๘. การผูกเชือกและเงื่อน
การผูกเชือกและเงื่อน ตามแบบราชนาวี แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
ก. การผูกเชือกเล็ก
๑) ผูกเจ๊ก (Timber Hitch)
๒) ผูกเจ๊กลากซุง (Timber Hitch & Half Hitch)
๓) ผูกสอดสร้อย (Reef Knot)
๔) ผูกยายแก่ (Carrick Bend)
๕) ผูกขัดสมาธิห่วงชั้นเดียว (Sheet Bend or Swab Hitch)
๖) ผูกขัดสมาธิห่วงสองชั้น (Double Sheet Bend)
๗) ผูกตีนแมว (Caspaw)
๘) ผูกเลขแปด (Figure of Eight Knot)
๙) ผูกตราสังข์ (Marling Hitch)
๑๐) ผูกรัสโต (Gasket Knot)
๑๑) ผูกเซ็กเล็ก (Ceiling Knot)
๑๒) ผูกเซ็กใหญ่ (Hoop Knot)
๑๓) ผูกกระดานชุลี (Lowering Hitch)
๑๔) ผูกถังตั้ง (Sling for a Barrel)
ข. การผูกเชือกใหญ่
๑) ผูกหักคอชั้นเดียว (Single Knot)
๒) ผูกหักคอสองชั้น (Double Knot)
๓) ผูกตะกรุดเบ็ดชั้นเดียว (The Clove Hitch)
๔) ผูกตะกรุดเบ็ดสองชั้น (Rolling Hitch)
๕) ผูกตะกรุดเบ็ดกลืนชั้นเดียว (Round Turn and Two Half Hitch)
๖) ผูกตะกรุดเบ็ดกลืนสองชั้น(Fisher Man’s Bend)
๗) ผูกกะชั้นเดียว (Bowline Knot)
๘) ผูกกะสองชั้น (Bowline on the Bight)
๙) ผูกกะบ่วง (Running Bowline)
๑๐) ผูกกะสองห่วง (French Bowline)
๑๑) ผูกร่น (Sheepshank)
๑๒) ผูกต่อกะ (Two Bowline)
๑๓) ผูกต่อหักคอ (Hawser Bend)
วิธีผูกเชือกเงื่อนต่าง ๆ ตามแบบราชนาวี
ก. การผูกเชือกเล็ก
๑) ผูกเจ๊ก (Timber Hitch)
ประโยชน์ ใช้ในการผูกปลายเชือกเข้ากับเสา หลัก ท่อนไม้ หรือต้นไม้ เพื่อให้แน่นและแก้ง่าย รูดออกได้ง่าย และผูกหีบห่อที่ไม่สู้หนักนัก ผูกของที่บรรจุกระสอบ
วิธีผูก
ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็น มือซ้ายจับหางเชือกตาย พาดหางเชือกเป็นไปบนราว มือขวาลอดใต้ราวไปรับหางเชือกเป็น ดึงเข้าหาตัวทางขวา
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นทับหางเชือกตายไปทางซ้าย มือขวาลอดใต้เชือกตายไปทางซ้าย รับหางเชือกเป็นดึงย้อนกลับมาทางขวา นำหางเชือกเป็นสอดพันตัวเอง (โคนเชือกเป็น) จากขวาไปซ้าย ๒ รอบ
๒) ผูกเจ๊กลากซุง (Timber Hitch & Half Hitch)
ประโยชน์ ใช้ในการผูกสำหรับดึงและลากสิ่งของยาว ๆ เช่น ซุง การผูกวิธีนี้เชือกรุดเลื่อนออกไม่ได้ ยิ่งดึงยิ่งแน่น
วิธีผูก
ขั้น ๑ ผูกลักษณะเดียวกับผูกเจ๊ก เมื่อผูกเจ๊กเรียบร้อยแล้ว จะเหลือเชือกตามอยู่ที่มือซ้าย
ขั้น ๒ มือขวาจับหางเชือกตายพาดไปตามราวทางขวา มือซ้ายวางทับเชือกตายให้ห่างจากเงื่อนเจ๊กพอควร มือขวาจับหางเชือกตายลอดใต้ราวจากด้านในตัวออกนอกตัว อ้อมขึ้นบนราว แล้วแทงลอดใต้เชือกตายที่มือซ้ายวางทับอยู่เข้าหาตัว
ขั้น ๓ มือขวาจับหางเชือกตาย ดึงให้รับกับราวผูกเชือก โดยลากไปทางขวาตามราว
หมายเหตุ การทดสอบ เมื่อแก้ทางด้านผูกเจ๊กออกก่อนแล้ว เมื่อรวมกันกับด้านลากซุง จะต้องเป็นเงื่อนตะกรุดเบ็ดชั้นเดียวจึงจะถูกต้อง (ฉะนั้น การผูกเริ่มต้นของเงื่อนเจ๊กลากซุง ควรให้ นักเรียน ผูกตะกรุดเบ็ดกับราวเสียก่อน แล้วจึงแยกเงื่อนตะกรุดเบ็ดออก ผูกเจ๊ก ด้านหางเชือกเป็น)
๓) ผูกสอดสร้อย (Reef Knot)
ประโยชน์ ใช้ในการต่อเชือกชั่วคราว หรือถักเป็นตาข่าย มีความมั่งคง แน่นดี ไม่รูดได้ง่าย
วิธีผูก
ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็น มือซ้ายจับหางเชือกตาย มือทั้งสองห่างจากปลายเชือก ประมาณ ๖ นิ้ว
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นทับหางเชือกตาย ไขว้กันเป็นรูปเครื่องหมายคูณ เอานิ้วชี้ซ้ายกดหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตายเข้าหาตัว (ตอนนี้หางเชือกเป็นอยู่ทางซ้าย หางเชือกตายอยู่ทางขวา)
ขั้น ๓ ใช้มือซ้ายจับหางเชือกเป็น มือขวาจับหางเชือกตาย ให้หางเชือกทั้งสองห่างจากนิ้วมือพอควร
ขั้น ๔ นำหางเชือกเป็นที่มือซ้ายทับหางเชือกตายที่มือขวา (เป็นลักษณะรูปเครื่องหมายคูณ)
ขั้น ๕ ใช้นิ้วชี้กดหางเชือกเป็น (ซึ่งตอนนี้อยู่ทางมือขวา) ลอดใต้โคนเชือกตายเข้าหาตัว แล้วดึงหางเชือกทั้งสองให้แน่น
๔) ผูกยายแก่ (Carrick Bend)
ประโยชน์ ใช้ในการต่อเชือกซึ่งต้องการกำลังดึงมาก
วิธีผูก
ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็น มือซ้ายจับหางเชือกตาย ทำหางเชือกตาย ให้เป็นห่วง โดยให้หางเชือกตายอยู่ล่างตัวมันเอง และชี้ไปทางซ้ายของโคนเชือกตาย (มือเป็นลักษณะคล้ายรูปเครื่องหมายคูณ ซึ่งส่วนที่เป็นห่วงชี้ไปทางขวา)
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นพาดทับบนห่วงดังกล่าว ไปทางซ้ายมือ โดยให้ขนานกับหางเชือกตาย
ขั้น ๓ นำหางเชือกเป็นลอดใต้หางเชือกตายเข้าหาตัว แล้วทับโคนเชือกตายไปทางด้านล่างของห่วง
ขั้น ๔ นำหางเชือกเป็นแทงขึ้นให้ชิดด้านในตัว แล้วแทงลงในห่วงด้านนอกตัว โดยให้จัดกับโคนเชือกเป็นซึ่งได้พาดทับบนห่วงในตอนแรก ดึงหางเชือกทั้งสองให้แน่น
๕) ผูกขัดสมาธิห่วงชั้นเดียว (Sheet Bend or Swab Hitch)
ประโยชน์ ใช้ผูกกับของที่เป็นห่วง เช่น ห่วงธง หรือห่วงเชือก เป็นต้น
วิธีผูก
ขั้น ๑ พับหางเชือกตายเข้าหาตัวให้เป็นห่วง ใช้มือซ้ายกำห่วงดังกล่าว โดยคว่ำมือและให้นิ้วซ้ายทับบนห่วงชี้ไปทางขวาของตัวเอง
ขั้น ๒ มือขวาจับหางเชือกแทงขึ้นในห่วงด้านในตัว แล้วพาดทับนิ้วชี้ซ้ายไปข้างหน้า
ขั้น ๓ มือขวาล้วงเข้าในห่วงใหญ่ใต้มือซ้ายไปรับหางเชือกเป็นดึงเข้าหาตัว
ขั้น ๔ นำหางเชือกเป็นแทงตามนิ้วชี้ซ้าย จากโคนนิ้วออกตามปลายนิ้ว
ขั้น ๕ ดึงโคนเชือกเป็นทางขวา โดยชักนิ้วชี้ซ้ายออกก่อน
๖) ผูกขัดสมาธิห่วงสองชั้น (Double Sheet Bend)
ประโยชน์ เช่นเดียวกับเงื่อนขัดสมาธิห่วงชั้นเดียว แต่เพิ่มความแน่น และมั่นคงยิ่งขึ้นไม่หลุดง่าย
วิธีผูก
ขั้น ๑ – ๔ เหมือนกับเงื่อนขัดสมาธิห่วงชั้นเดียว
ขั้น ๕ มือขวาล้วงเข้าในห่วงใหญ่ใต้มือซ้ายอีกครั้งหนึ่ง รับหางเชือกเป็นดึงเข้าหาตัว
ขั้น ๖ นำหางเชือกเป็นแทงตามนิ้วชี้ซ้าย จากโคนนิ้วออกตามปลายนิ้ว
ขั้น ๗ ดึงโคนเชือกเป็นไปแทงขวาให้แน่น โดยชักนิ้วชี้ซ้ายออกก่อน
๗) ผูกตีนแมว (Caspaw)
ประโยชน์ ให้ทำห่วงยกกระสอบข้าวสาร หรือใช้แทนสลิงเพื่อนำขอรอกมาเกี่ยว
วิธีผูก
ขั้น ๑ แบ่งเชือกออกเป็น ๓ ส่วน มือขวาจับส่วนที่ ๒ มือซ้ายจับส่วนที่ ๑ โดยการคว่ำมือ ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจับเชือก
ขั้น ๒ บิดเชือกที่มือขวาและซ้ายเข้าหาตัว ให้เป็นห่วงรูปหูกระต่าย ทั้งสองข้าง ข้างละ ๑ รอบ
ขั้น ๓ จับหูกระต่ายทั้งคู่เข้าทับกัน ใช้นิ้วหัวมือมือซ้ายสอดไว้ในห่วงรูปหูกระต่าย
ขั้น ๔ มือขวาจับหางเชือกทั้งสองหางดึง
๘) ผูกเลขแปด (Figure of Eight Knot)
ประโยชน์ ใช้ผูกหางเชือกให้เป็นปม ผูกหางเชือกที่ร้อยรอกเพื่อป้องกันมิให้เชือกหลุดจากช่องที่ร้อยรอก
วิธีผูก
ขั้น ๑ มือซ้ายจับโคนหางเชือกเป็น มือขวาจับหางเชือกเป็นพับเข้าหาตัวทางขวาประมาณ ๖ นิ้ว
ขั้น ๒ มือขวาจับหางเชือกเป็นอ้อมเชือกตายไปข้างหน้า แล้วพันรอบเชือกตายไป ๑ รอบ (ตอนนี้จะเกิดห่วงที่มือซ้ายจับ)
ขั้น ๓ แทงหางเชือกเป็นขึ้นในห่วงที่มือซ้ายจับเข้าหาตัว มือซ้ายปล่อยจากห่วงมาจับหางเชือกตาย มือขวาจับหางเชือกเป็น ดึงหางเชือกทั้งสองจนเงื่อนขบกันแน่น
๙) ผูกตราสังข์ (Marling Hitch)
ประโยชน์ ใช้ผูกของที่เป็นห่อ หรือม้วน เช่น เปล หรือม้วนผ้าใบ
วิธีผูก
ขั้น ๑ ทาบเชือกตายบนราว ให้หางเชือกตายชี้ไปทางซ้ายมือ โดยใช้มือซ้ายกดไว้ แล้วเอาหางเชือกเป็นพาดไปทางด้านหน้าราว
ขั้น ๒ มือขวาลอดใต้ราว ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว แล้วนำหางเชือกเป็นทับเชือกตายไปด้านหน้าราว
ขั้น ๓ นำหางเชือกเป็นสอดลอดใต้เชือกตายจากด้านหน้าราว แล้วเอามือขวาดึงหางเชือกเป็นไปทางขวาตามราว
ขั้น ๔ มือซ้ายปล่อยจากการจับเชือกตายที่เดิม เลื่อนมาจับเชือกตายทางด้านขวามือ กดไว้ให้ห่วงจากเลื่อนที่ ๑ ประมาณ ๑ ฝ่ามือ
ขั้น ๕ พาดหางเชือกเป็นไปทางด้านหน้าราว ใช้มือขวาลอดใต้ราว ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว
ขั้น ๖ นำหางเชือกเป็นทับเชือกตายไปด้านหน้าราว แล้วสอดหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตาย จากด้านหน้าราวดึงไปทางขวาตามราว และทำเชือกเงื่อนที่ ๑ ที่ ๒ นี้ต่อไปโดยตลอดจนกว่าจะสุดความยาวของสิ่งของที่ต้องการผูก
๑๐) ผูกรัสโต (Gasket Knot)
ประโยชน์ ใช้ผูกกับของกลมหรือแบน เช่น เสา กระดาน เพื่อยกขึ้น – ลง และสำหรับใช้ผูกเชือกชักใบ เป็นต้น
วิธีผูก
ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็น มือซ้ายจับหางเชือกตาย นำหางเชือกเป็นพันราวจากด้านบนลงข้างล่าง โดยพันเรียงเส้นไปทางขวาตามราว ๓ รอบดึง หางเชือกเป็นเข้าหาตัว
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นทับเชือกที่พันราวทั้งหมดไปทางซ้าย
ขั้น ๓ สอดโคนหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกที่พันราวทั้งหมด จากซ้ายไปขวาให้เป็นรูปห่วงพอประมาณ
ขั้น ๔ มือซ้ายจับหางเชือกตายดึงให้แน่น มือขวากดอยู่ที่เงื่อน
๑๑) ผูกเซ็กเล็ก (Ceiling Knot)
ประโยชน์ ใช้ผูกเชือกมุมผ้าเพดาน หรืออย่างอื่นตามสมควร หรือของที่ต้องแขวน
วิธีผูก
ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็น มือซ้ายจับหางเชือกตาย นำหางเชือกเป็นพาดไปทางด้านหน้าราว ให้หางเชือกตายที่มือซ้ายเหลือไว้ประมาณ ๖ นิ้ว
ขั้น ๒ มือขวาลอดใต้ราวจับหางเชือกเป็นดึงเข้าหาตัวทางขวา
ขั้น ๓ อ้อมหางเชือกเป็นไปทางด้านหน้าของหางเชือกตาย แล้วพาดทับหางเชือกตายไปทางด้านซ้าย
ขั้น ๔ ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว แล้วลอดใต้ราวทางด้านซ้ายของหางเชือกตายจากด้านในตัวออกนอกตัว ขึ้นบนราว
ขั้น ๕ ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัวทางซ้าย แล้วอ้อมหางเชือกเป็นมาทางด้านหลังของหางเชือกตาย โดยพันไปทางด้านขวา
ขั้น ๖ พันหางเชือกเป็นบนราวทางขวาของหางเชือกตาย โดยให้ลงไปทางด้านหน้าของราว
ขั้น ๗ มือขวาลอดใต้ราวจับหางเชือกเป็นดึงเข้าหาตัวทาวขวา ขั้นต่อไป ให้ปฏิบัติตาม ข้อ ๓ – ๕ จนหมดหางเชือกแล้วสอดโคนหางเชือกเป็นเก็บใต้เชือกที่พันราวทั้งหมด ให้เป็นรูปห่วงพอประมาณ
๑๒) ผูกเซ็กใหญ่ (Hoop Knot)
ประโยชน์ ใช้สำหรับเกี่ยวรอกหรือที่ไม่มีห่วง หรือสลิงที่เกี่ยวรอก เช่น ตามราว ตามต้นไม้
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็น มือซ้ายจับหางเชือกตาย พันหางเชือกเป็นด้ายมือขวา โดยพันจากบนลงล่างไปทางขวาสามรอบ
ขั้น ๒ รอกที่สี่พันหางเชือกเป็นไขว้ไปทางด้านซ้าย โดยทับเชือกที่พันทั้งหมด แล้วปล่อยหางเชือกเป็นไว้นอกราวด้านซ้าย
ขั้น ๓ มือซ้ายปล่อยหางเชือกตาย ไปจับเชือกเป็นซึ่งที่พันเป็นรอบที่สี่บนราวด้านซ้าย แล้วดึงเข้าหาตัวให้เกิดเป็นห่วงขึ้นเล็กน้อย
ขั้น ๔ นำมือขวาล้วงในห่วงที่เกิดขึ้นดังกล่าว แล้วลอดใต้ราวไปรับหางเชือกเป็นซึ่งอยู่นอกราวด้านซ้ายดึงขึ้น พร้อมกับให้มือซ้ายปล่อยจากห่วงไปจับหางเชือกตาย และรวบหางเชือกตายเข้ากับหางเชือกเป็นไว้ด้วยมือซ้าย
ขั้น ๕ มือขวามาจับเชือกที่พันราวด้านใต้ ๒ เส้นกลาง เกี่ยวให้หย่อนลงมาพอสมควร
ขั้น ๖ ผูกหางเชือกทั้งสองเป็นเงื่อนตาย (เงื่อนอะไรก็ได้)
๑๓) ผูกกระดานชุลี (Lowering Hitch)
ประโยชน์ ใช้ผูกกับกระดาน สำหรับห้อยหย่อนลงข้างเรือ เพื่อนั่งทาสี ลับสี หรือ เคาะสนิมข้างเรือ
วิธีผูก
ขั้น ๑ จับหางเชือกเป็นด้วยมือขวา หางเชือกตายด้วยมือซ้าย เอาหางเชือกเป็นพาดไปบนราว
ขั้น ๒ มือขวาลอดใต้ราวไปจับหางเชือกเป็น ดึงเข้าหาตัวทางขวา
ขั้น ๓ นำหางเชือกเป็นทับหางเชือกตายไปทางซ้าย สอดหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตายเข้าในห่วงจากซ้ายไปขวา แล้วดึงเข้าหาตัว (จะเกิดเป็นเลื่อนหักคอชั้นเดียว)
ขั้น ๔ จับโคนเชือกที่เป็นที่ลอดใต้เชือกตายหย่อนลง และหนีบให้เป็นรูปหูกระต่ายด้วยมือซ้าย ลอดใต้ราวไปข้างหน้า
ขั้น ๕ มือขานำหางเชือกเป็นพาดไปบนราว แล้วเทลงในห่วงรูปหูกระต่ายที่มือซ้ายจับอยู่
ขั้น ๖ มือขวาจับหางเชือกเป็นดึงขึ้น มือซ้ายปล่อยห่วงรูปหูกระต่าย มาจับหางเชือกตายดึงขึ้น
๑๔) ผูกถังตั้ง (Sling for a Barrel)
ประโยชน์ ใช้ผูกกับสิ่งของที่มีรูปร่างคล้ายถังเพื่อยกขึ้น หรือหย่อนลงทางตั้ง
วิธีผูก
ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็น มือซ้ายจับหางเชือกตาย วางเชือกลงกับพื้น แล้วใช้เท้าขวาเหยียบไปตรงกึ่งกลางเชือก
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นทิ้งไปทางด้านในของหางเชือกตาย โดยทิ้งไปทางซ้าย
ขั้น ๓ มือซ้ายจับหางเชือกตาย พ้นอ้อมไปทางด้านหลังของขาขวา แล้วส่งหางเชือกให้มือขวา
ขั้น ๔ มือขวาจับหางเชือกตายแทงลอดใต้เชือกเป็น (ซึ่งพาดทับอยู่บนหลังเท้าขวา) จากด้านปลายเท้าเข้าหาตัว แล้วดึงขึ้นมาตามหน้าแข้ง
ขั้น ๕ มือซ้ายไปจับหางเชือกเป็น
ขั้น ๖ ดึงหางเชือกทั้งสองขึ้น
หมายเหตุ การทดสอบว่าจะผูกผิดหรือผูกถูก ให้ถอดเชือกออกจากเท้า โดยการหย่อนให้เงื่อนคลาย แล้วดึงหางเชือกทั้งสองให้เงื่อนรูดเข้าหากัน จะต้องเป็นเงื่อนเลข ๘ จึงจะถูกต้อง
ข. การผูกเชือกใหญ่
๑) ผูกหักคอชั้นเดียว (Single Knot)
ประโยชน์ ใช้ผูกกับเสา ห่วง เพื่อต๋งไว้ชั่วคราว แก้ง่าย และมักนำไปใช้ผูกประกอบกับเงื่อนอื่น ๆ
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็นเข้าทางด้านซ้ายของพุก แล้วดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัวออกทางขวา
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นทับเชือกตายไปทางซ้าย
ขั้น ๓ สอดหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตายขึ้นในห่วง
ขั้น ๔ ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัวให้หางเชือกเป็นห่างจากเงื่อนประมาณ ๑ ศอก
๒) ผูกหักคอสองชั้น (Double Knot)
ประโยชน์ ใช้ผูกกับเสา ขอ ห่วง เพื่อต๋งไว้ในงานหนักกว่า และต้องการความมั่นคงมากกว่าผูกหักคอชั้นเดียว
วิธีผูก ขั้น ๑ – ๔ ทำเหมือนผูกหักคอชั้นเดียว
ขั้น ๕ นำหางเชือกเป็นทับเชือกตายไปทางซ้าย
ขั้น ๖ สอดหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตายขึ้นในห่วง ห่างจากเงื่อนที่ ๑ ประมาณ ๑ ศอก
ขั้น ๗ ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว ให้เหลือหางเชือกเป็นห่างจากเงื่อนที่ ๒ ประมาณ ๑ ศอก
หมายเหตุ การผูกหักคอสองชั้น เมื่อนำเชือกเข้าพุกควรดึงหางเชือกเป็นให้ยาวกว่าผูกหักคอชั้นเดียว
๓) ผูกตะกรุดเบ็ดชั้นเดียว (The Clove Hitch)
ประโยชน์ ใช้ในการผูกเชือกเล็กกับเชือกใหญ่ ซึ่งปล่อยหางเชือกไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีก ใช้ในการผูกกับเสากลม หรือเสาเหลี่ยม เพื่อมิให้รูดหลุดออกได้ง่าย ทั้งแน่นและมั่นคง สะดวกต่อการแก้กับใช้ผูกสิ่งของยกขึ้นลงในเวลาปัจจุบันทันด่วน ถ้าจะให้เงื่อนแน่นยิ่งขึ้นอีก ให้เอาหางเชือกผูกหักคอ แล้วเอาเชือกเล็กผูกหนีบอีกทีหนึ่ง
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็นเข้าทางด้านซ้ายของพุก แล้วดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัวออกทางขวา
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตายไปทางซ้าย
ขั้น ๓ มือซ้ายจับโคนเชือกเป็นยกขึ้น มือขวาจับหางเชือกเป็นพันพุกจากซ้ายไปขวา แล้วดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว
ขั้น ๔ นำหางเชือกเป็นแทงเข้าในห่วงที่มือซ้ายจับไปทางซ้าย โดยทับเชือกตาย
ขั้น ๕ ปล่อยมือขวาจากหางเชือกเป็น มาจับโคนเชือกตาย มือซ้ายไปจับหางเชือกเป็น แล้วดึงแยกจากกันไปทางขวาและซ้าย
หมายเหตุ การผูกตะกรุดเบ็ดทุกเงื่อน ต้องผูกต่อด้วยเงื่อนหักคอสองชั้น
๔) ผูกตะกรุดเบ็ดสองชั้น (Rolling Hitch)
ประโยชน์ เช่นเดียวกับเงื่อนตะกรุดเบ็ดชั้นเดียว แต่แน่นและมั่นคงกว่า
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็นเขาทางด้านซ้ายของพุก ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัวทางขวา แล้วนำหางเชือกเป็นพันพุกจากซ้ายไปขวา ๑ รอบ โดยลอดใต้เชือกตาย
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตายไปทางซ้าย
ขั้น ๓ มือซ้ายจับโคนเชือกเป็นยกขึ้น มือขวาจับหางเชือกเป็นพันพุกจากซ้ายไปขวา แล้วดึงเข้าหาตัว
ขั้น ๔ นำหางเชือกเป็นแทงเข้าในห่วงที่มือซ้ายจับไปทางซ้าย โดยทับเชือกตาย
ขั้น ๕ ปล่อยมือขวาจากหางเชือกเป็น มาจับโคนเชือกตาย มือซ้ายไปจังหางเชือกเป็น แล้วดึงแยกจากกันไปทางขวาและซ้าย
หมายเหตุ การผูกตะกรุดเบ็ดทุกเงื่อน ต้องผูกต่อด้วยเงื่อนหักคอสองชั้น
๕) ผูกตะกรุดเบ็ดกลืนชั้นเดียว (Round Turn and Two Half Hitch)
ประโยชน์ ใช้ผูกกับสิ่งของที่เป็นห่วง เช่น ห่วงสมอ ห่วงโยธากา สำหรับใช้กับเรือเล็ก ถ้าหางเชือกผูกแน่นมิให้รูดได้แล้ว จะแน่นและมั่นคงดี และแก้ได้ง่าย
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็นเข้าทางด้านซ้ายของพุก ดึงเข้าหาตัวทางขวา แล้วพันพุกจากซ้ายไปขวา ๑ รอบ โดยทับเชือกตายดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นทับเชือกตายไปทางซ้าย
ขั้น ๓ สอดหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตายขึ้นในห่วง
ขั้น ๔ ดึงหางเชือกเป็นเข้าตัว ให้หางเชือกเป็นห่างจากเงื่อนประมาณ ๑ ศอก
หมายเหตุ เมื่อผูกเสร็จแล้ว เงื่อนนี้จะเป็นหักคอสามครั้ง
๖) ผูกตะกรุดเบ็ดกลืนสองชั้น (Fisher Man ’s Bend)
ประโยชน์ ใช้ผูกสิ่งของเช่นเดียวกันกับผูกตะกรุดเบ็ดกลืนชั้นเดียว สำหรับเรือที่มีขนาดใหญ่กว่า ถ้าหางเชือกผูกหนีบแน่ดีแล้ว การผูกตามวิธีนี้จะแน่นและมั่นคงดีกว่าผูกตะกรุดเบ็ดกลืนชั้นเดียว แก้ออกได้ง่ายเช่นเดียวกัน
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็นเข้าทางด้านซ้ายของพุก ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัวออกทางขวา แล้วพันพุกจากซ้ายไปขวา ๑ รอบ โดยทับเชือกตาย ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นทับเชือกตายไปทางซ้าย ดึงเชือกที่พันพุกทั้งหมดให้ห่างจากพุก ประมาณ ๖ นิ้ว
ขั้น ๓ มือซ้ายจับหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตาย แล้วแทงขึ้นในห่วงซึ่งเกิดจากการดึงเชือกที่พันพุกทั้งหมดดังกล่าวใน ขั้น ๒
ขั้น ๔ มือขวาจับหางเชือกเป็นดึงเข้าหาตัว
หมายเหตุ เสร็จแล้วผูกหักคอสองชั้น เงื่อนนี้ไม่จำเป็นต้องติดแน่นกับพุก
๗) ผูกกะชั้นเดียว (Bowline Knot)
ประโยชน์ ใช้ในการผูกสิ่งที่รูดไปมาได้ หรือกับสิ่งของที่จะไม่ให้หลุด และรูดออกได้ง่าย การผูกแบบนี้ใช้การได้มาก เงื่อนแน่นดีไม่รูดหลุด และแก้ออกได้ง่าย ที่ใช้กันมาก คือ ผูกเรือกับห่วง เสา หรือหลักในน้ำ ผูกคล้องเข้ากับหลัก หรือพุกผูกเรือ ใช้ต่อเชือกสองเส้นเข้าด้วยกัน สำหรับใช้คนนั่งขึ้นหรือลงไปทำงานข้างเรือ
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็นอ้อมพุกจากซ้ายไปขวา ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นทับเชือกตายไปทางซ้าย สอดหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกตายขึ้นในห่วง ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว (ตอนนี้จะเป็นลักษณะผูกหักคอชั้นเดียว)
ขั้น ๓ มือขวาจับหางเชือกเป็นดึงเข้าหาตัว มือซ้ายจับเชือกตายหย่อนไปข้างหน้าให้เป็นห่วง ตอนนี้หางเชือกเป็นจะเป็นเส้นตรง
ขั้น ๔ เอาหางเชือกลอดใต้เชือกตายไปทางซ้าย
ขั้น ๕ มือขวาจับหางเชือกเป็นแทงลงในห่วงเชือกตาย จากบนลงล่าง
ขั้น ๖ มือขวาจับหางเชือกเป็นดึงเข้าหาพุก มือซ้ายจับเชือกตายดึงเข้าหาตัวเพื่อให้เงื่อนแน่น
๘) ผูกกะสองชั้น (Bowline on the Bight)
ประโยชน์ การผูกเชือกเงื่อนนี้ เป็นการผูกเชือกเปล่า ๆ (ไม่ได้ผูกติดกับสิ่งใด) เพื่อหย่อนลงไปโดยให้คนยืนหรือนั่ง เพื่อโหนตัวลงไปทำงานต่าง ๆ เช่น ดูแนวน้ำของเรือ ทำงานข้างเรือใหญ่ได้ และลับสีตามเสาหรือข้างเรือใหญ่ เป็นต้น
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็น ทบเชือกเข้าหากัน
ขั้น ๒ มือขวาจับหางเชือกด้านที่ทบ วนจากขวาไปซ้าย (ให้เป็นเลข “6”)
ขั้น ๓ สอดหางเชือกด้านที่ทบ โดยการแทงขึ้นในห่วงรูปหัวเลข “6” ให้เชือกเส้นที่ทบเกิดเป็นห่วงรูปก้นถุง (อย่าให้ห่วงรูปก้นถุงเข้าไปติดกับรูปหัวเลข “6”)
ขั้น ๔ แยกหางเชือกด้านที่ทบออกให้เป็นห่วง แล้วพับกลับลงมาทางด้านล่างของก้นถุง
ขั้น ๕ มือขวาจับเชือกทั้งคู่ของก้นถุงขวายกขึ้น มือซ้ายจับเชือกเส้นที่เป็นห่วงซึ่งพับอยู่ด้านล่างสุดของก้นถุงดันลอดใต้ก้นถุงไปข้างหน้า
ขั้น ๖ มือซ้ายกดตรงห่วงรูปหัวเลข “6” มือขวาดึงเชือกทั้งคู่ของก้นถุงด้านขวาเข้าหาตัว ดึงให้รูปหัวเลข “6” รัดตัวจนแน่น (เงื่อนนี้เป็นเงื่อนส่วนบุคคล ห่วงใหญ่ที่เกิดขึ้นสามารถแต่งให้เล็กหรือใหญ่ได้ตามความต้องการ แล้วแต่โอกาสในการใช้งาน)
๙) ผูกกะบ่วง (Running Bowline)
ประโยชน์ คล้ายกับผูกกะ แต่ได้ผลดียิ่งขึ้นไป คือ ใช้ผูกเป็นเงื่อนรูดเข้าไปกับสิ่งที่ผูกได้ด้วยบ่วง
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็นเข้าทางด้านซ้ายของพุก ดึงหางเชือกเป็นเข้าหาตัว
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นลิดใต้เชือกตายไปทางซ้าย ดึงหางเชือกเป็นพาดทับเชือกตาย และโคนเชือกเป็นไปทางขวา
ขั้น ๓ จับหางเชือกเป็นหักลง และลอดใต้โคนเชือกเป็นแทงขึ้นในห่วง
ขั้น ๔ มือซ้ายจับโคนเชือกเป็นเหนือห่วงโดยก่ำคว่ำ และบิดสันมือลงจนเชือกเป็นหย่อนตามพร้อมกับมือขวาจับหางเชือกเป็นต้นไปทางพุกให้โคนเชือกเป็นพลิกขึ้นเป็นห่วง (ตอนนี้หางเชือกเป็นชี้เข้าหาพุก)
ขั้น ๕ มือซ้ายจับห่วงที่เกิดขึ้นหนีบไว้ มือขวานำหางเชือกเป็นลอดใต้เชือกเป็นไปทางขวา แล้วแทงลงในห่วงที่มือซ้ายจับเข้าหาตัว
๑๐) ผูกกะสองห่วง (French Bowline)
ประโยชน์ สำหรับให้คนนั่งออกไปทำงานนอกเรือ เช่น เคาะสนิม ทาสี แก้เชือกทุ่นสมอที่พันหัวสมอโดยเอาหลายเชือกอีกด้านหนึ่งต๋งไว้กับที่ที่มั่งคงข้างบน
วิธีผูก ขั้น ๑ มือขวาจับหางเชือกเป็นวนหางเชือกเป็นทับเชือกตายให้เป็นรูปหัวเลข “6”
ขั้น ๒ นำหางเชือกเป็นแทงขึ้นในห่วงรูปหัวเลข “6” แล้วนจากขวาไปซ้าย (ตอนนี้จะเกิดเป็นห่วงรูปก้นถุงโดยพอประมาณ ๑ ห่วง)
ขั้น ๓ นำหางเชือกเป็นแทงขึ้นในห่วงรูปหัวเลข “6” อีกครั้งหนึ่ง (ตอนนี้จะเกิดเป็นห่วงรูปก้นถุงซึ่งเป็นห่วงที่ ๒ แต่เล็กกว่าห่วงแรกเล็กน้อย)
ขั้น ๔ นำหางเชือกเป็นซึ่งแทงออกจากห่วงรูปหัวเลข “6” ทับเชือกตายไปทางซ้าย แล้วลอดใต้เชือกตายจากซ้ายไปขวา
ขั้น ๕ นำหางเชือกเป็นแทงลงในห่วงรูปหัวเลข “6” เข้าหาตัว โดยทับโคนเชือกเป็นลงทางซ้ายให้เป็นรูปเครื่องหมายคูณ
๑๑) ผูกร่น (Sheepshank)
ประโยชน์ ผูกเชือกที่ยาวร่นให้สั้นเข้า หรือผูกเชือกตรงที่ชำรุดโดยไม่ต้องตัดเชือก
วิธีผูก ขั้น ๑ แบ่งเชือกทบกันให้เป็น ๓ ส่วน พอสมควร เหลือหางเชือกทั้ง ๒ ข้าง ไว้ประมาณ ๑ เมตร ให้หางเชือกทั้งสองอยู่คนละข้างของเชือกที่ทบหางทางด้านขวามืออยู่ด้านล่าง หางเชือกทางด้านซ้ายมืออยู่ด้านบน
ขั้น ๒ มือขวาจับหางเชือกด้านที่อยู่ทางด้านขวา พ้นจากขวาไปซ้ายลอดใต้ตัวมันเองให้เป็นห่วง นำหางเชือกด้านที่ทบแทงขึ้นในห่วง แล้วดึงหางเชือกให้แน่น
ขั้น ๓ มือซ้ายจับหางเชือกที่อยู่ทางด้านซ้าย พ้นจากซ้ายไปขวาโดยลอดใต้ตัวมันเองให้เป็นห่วง นำหางเชือกด้านที่ทบแทงขึ้นในห่วง แล้วดึงหางเชือกให้แน่น
๑๒) ผูกต่อกะ (Two Bowline)
ประโยชน์ ใช้ในการต่อเชือกชั่วคราว เพื่อให้แน่นและแก้ได้ง่าย
วิธีผูก ขั้น ๑ แบ่งหมายเลขออกเป็นดังนี้ คือ หมายเลข ๑ ใช้หมายเลขคี่ ส่วนหมายเลข ๒ ให้หมายเลขคู่
ขั้น ๒ ทั้งสองหมายเลข วิ่งไปเอาเชือกของตัวมา หันหน้าเข้าหากัน ต่างคนต่างต่อกะ (เป็นเงื่อนกะชั้นเดียว)
ขั้น ๓ ทำเหมือนผูกกะชั้นเดียว ตั้งแต่ ขั้น ๑ – ๖
๑๓) ผูกต่อหักคอ (Hawser Bend)
ประโยชน์ ใช้ต่อเชือกใหญ่ สำหรับเงื่อนนี้จะต้องผูกหนีบที่หางเชือกด้วยทุกครั้งเพื่อกันหลุด ใช้ในการดึงได้ดี และแก้ออกได้ง่าย
วิธีผูก ขั้น ๑ แบ่งหมายเลขออกเป็นดังนี้ คือ หมายเลข ๑ ใช้หมายเลขคี่ ส่วนหมายเลข ๒ ใช้หมายเลขคู่
ขั้น ๒ ทั้งสองหมายเลข วิ่งไปเอาเชือกของตัวมา หันหน้าเข้าหากัน ต่างคนต่างต่อหันคอ (เป็นเงื่อนหักคอสองชั้น)
ขั้น ๓ ทำเหมือนผูกหักคอสองชั้น ตั้งแต่ ขั้น ๑ – ๗