การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ นนร.จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ
สารบัญ
หลักการและวิธีการสอน
น.ท. ผศ.สันติ งามเสริฐ อาจารย์ ฝศษ.รร.นร.
การเรียนการสอน เป็นคำที่มักใช้คู่กันและเรียกรวมกันว่า “การเรียนการสอน” ทั้งนี้ เพราะสองคำนี้มีความสัมพันธ์กัน ทั้งการสอนและการเรียนต่างเป็นกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกัน การสอนของครูเป็นกระบวนการที่ตั้งใจทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การสอนที่ดีย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดีตามไปด้วย อาจกล่าวได้ว่าทั้งการสอนและการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์กันในทางบวกนั่นเอง ดังนั้น การสอนอย่างมีหลักการ สอนอย่างคนที่มีความรู้และมีทักษะการสอนที่ดี จะช่วยให้ผู้เรียนนั้นเรียนรู้อย่างมีความหมาย มีคุณค่า ไม่สูญเปล่า อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาในกระบวนการเรียนการสอนอีกด้วย
บทความที่ผ่านมาเรื่อง “ครูทหารมืออาชีพ” ผู้เขียนได้ให้สัญญาว่าจะเขียนบทความเรื่อง “หลักการและวิธีการสอน” ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ได้แก่ 1) ความหมายของการสอน 2) องค์ประกอบของการสอน 3) หลักการสอน 4) การเรียนรู้ และ 5) เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติการสอนกับผู้เรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อทุกท่านพร้อมแล้ว เราไปเริ่มทำความเข้าใจกับหัวข้อแรก คือ ความหมายของการสอน
1. ความหมายของการสอน
การสอนไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การบอกให้ทำ บอกให้จำ ให้จดแต่เพียงอย่างเดียว การสอนมีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น จากการรวบรวมนิยามของคำว่าการสอนจากนักวิชาการด้านการศึกษา พบว่า การสอน หมายถึง กระบวนการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ครูกำหนด ซึ่งต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ของครูผู้สอนควบคู่กันไป สามารถสรุปให้เข้าใจได้ง่ายตามแผนภาพที่ 1
แผนภาพที่ 1 อธิบายความหมายของการสอน (อาภรณ์ ใจเที่ยง, 2553)
1.1 การสอนเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน ข้อนี้ต้องการเน้นที่คำว่า “กระบวนการปฏิสัมพันธ์” การสอนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน การโต้ตอบกันระหว่างครูกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียน และเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั่งนิ่ง ๆ ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งด้านร่างกาย วาจา และทางปัญญา จึงเรียกได้ว่าไม่มีการปฏิสัมพันธ์กัน และก็ไม่จัดว่าเป็นการสอน ทั้งนี้ การจัดสถานการณ์หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ของครูในการสอนนั้น จะต้องเป็นลำดับขั้นตอน มีศิลปะในการสอน เช่น มีการนำเข้าสู่บทเรียน มีขั้นการสอน มีขั้นการสรุปบทเรียน จึงจะถือว่าเป็นกระบวนการ (Process) ดังนั้น การสอนจึงเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนที่ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์
1.2 การสอนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่ครูกําหนดไว้ ข้อนี้ต้องการเน้นที่ “เป้าหมายของการสอน” จำนวน 3 ด้าน ได้แก่
1.2.1 ด้านความรู้ ความคิด หรือด้านพุทธิพิสัย (Knowledge) กล่าวคือ ผู้เรียนเกิดความเจริญงอกงามทางสติปัญญา เกิดการพัฒนาขึ้นจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ คิดไม่เป็น เปลี่ยนเป็นมีความรู้
มีความเข้าใจ มีความคิดและคิดเป็น เช่น จากการอ่านหรือเขียนไม่ได้/ไม่เป็นเปลี่ยนมาเป็นอ่านออกเขียนได้ แสดงความคิดเห็นได้ ตัดสินใจแก้ปัญหาได้ ประเมินค่าและวิจารณ์ในเรื่องต่าง ๆ ได้ เป็นต้น
1.2.2 ด้านเจตคติ หรือด้านจิตพิสัย (Attitude) เกี่ยวกับความรู้สึกเห็นคุณค่า ความดี ความงาม ผู้เรียนเกิดการพัฒนาในด้านนี้ เช่น รู้สึกซาบซึ้งในคำสอนที่ได้ฟังได้การบรรยาย/บอกกล่าวของครู การเห็นคุณค่าของการตั้งใจเรียน เกิดการยอมรับที่จะช่วยกันประพฤติปฏิบัติในการเป็นนักเรียนทหารที่ดีเป็นต้น
1.2.3 ด้านทักษะ หรือด้านทักษะพิสัย (Psychomotor) หมายถึง ความสามารถกระทําได้ ปฏิบัติได้ ถูกต้องตามหลักการในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับการฝึก เช่น สามารถว่ายน้ำได้ ยิงปืนได้และแม่น นำเรือได้ เดินเรือได้ ฯลฯ ผู้เรียนจะเกิดทักษะ ถ้าได้ฝึกปฏิบัติบ่อย ๆ
ดังนั้นในการสอนจึงต้องตั้งจุดประสงค์ให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน มิใช่ด้านใด ด้านหนึ่งเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการสอนที่สมบูรณ์แบบ ตลอดจนมุ่งให้ผู้เรียนสามารถนําประสบการณ์ใหม่ไปใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
1.3 การสอนจะบรรลุจุดประสงค์ได้ดีต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ของผู้สอน ข้อนี้ต้องการเน้นที่ “สมรรถนะของผู้สอน” กล่าวคือ เป็นครูต้องรู้ศาสตร์อย่างมีศิลป์ หมายความว่า ผู้เป็นครูจะต้องรู้จักศาสตร์การสอน ได้แก่ ความรู้วิชาการ ความรู้เกี่ยวกับวิธีการสอน หลักการสอน จิตวิทยาการเรียนรู้ ฯลฯ และรู้จักใช้ศิลป์การสอน ซึ่งเป็นเทคนิคการสอนได้เป็นอย่างดี ถ้าครูมีความรู้ดีทั้งวิชาการและวิชาชีพครูแล้วสามารถประยุกต์ความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีศิลปะ ก็กล่าวได้ว่า ครูผู้นั้นมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสอน อาศัยศิลปะที่จะเข้าถึงจิตใจของผู้เรียน เช่น ศิลปะในการพูด ศิลปะการอธิบาย ศิลปะการจูงใจ ศิลปะการสนใจผู้เรียนเป็นรายบุคคล ศิลปะการช่วยแก้ปัญหาให้คําแนะนําแก่ผู้เรียน ศิลปะในการสอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ศิลปะในการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอน ไม่ให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่ายในการเรียน ศิลปะในการชักจูงผู้เรียนให้ตั้งใจเรียน ให้ทําการบ้าน เป็นต้น
เมื่อได้รู้ความหมายของการสอนแล้ว ลำดับต่อไปผู้เขียนขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบที่สำคัญของการสอน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูโดยตรง
2. องค์ประกอบของการสอน
การสอนไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การบอกให้ทำ ให้จำ ให้จด แต่เพียงอย่างเดียว การสอนมี จากการสังเคราะห์องค์ประกอบของการสอนจากแนวคิดของนักวิชาการด้านการศึกษา สามารถสรุปเป็นองค์ประกอบการสอนที่สำคัญ ปรากฏตามตามแผนภาพที่ 2 (สุพิน บุญชูวงค์, 2532; ลำพอง บุญช่วย, 2530; ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2526 อ้างถึงใน อาภรณ์ ใจเที่ยง, 2553)
แผนภาพที่ 2 องค์ประกอบของการสอน (อาภรณ์ ใจเที่ยง, 2553)
หลังจากที่ได้ทราบองค์ประกอบของการสอนแล้ว ลำดับต่อไปผู้เขียนขอนำเสนอองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหลักการสอน ซึ่งเป็นหลักการที่นำไปปรับใช้กับทุก ๆ วิธีการสอนในปัจจุบัน
3. หลักการสอน
การสอนต้องมีหลักการปฏิบัติที่ยึดถือเป็นแกนกลาง และนำไปปรับใช้กับการสอนวิธีต่าง ๆ เพื่อให้การสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจำแนกเป็นหลักการสอน 3 ขั้นตอน ดังนี้ (อาภรณ์ ใจเที่ยง, 2553)
3.1 ขั้นก่อนการสอน ผู้สอนต้องเตรียมการสอนในหัวข้อต่อไปนี้
3.1.1 ศึกษาหลักสูตร คู่มือครู และเอกสารประกอบการสอนต่าง ๆ เพื่อจัดทําแผนการสอน
3.1.2 ศึกษาผู้เรียนเพื่อให้ทราบความรู้พื้นฐาน ประสบการณ์เดิม ความสามารถ ความสนใจ ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลสําหรับการเตรียมสอนของตน
3.1.3 เขียนแผนการสอนให้ครบทุกข้อ ได้แก่ 1) จุดประสงค์การเรียนรู้ 2) เนื้อหาสําคัญของบทเรียน 3) วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 4) สื่อการเรียนการสอน 5) การวัดผลและประเมินผล
3.1.4 เตรียมสื่อการสอน เอกสารประกอบการสอน ข้อสอบ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนทำการสอนทุกครั้ง
3.2 ขณะสอน ผู้สอนดําเนินการสอน โดยคํานึงถึงข้อต่อไปนี้
3.2.1 ดำเนินการสอนให้เป็นไปตามลําดับขั้นตอนที่วางแผนไว้ในแผนการสอน
3.2.2 ใช้ทักษะการสอนที่เหมาะสม เช่น การอธิบายและการยกตัวอย่าง การใช้วาจา กิริยาท่าทาง การเขียนกระดาน การจูงใจ การถามคำถาม การนำเข้าสู่บทเรียน การสรุปบทเรียน เป็นต้น
3.2.3 ใช้เทคนิควิธีการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ทําให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด โดยใช้วิธีสอนหลายรูปแบบ และดําเนินการสอนอย่างเป็นกระบวนการ (มีการนำเข้าสู่บทเรียน มีขั้นดำเนินการสอน และขั้นสรุปบทเรียน)
3.2.4 เน้นการสอนที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ให้ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
3.2.5 ใช้สื่อการสอนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบทเรียนและการส่งเสริมการเรียนรู้
3.2.6 ใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ให้ถูกต้อง เช่น การชมเชย การเสริมกําลังใจ การจูงใจ
การฝึกหัด การมอบหมายงานตามความสามารถและความถนัดของแต่คน การสอนจากง่ายไปยาก เป็นต้น
3.2.7 สร้างบรรยากาศส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ เช่น ห้องเรียนสะอาด สว่าง กว้างขวาง ครูผู้สอนใจดี ไม่เข้มงวดดุดันจนเกินไป เป็นต้น
3.2.8 ใช้วิธีการวัดผลและประเมินผลการศึกษาที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การสอน
3.3 ขั้นหลังการสอน ผู้สอนควรดําเนินการ ดังนี้
3.3.1 พิจารณาผลการเรียนการสอนว่า ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ บรรลุตามจุดประสงค์ที่กําหนดไว้มากน้อยเพียงใด ถ้ามีเพียงส่วนน้อยที่ไม่บรรลุ ควรได้จัดสอนซ่อมเสริมให้ แต่ถ้ามีผู้เรียนจํานวนมากที่ไม่บรรลุ แสดงว่าการสอนตลอดจนการวางแผนการสอนมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
3.3.2 ปรับปรุงแก้ไขโดยหาสาเหตุที่เกิดข้อบกพร่องแล้วแก้ไขที่จุดบกพร่องนั้น
หลักพื้นฐานในการสอนทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นสิ่งจําเป็นสําหรับครู ถ้าครูมีหลักการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐาน และได้ใช้เป็นประโยชน์โดยการให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ย่อมช่วยให้การเรียนการสอน ประสบผลสําเร็จได้ดังประสงค์
แผนภาพที่ 3 หลักการสอน
การสอนของครูย่อมมุ่งหวังให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ตามที่สอน ดังนั้น เราควรจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเรียนรู้ (Learning)
4. การเรียนรู้
การเรียนรู้ คือ การที่บุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างถาวร สืบเนื่องจากการฝึกฝน/การได้รับประสบการณ์/การได้รับการฝึกหัดศึกษา จนนำไปสู่การเกิดสมรรถนะ (Competency) ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะได้นั้น ย่อมต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ครูต้องทำการสอนวิชาการภาคทฤษฎีให้แก่ผู้เรียน 2) ครูต้องจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เกิดการฝึกหัด ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ และสุดท้าย 3) ครูต้องมีเวลาเพียงพอ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการฝึกฝน หากการเรียนการสอนในวิชาใด ๆ ที่ไม่สามารถสนับสนุนทั้ง 3 ปัจจัยตามที่กล่าวข้างต้น ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสมรรถนะตามที่ต้องการ ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้วนั้น สังเกตได้จากคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
4.1 การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเปลี่ยนได้ทั้งด้านพุทธิพิสัย (สมอง) ด้านเจตคติ (ความคิด) และด้านทักษะพิสัย (การปฏิบัติ) เช่น
– จากการไม่รู้ในเนื้อหาวิชานั้น ๆ จำไม่ได้ ไม่เข้าใจ เปลี่ยนเป็นสามารถรู้ จำได้ และสามารถอธิบายเนื้อหานั้น ๆ ได้อย่างมั่นใจและถูกต้อง
– จากการไม่รู้สึกชอบ เปลี่ยนเป็นรู้สึกชอบ จากที่ไม่พอใจเปลี่ยนเป็นพึงพอใจ เป็นต้น
– จากที่ขับรถไม่ได้เปลี่ยนเป็นขับรถได้ จากที่เล่นฟุตบอลไม่เป็นเปลี่ยนเป็นเล่นฟุตบอลเป็น
4.2 พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปต้องเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะค่อนข้างถาวร เช่น การว่ายน้ำเป็น ถือเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม คือ ว่ายน้ำไม่เป็นกลายมาว่ายน้ำเป็น และเมื่อว่ายน้ำเป็นแล้ว แต่ไม่มีโอกาสว่ายน้ำอีกในช่วงเวลาหลายเดือน ก็ยังคงว่ายน้ำได้เช่นเดิม เรียกได้ว่าเกิดการเรียนรู้ แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ถาวร เช่น เกิดจากความเหนื่อยล้า ความเจ็บป่วย การถูกบังคับด้วยฤทธิ์ยา สารเคมี แอลกอฮอล์ ซึ่งทําให้พฤติกรรมของบุคคลเปลี่ยนไปจากเดิมชั่วระยะหนึ่ง ไม่นับว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้
4.3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นจะต้องเนื่องมาจากประสบการณ์ ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากเหตุอื่น เช่น วุฒิภาวะ ความพิการ ความเคยชิน ซึ่งถึงแม้เป็นการเปลี่ยนอย่างถาวร ก็ไม่นับเป็นการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากวุฒิภาวะ เช่น การที่เด็กเปลี่ยนจากคลานมาเป็นยืน เดินได้ การเปลี่ยนพฤติกรรมอันเนื่องมาจากความเคยชิน เช่น ตอนแรกทนเสียงทนกลิ่นบางอย่างไม่ได้ นานไปก็เคยชินจนไม่รู้สึกว่ามีเสียงหรือ กลิ่นนั้นๆ หรือปฏิกิริยาสะท้อนต่างๆ เช่น การไอ จาม กะพริบตา กระตุกสะดุ้งเมื่อถูก เข็มแทง ฯลฯ เหล่านี้ไม่นับเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ รายละเอียดปรากฏดังแผนภาพที่ 4
แผนภาพที่ 4 หลักการเรียนรู้
หลังจากที่ผู้อ่านได้ทราบและเข้าใจเกี่ยวกับ “หลักการเรียนรู้” แล้ว และจะต้องนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้ในการออกแบบการสอน โดยผู้เขียนขอนำเสนอวิธีการสอน จำนวน 2 วิธี ที่เป็นที่ชื่นชอบของครูโดยทั่วไป และมีโอกาสนำไปใช้ในการปฏิบัติงานในอนาคต คือ การสอนแบบบรรยาย และการสอนแบบสาธิตและปฏิบัติ ดังนี้
5. วิธีการสอน
การสอนด้วยวิธีต่าง ๆ ก็จะมีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอวิธีการสอน จำนวน 2 วิธี คือ การสอนแบบบรรยาย และการสอนแบบสาธิตและปฏิบัติ ดังนี้
5.1 การสอนแบบบรรยาย
การสอนแบบบรรยายเป็นวิธีการสอนที่ผู้สอนพูด บอกเล่า อธิบาย เนื้อหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ แก่ผู้เรียน โดยที่ผู้สอนเป็นฝ่ายเตรียมการศึกษาค้นคว้าเนื้อหาที่จะนำมาสอน ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับข้อมูล ดังนั้น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนของผู้เรียนจะค่อนข้างน้อย ทักษะของผู้เรียนที่ใช้ คือ ทักษะการฟัง การจดบันทึก การซักถาม อาจมีทักษะการคิดบ้างในระหว่างการสอน วิธีการสอนในลักษณะนี้จะยึดครูเป็นสำคัญ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
5.1.1 ความมุ่งหมาย
1) เพื่อให้ความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นความรู้ที่ค้นคว้าหาได้ยาก หรือเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้สอนเอง
2) เพื่อช่วยนําทางในการอ่านหนังสือแก่ผู้เรียน และช่วยสรุปประเด็นสําคัญ ๆ ในกรณีที่ผู้สอนมอบหมายให้ไปอ่านมาล่วงหน้าแล้ว
3) เพื่อมุ่งถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในเวลาอันจํากัด
5.1.2 ขั้นตอนการสอน
1) ขั้นเตรียมการสอน
– ผู้สอนจะต้องดำเนินการวินิจฉัยผู้เรียน โดยพิจารณาพื้นความรู้/ประสบการณ์เดิม ความสามารถของผู้เรียน อาจใช้วิธีพูดคุย ซักถาม สัมภาษณ์ หรือใช้แบบทดสอบก่อนเรียน เพื่อประโยชน์ในการเตรียมเนื้อหาและวิธีการสอนที่เหมาะสมต่อไป
– เตรียมเนื้อหาที่จะนำมาสอน โดยพิจารณาถึงความละเอียด ความลึกซึ้งความมากน้อย และลําดับของเนื้อหาให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่มีและลักษณะของผู้เรียน
– เตรียมคําถามในระหว่างการสอน เพื่อใช้ถามผู้เรียนระหว่างการสอน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัว สนใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนมากขึ้น
– เตรียมสื่อการสอน โดยเตรียมสื่อให้พร้อมอยู่ในสภาพใช้การได้ดี ใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
– เตรียมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน อาจจัดทําเป็นแบบทดสอบหลังเรียน แบบฝึกหัด หรือการถามคําถามเพื่อประเมินว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กําหนดไว้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
2) ขั้นดำเนินการสอน
ขั้นดำเนินการสอนประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ จำนวน 3 ขั้นตอน ดังนี้
2.1) ขั้นนําเข้าสู่บทเรียน เป็นการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนก่อนที่จะทำการเรียนการสอน ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่
2.1.1) การเรียกความสนใจ ซึ่งจะต้องเลือกวิธีการ/กิจกรรมที่น่าสนใจ ตื่นตาตื่นใจ สอดคล้องกับหัวข้อที่จะสอน อาจจะเป็นการซักถามพูดคุยกับผู้เรียนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเรียน หรืออาจจะเป็นการทบทวนเนื้อหาในครั้งก่อน ๆ เพื่อเชื่อมโยงเนื้อหาเดิมกับเนื้อหาที่จะทำการสอนใหม่ และที่สำคัญจะต้องบอกหัวข้อใหญ่ที่จะทำการสอนด้วยทุกครั้ง
2.1.2) การกระตุ้นให้อยากเรียน เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกอยากจะเรียนในหัวข้อนั้น ๆ โดยมีเทคนิคที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การบอกวัตถุประสงค์ของการเรียน บอกประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับ บอกความสำคัญของเนื้อหานั้น ๆ ต่อผู้เรียนและการปฏิบัติงานในอนาคต บอกความจำเป็น บอกวิธีการเรียนการสอนว่าจะดำเนินการสอนวิธีใด และเสริมแรงผู้เรียนว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่ยากจนเกินความสามารถของผู้เรียน
2.1.3) การบอกหัวข้อย่อยที่จะทำการสอน เพื่อให้ผู้เรียนรู้ขอบเขตเนื้อหาที่จะเรียน เขาจะได้รับความรู้อะไรบ้างจากการเรียนในครั้งนั้น ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มความสนใจในการเรียน โดยเทคนิคการบอกหัวข้อนั้น จะต้องดำเนินการบอกหัวข้อย่อยทั้งหมดพร้อมกับอธิบายขยายความในแต่ละหัวข้อย่อยสักเล็กน้อย พร้อมกับพูดเชื่อมโยงในแต่ละหัวข้อย่อยด้วย
2.1.4) การพูดเพื่อเชื่อมโยงการสอนในหัวข้อแรก ในขั้นนี้เป็นศิลปะการสอนของครูที่จะเริ่มเนื้อหาการสอนในหัวข้อย่อยแรก โดยจะต้องพูดเชื่อมโยง เช่น “เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว ในหัวข้อแรก เราจะมาเรียนรู้ในเรื่อง…” เพื่อไม่ให้เป็นการเข้าสู่เนื้อหาการสอนแบบฉับพลัน
2.2) ขั้นอธิบาย เป็นขั้นการสอนที่สําคัญที่จะทําให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่สอน ผู้สอนควรดําเนินการ ดังนี้
2.2.1) ใช้เวลาในการสอนส่วนนี้ประมาณ 80 % ของเวลาทั้งหมด
2.2.2) ใช้น้ำเสียง บุคลิกภาพท่าทาง ท่าทีการพูด การอธิบาย การใช้ภาษา และ อารมณ์ขันที่เหมาะสม รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ
2.2.3) อธิบายเนื้อหาตามลำดับก่อนหลัง จากง่ายไปยาก (ประเมินผู้เรียนเมื่อสอนจบในแต่ละหัวข้อ)
2.2.4) ยกตัวอย่างประกอบการอธิบาย เพื่อเพิ่มความเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น
2.2.5) ประยุกต์ใช้ทักษะการสอนที่หลากหลายและประเมินผู้เรียนระหว่างสอน
2.2.6) ใช้อุปกรณ์เสริม/สื่อการสอนที่เหมาะสม เช่น VDO ภาพ แผนภูมิ เป็นต้น
2.2.7) สังเกตปฏิกิริยาของผู้เรียนตลอดเวลา เพื่อการย้ำซ้ำหรือหยุดทบทวนใหม่
2.3) ขั้นสรุป เป็นการปิดท้ายชั่วโมงการสอน
2.3.1) ใช้เวลาประมาณ 10 % ของเวลาทั้งหมด
2.3.2) สรุปสาระสำคัญของเนื้อหาที่สอน
2.3.3) ตั้งปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์วิจารณ์ ฝากปัญหาให้ผู้เรียนไปคิดต่อ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามปัญหาเพิ่มเติม มอบหมายงานให้ผู้เรียนไปค้นคว้าเพิ่มเติม บอกเนื้อหาที่จะสอนในครั้งต่อไป
2.3.4) กระตุ้นผู้เรียนอีกครั้ง (บอกประโยชน์ที่ได้จากการเรียน รวมถึงการนำไปใช้งานในอนาคต)
2.3.5) แนะนำแหล่งศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
2.3.6) หาวิธีการจบบทเรียนด้วยความประทับใจ เช่น การใช้คำกลอน คำคมข้อคิดต่าง ๆ คำถามให้ชวนคิดต่อ เป็นต้น
3) ขั้นติดตามผล
เป็นขั้นตอนการติดตามผลการสอนของตนเอง เทคนิคในขั้นตอนนี้มักจะใช้วิธีการตรวจสอบหรือทดสอบความรู้ของผู้เรียน เช่น การตรวจสมุดบันทึกที่ผู้เรียนจดขณะสอน การถามคําถามเนื้อหาที่บรรยาย การทำข้อสอบ หรือแบบฝึกหัดเพิ่มเติม รายละเอียดปรากฏดังแผนภาพที่ 5
แผนภาพที่ 5 ขั้นตอนการสอนแบบบรรยาย
5.2 การสอนแบบสาธิตและฏิบัติ
การสอนแบบสาธิตและปฏิบัติเป็นวิธีการสอนที่ครูเป็นผู้อธิบาย เป็นผู้ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง ให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจริง และมีการประเมินผลการปฏิบัติของผู้เรียน วิธีการสอนแบบนี้ยังคงเป็นวิธีการสอนที่ยึดครูเป็นสำคัญ เนื่องจากครูต้องเตรียมการสอนเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังดีที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนมากขึ้น และมีโอกาสปฏิบัติด้วยตนเอง ดังนั้น การสอนแบบนี้จึงเหมาะกับการสอนในวิชาปฏิบัติ/เนื้อหาที่ต้องการพัฒนาทักษะการปฏิบัติ ทักษะการสังเกต ทักษะการฟังของผู้เรียน
5.2.1 ความมุ่งหมาย
เพื่อต้องการแสดงให้ผู้เรียนเห็นขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ ของครู ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ สามารถปฏิบัติตามได้ และได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง
5.2.2 ขั้นตอนการสอน
1) ขั้นเตรียมการสอน
– กำหนดจุดประสงค์การสอนให้ชัดเจน
– จัดลำดับเนื้อหา/ขั้นตอนการสาธิตและการปฏิบัติให้เหมาะสม
– จัดเตรียมสื่อการสอน วัสดุ อุปกรณ์ประกอบการสาธิตให้พร้อม
– จัดเตรียมคำถามในระหว่างการฝึกปฏิบัติ
– กำหนดเวลาในการสาธิตและปฏิบัติให้พอเหมาะ
– กำหนดวิธีการวัดและประเมินผลที่ชัดเจน
– ครูต้องทดลองปฏิบัติก่อนทำการสอนจริง เพื่อให้เกิดความแน่ใจและความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น
2) ขั้นสาธิตและปฏิบัติ
2.1) ขั้นนําเข้าสู่บทเรียน เป็นการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนก่อนที่จะทำการสอนแบบสาธิตและปฏิบัติ ใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 10 % ครูผู้สอนทำการเรียกความสนใจผู้เรียน อาจเป็นการใช้ภาพ วีดิโอ เล่าเรื่อง การถามคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่สอน จากนั้นทำการกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนด้วยการบอกประโยชน์ที่จะได้รับจากการเรียนในครั้งนี้ จากนั้นบอกขั้นตอนการฝึกปฏิบัติ และเชื่อมโยงเข้าสู่ขั้นปฏิบัติการสอน
2.2) ขั้นปฏิบัติการสอน
2.2.1) ครูอธิบายเนื้อหาและวิธีปฏิบัติทั้งหมด
2.2.2) ครูปฏิบัติให้ผู้เรียนดู และเปิดโอกาสให้มีการซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ
2.2.3) ครูให้ผู้เรียนปฏิบัติเอง โดยมีครูเป็นผู้แนะนำการปฏิบัติ
2.2.4) ครูให้ผู้เรียนปฏิบัติเองทั้งหมด และทำการประเมินผล
2.3) ขั้นสรุปผล
2.3.1) ผู้สอนเป็นผู้สรุปการฝึกปฏิบัติ หรืออาจให้ผู้เรียนเป็นผู้สรุป (วิธีนี้ครูจะทราบว่าผู้เรียนเข้าใจหรือไม่) หรืออาจใช้วิธีการถามคำถาม เพื่อประเมินความเข้าใจของผู้เรียนในภาพรวม
2.3.2) อาจเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ
3) ขั้นติดตามผล
เป็นขั้นตอนการติดตามผลการสอนของตนเอง เทคนิคในขั้นตอนนี้มักจะใช้วิธีการติดตามว่าผู้เรียนสามารถนำทักษะต่าง ๆ นั้น ไปใช้ในการปฏิบัติจริงได้หรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการสอนในครั้งต่อไป รายละเอียดปรากฏดังตารางที่ 6
แผนภาพที่ 6 ขั้นตอนการสอนแบบสาธิตและปฏิบัติ
เอกสารอ้างอิง
อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2553). หลักการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 5 จำนวน 2000 เล่ม. กรุงเทพฯ: โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
Anderson, L. W., & Krathwohl, D. R. (2001). A taxonomy for learning, teaching, and assessing: A revision of Bloom’s taxonomy of educational objectives. New York: Addison Wesley Longman.
Related posts