ผู้เขียนไม่รู้จัก Deep listening น่าอายไหมคะ เคยเห็นแต่หลักสูตรพัฒนาการพูด แต่หัวข้อนี้กลับมาพัฒนาการฟัง ที่ต้องเป็น “การฟังอย่างลึกซึ้ง” การสัมมนาในหัวข้อนี้ดำเนินการโดย อาจารย์ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ สำนักวิชาศึกษาทั่วไป สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มแรกก่อนเข้าเนื้อหาผู้สอนถามผู้เข้าร่วมสัมมนาถึงความคาดหวังที่จะได้จากหัวข้อเรียนนี้ แทบไม่น่าเชื่อ ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งแน่นอนต้องเป็นครู อาจารย์กันทั้งนั้น ยังไม่ค่อยรู้จัก “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ส่วนใหญ่ก็เลยอยากรู้ว่ามันคืออะไร ทำอย่างไร ผลที่ได้รับดีอย่างไร
ผู้สอนอธิบายโดยใช้กิจกรรม :
กิจกรรมที่ ๑ ให้จับคู่
คนที่ ๑ พูดเรื่องที่ผ่านมาในช่วงหนึ่งสัปดาห์ คนที่ ๒ หารูปภาพที่ผู้สอนนำมาซ่อนไว้ในห้องสัมมนาใครหาได้เยอะมีรางวัลให้ และ ต้องเล่าเรื่องที่คนที่ ๑ พูดให้ฟังด้วย
สรุปผลการทำกิจกรรม คนที่ ๑ (คนพูด) รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความสนใจจากคนที่ ๒ (คนฟัง) จึงรู้สึกกังวลใจว่าคนที่ ๒ จะเข้าใจประเด็น เนื้อหาที่เล่าไหม
กิจกรรมที่ ๒ ให้จับคู่
ครั้งที่ ๑ คนที่ ๑ และคนที่ ๒ เอามือมาวางเหมือนประกบกัน แต่ต้องไม่ให้มือแตะโดนกัน จากนั้นให้คนที่ ๑ เคลื่อนมือไปในทิศทางหรือท่าทางใดก็ได้ แต่มือของคนที่ ๒ ต้องตามเหมือนประกบไปด้วยกัน (ระวังอย่าให้มือโดนกัน)
ครั้งที่ ๒ คนที่ ๑ และคนที่ ๒ เอามือมาวางประกบกัน คราวนี้ให้มือแตะโดนกันด้วย จากนั้นให้คนที่ ๑ เคลื่อนมือไปในทิศทางหรือท่าทางใดก็ได้ โดยมือของคนที่ ๒ ต้องตามประกบไปด้วยกัน
สรุปผลการทำกิจกรรม การทำในครั้งที่ ๒ การเคลื่อนที่ของมือระหว่างคนที่ ๑ และ ๒ ทำได้ดี ไม่มีข้อผิดพลาดตามการเคลื่อนที่ไม่ทัน
สรุปกิจกรรมทั้ง ๒ กิจกรรมคือ
๑. การฟังผู้พูดอย่างตั้งใจ เกิดประโยชน์ในการสื่อสารที่ดีกว่า
๒. การสัมผัส หรือการเข้าถึงจิตใจมีผลต่อการชักนำในทิศทางที่ต้องการ
หลังจากทำกิจกรรมเสร็จ ผู้เรียนสามารถเข้าใจความหมายของ การฟังอย่างลึกซึ้งได้ทันที โดยผู้สอนยังไม่ได้เอ่ยถึงทฤษฎี เป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทดลองทำ แล้วสรุปความเข้าใจเอง ในขณะที่สุดท้ายผู้สอนก็นำทฤษฎีมาบอกเล่าพร้อมยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจมากขึ้น การสอนในลักษณะเช่นนี้ต้องอาศัยกระบวนการโค้ชชิ่งที่มีประสิทธิภาพ และกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้งว่าผู้เรียนต้องการหรือคาดหวังอะไรกับการเข้าสัมมนาในเรื่องนี้
ภาคการศึกษาใหม่ แต่คุณครู ส่วนใหญ่มักยังยืนหยัดคงที่ไม่เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนที่เคยใช้ มักจะอนุรักษ์ความดั้งเดิมเอาไว้เหนียวแน่นไม่ยอมเปลี่ยนแปลง บทบาทของครูก็ดำเนินไปแบบเดิมๆ คาดหวังให้นักเรียนต้องฟังและเชื่อตามคำสอน…ห้ามเถียงห้ามโต้แย้ง สวนทางกับนักเรียนที่มีทักษะในการท่องโลกอินเตอร์เน็ตซึ่งสะสมข้อสงสัยไว้มากมายต้องการให้คุณครูช่วยชี้แนะดับข้อสงสัย หากครูปรับเปลี่ยนบทบาท ให้มีลักษณะของการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังโดยไม่ตัดสินถูกผิดด้วยความคิดเห็นของตนเอง ไม่ตอบสนองแบบทันทีทันใด และขณะฟังไม่พูดแทรก ฟังด้วยความเมตตา สังเกตทัศนคติ มุมมอง ความคิด เมื่อได้รับความไว้ใจ เชื่อใจ แล้วจึงค่อยปลูกฝัง ความรู้ วิธีคิดที่ดีและถูกต้อง รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่นความเสียสละ การรู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
จบแล้วค่ะสำหรับ ประสบการณ์โดยย่อ (ขอบอกว่าย่อจริงๆ ยังมีประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ อีกมากมาย) ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านคงนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับบทบาทของตนเองในการสอน หรือการทำงานอื่นๆ และหากสนใจก็หาความรู้เพิ่มเติมจากการท่องโลกอินเตอร์เน็ต ให้ทันสมัยสมกับเป็นการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ รวมทั้งในอนาคต รร.นร.น่าจะส่งบุคลากรไปสัมมนา SoTL ร่วมกับเค้าทุกปี เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เหมาะกับยุคสมัยที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด และมีการใช้เครื่องมือ Artificial Intelligent (AI) ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
บันทึก SoLT5 ตอนที่ 3 Deep listening