการสอนที่คํานึงถึงประโยชน์ที่ผู้เรียนจะนําไปใช้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคต เช่น การสอนโดยให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ ได้รู้จักวิธีการแสวงหาความรู้ ได้ฝึกคิดแก้ปัญหาย่อมดีกว่าวิธีสอนโดยบอกความรู้ให้หรือกระทําให้ดูแต่เพียงฝ่ายเดียว การให้ผู้เรียนได้นําประสบการณ์ทั้งความรู้ ความคิด ไปใช้ในชีวิตประจําวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต ย่อมเป็นการสอนที่มีคุณค่าแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง
4.1.6 เป็นการสอนที่เร้าความสนใจผู้เรียน ทําให้ผู้เรียนสนใจเรียนตลอดจนจบกระบวนการสอน เช่น ผู้สอนใช้สื่อการสอนที่น่าสนใจ ใช้คําถามกระตุ้นให้คิด ใช้วิธีการสอนหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสม ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) ได้ทดลอง ได้คิด ค้นคว้า ย่อมทําให้ผู้เรียนเรียนด้วยความสนใจ
4.1.7 เป็นการสอนที่มีบรรยากาศส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งบรรยากาศด้านวัตถุและด้านจิตใจ ได้แก่ มีสภาพห้องเรียน อุปกรณ์การเรียน และสิ่งแวดล้อมที่ดี เอื้ออํานวยให้เกิดความสบายตาสบายใจ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน ให้ความเป็นกันเอง ให้ความเมตตา ให้ความรัก ให้ความอบอุ่นแก่ผู้เรียน ทําให้ผู้เรียนเรียนด้วยความสุข มีชีวิตชีวา และไม่ตึงเครียดจนเกินไป
4.1.8 เป็นการสอนที่ผู้สอนรู้จักใช้จิตวิทยาการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม เช่น การให้รางวัล และการลงโทษที่พอดี มีการให้คําชม มีการจูงใจ มีการเร้าใจให้ผู้เรียนเกิดแรงขับจากภายในตัวผู้เรียน การให้ผู้เรียนได้รับทราบผลการประเมินในกิจกรรมต่าง ๆ ของตนโดยเร็ว และการให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจในความสําเร็จของตน
4.1.9 เป็นการสอนที่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เช่น ให้ผู้เรียนมีอิสสระในการแสดงความคิดเห็น ผู้เรียนได้ฝึกการทํางานกลุ่มร่วมกัน ได้ฝึกการเป็นผู้นํา ผู้ตาม ฝึกการทําตามข้อกําหนดของกลุ่ม และฝึกระเบียบวินัยในตนเอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นการปูพื้นฐานการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม กองทัพ และการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป
4.1.10 เป็นการสอนที่มีกระบวนการ มีลําดับขั้นตอนการสอน มีการเตรียมการสอน เตรียมจัดลําดับการสอนให้สอดคล้องต่อเนื่องกันอย่างเหมาะสมตั้งแต่ขั้นนํา ขั้นสอน และขั้นสรุป
4.1.11 เป็นการสอนที่มีการวัดผลและประเมินผลก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน โดยอาจใช้วิธีต่าง ๆ เช่น การสังเกต การซักถาม การทดสอบ การทำรายงาน การทําแบบฝึกหัด ฯลฯ
4.1.12 เป็นการสอนที่ผู้สอนสอนด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู สอนด้วยความกระตือรือร้น สอนด้วยความตั้งใจ สอนด้วยความเต็มใจ และสอนด้วยความมั่นใจ บุคลิกภาพและการแสดงออกของผู้สอนจะสะท้อนให้ผู้เรียนเข้าใจความรู้สึกของผู้สอนได้ดี ถ้าผู้สอนมีความรู้สึกที่ดีทั้งต่อผู้เรียนและต่ออาชีพ ผู้เรียนจะเรียนด้วยความศรัทธา เรียนอย่างมีความสุข เรียนด้วยความตั้งใจ และด้วยความเต็มใจ
4.2 อบรมคุณธรรมจริยธรรม (Ethics)
ครูทหารต้องมีหน้าที่อบรม ปลูกฝัง คุณธรรมและจริยธรรมแก่ศิษย์ บ่มเพาะ ขัดเกลาจิตใจของศิษย์ให้มีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม เพราะเป็นรากฐานสําคัญที่จะสร้างสรรค์ให้คนเป็นคนดี รวมทั้งยังเป็นหลักยึดปฏิบัติในการดํารงชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข คุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องที่อยู่ภายใน มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากสําหรับครูบางคนที่มักจะมองข้ามละเลยไม่ได้ปลูกฝังให้กับศิษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะมุ่งแต่สอนวิชาการเพียงอย่างเดียว จึงทําให้ศิษย์ได้รับการพัฒนาแต่เพียงด้านสติปัญญาแต่ขาดการขัดเกลาด้านจิตใจ
4.3 พัฒนาด้านวิชาการ (Academic)
การหมั่นศึกษาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนํามาพัฒนาการสอนของตนเองอยู่เสมอ และนําความรู้หรือสิ่งใหม่ที่ได้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญงอกงาม ถ้าครูหยุดนิ่ง ไม่แสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ที่จะทําให้ครูล้าสมัยและไม่มีประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เพื่อนำมาสอนศิษย์
4.4 สืบทอดวัฒนธรรม (Cultural Heritage)
ครูจะต้องทําหน้าที่ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ดีงาม ในสังคมให้คงไว้ และประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์ได้ซึมซับในสิ่งที่ดีงามจากครู สามารถกระทําได้หลายวิธีการ เช่น การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ การพูดจา การแสดงออก การแสดงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น การแสดงความเคารพแบบธรรมเนียมทหาร เป็นต้น
4.5 สร้างมนุษยสัมพันธ์ (Human Relationship)
งานในหน้าที่ครูเป็นงานที่มีภาระมากมายและจะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ดังนั้น ในการประสานความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น ครูทหารจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น เพราะการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม รวมทั้งยังเป็นที่รัก เคารพ ประทับใจแก่ผู้พบเห็น ในทางตรงกันข้ามถ้าครูขาดมนุษยสัมพันธ์จะทําให้บุคคลอื่นไม่กล้าเข้าใกล้หรือคบหาสมาคม และอาจจะทําให้เป็นอุปสรรคต่อการติดต่อสื่อสารและการประสานงานต่าง ๆ
4.6 ประเมินผลการเรียน (Evaluation)
เมื่อครูดําเนินการจัดการเรียนรู้เสร็จสิ้น จะต้องทําการประเมินผลการเรียนของผู้เรียน เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของผู้เรียนว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ถ้าพบข้อบกพร่องจะได้หาทางช่วยเหลือ แก้ไขผู้เรียนได้ทันท่วงที และนอกจากนี้ยังสามารถนําข้อมูลผลการประเมิน มาใช้ในการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ในครั้งต่อไปให้ดีขึ้น
4.7 วิจัย (Research)
การวิจัยเป็นกระบวนการหาความรู้ความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ อาศัยหลักเหตุผลที่รอบคอบ รัดกุม ละเอียดและเชื่อถือได้ เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการนํามาใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพและน่าสนใจ รวมทั้งสามารถใช้กระบวนการวิจัยในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้และสามารถแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับผู้เรียนได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น ปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นต้น
4.8 ให้บริการ (Services)
นอกจากหน้าที่บริการให้ความรู้อบรมสั่งสอนศิษย์แล้ว ครูทหารยังต้องมีหน้าที่ให้บริการ หรือให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลอื่น ๆ ในสังคม ทั้งอยู่ในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ได้แก่ การช่วยเหลือภาระงานต่าง ๆ ของเพื่อนครูทหาร การเข้าร่วมกิจกรรมสําคัญของหน่วย เป็นต้น
หลังจากที่ผู้อ่านได้ทราบการทำหน้าที่ของครูทหารแล้ว ในลำดับต้อไปผู้เขียนขอนำเสนอคุณลักษณะของครูทหารที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้ครูทหารสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะดังต่อไปนี้
5. คุณลักษณะของครูทหารที่ดี
นักการศึกษาหลาย ๆ ท่านได้ให้คำกำจัดความและนำเสนอคุณลักษณะของครูทหารที่ดี เช่น คุณลักษณะของครูทหารที่ดีตามหลักพระพุทธศาสนา ลักษณะครูที่ดีตามหลักตะวันตก คุณลักษณะครูที่ดีของนักเรียน จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้น พบว่า ไม่ว่าจะคุณลักษณะครูที่ดีตามเกณฑ์ไหน ๆ ก็จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอคุณลักษณะที่ดีของครูทหาร จำนวน 4 กลุ่ม ดังนี้
5.1 คุณลักษณะด้านวิชาการ
5.1.1 มุ่งมั่นวิชาการ
ครูทหารที่ดีจะต้องเสาะแสวงหาความรู้ พัฒนาความรู้ของตนเองอยู่เสมอ เพื่อนำไปถ่ายทอดใก้แก่ศิษย์ ขอจำแนกเป็น 2 ศาสตร์ ดังนี้
1) ศาสตร์ที่จะสอน ครูทหารจะต้องติดตามความก้าวหน้าของศาสตร์ในรายวิชาหรือหัวข้อที่จะสอน เพื่อการค้นพบและการขยายองค์ความรู้ออกไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูทหารจะต้องเตรียมพร้อมตนเองให้มีความรู้ที่ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์
2) ศาสตร์การสอน ครูทหารถึงจะมีความรู้ดีเพียงใดก็คงไม่มีประโยชน์ หากครูทหารยังขาดทักษะวิธีการสอน ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูทหารจะต้องพัฒนาเทคนิค ทักษะและวิธีการสอนของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นสะพานเชื่อมความรู้ไปยังศิษย์
5.1.2 ใฝ่ความก้าวหน้า ครูทหารที่ดีจะต้องไม่หยุดยิ่งอยู่กับที่ มีการผลิต เผยแพร่ และนำเสนอผลงานทางวิชาการของตนเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ชีวิตของครูทหารมีความก้าวหน้าต่อไป และทำคุณประโยชน์แก่ตนเอง ศิษย์ กองทัพ สังคม และประเทศชาติ
5.2 คุณลักษณะด้านจิตใจ
5.2.1 รักการสอน
ครูทหารจะต้องมีความศรัทธาต่อวิชาชีพของตน ต้องมีความรักการสอน สนใจที่จะพัฒนาการสอนให้น่าสนใจ เปลี่ยนแปลงและพัฒนาวิธีการสอนเพื่อให้ได้ผล รู้จักการถ่ายทอดที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย สอนให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการเรียนอย่างมีความสุข
5.2.2 อาทรศิษย์
ครูทหารต้องมีความเมตตา รัก เข้าใจ และเอาใจใส่ดูและศิษย์ว่าจะสามารถทำงานได้สำเร็จหรือไม่ จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไม่ดูถูกหรือย่ำยีศิษย์ ยอมรับความแตกต่าง และช่วยเหลือทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิต
5.2.3 คิดดี
ครูทหารต้องมีความคิดที่ดี คิดแต่ในสิ่งที่ดี มีความคิดเป็นบวกต่อศิษย์ ต่อการสอน ต่อวิชาชีพ ต่อกองทัพ ต่อเพื่อนร่วมงาน และให้คิดเสมอว่าครูทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีคุณค่า ซึ่งความคิดบวกนั้น จะส่งผลให้การทำงานของครูมีประสิทธิภาพ
5.3 คุณลักษณะด้านการแสดงออก
5.3.1 มีคุณธรรม
ครูทหารที่ดีจะต้องแสดงออกถึงการมีคุณธรรม เช่น ความยุติธรรมในการสอน การประเมินผล ความอดทน การระงับอารมณ์ได้ดี ไม่นินทาว่าร้ายหรือทำร้ายผู้อื่น เสียสละ ประพฤติตน
ให้ถูกต้องตามระเบียบ ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม
5.3.2 ชี้นำสังคม
ครูทหารที่ดีนอกจากจะต้องชี้นำศิษย์ในทางที่ดีแล้ว ยังต้องสามารถชี้นำกองทัพ ชี้นำสังคม ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้สังคมรอบข้างเป็นสังคมที่ดีงาม
5.3.3 อบรมจิตใจ
การพัฒนาศิษย์เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากการพัฒนาวิชาการแล้ว ครูทหารจะต้องพัฒนาจิตใจของศิษย์ ให้ข้อคิดที่ดี ๆ อบรม ตักเตือน สั่งสอนศิษย์ให้ประพฤติดี ดำรงอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
5.3.4 วาจางาม
คำพูดดี ๆ ย่อมทำให้ศิษย์เกิดกำลังใจ มีความมุมานะในการเรียน ไม่นินทาว่าร้าย หรือพูดแล้วส่งผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น พูดให้ถูกต้องตามกาลเทศะ พูดเพื่อเสริมกำลังใจในการเรียนของศิษย์
5.4 คุณลักษณะทางทหาร
ครูทหารที่ดีจะต้องแสดงออกถึงการมีบุคคลิกและลักษณะภาวะผู้นำทางทหารที่ดี ทั้งด้านความรู้วิชาการ การแสดงออกภายนอก การตัดสินใจ และกระบวนการคิดต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความศรัทธาและไม่หยุดคิดหรือรั้งรอที่จะปฏิบัติตามคำสอนสั่งของครูทหารคนนั้น
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2552). คู่มือการปฏิบัติงานข้าราชการครู. กรุงเทพฯ.
กุลิสรา จิตรชญาวณิช. (2561). การศึกษาและความเป็นครูไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 จำนวน 1000 เล่ม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ในโพสนี้ ผู้เขียนขอจบการนำเสนอเพียงเท่านี้ ในโพสต่อไปจะได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ “หลักการสอน” คอยติดตามกันนะครับ
….