ระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับนักเรียนนายเรือ
น.ต. ผศ.สันติ งามเสริฐ อาจารย์ ฝศษ.รร.นร.
การจัดการศึกษาในปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้ของผู้เรียนมากขึ้น เพื่อพัฒนาผู้เรียนในยุคโลกาภิวัตน์ให้มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลและข่าวสาร มีรูปแบบวิธีการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคลมากขึ้น ประกอบกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปทั่วโลกในขณะนี้ และสามารถติดต่อกันอย่างง่ายดาย
การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ส่งผลให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนในรูปแบบอื่น โดยไม่ต้องมีการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ โรงเรียนนายเรือ (รร.นร.) เป็นสถาบันการศึกษาสังกัดกองทัพเรือ (ทร.) ที่จัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา มีพันธกิจในผลิตนายทหารสัญญาบัตรหลักที่มีความรู้ระดับปริญญาตรีในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานใน ทร. และมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพทหารเรือตามภารกิจของ ทร. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังกล่าว
ได้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบและระบบการจัดการเรียนการสอนของ รร.นร. เช่นกัน เป็นเหตุให้ รร.นร.ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่าการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิง การเรียนการสอนไม่จำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียนปกติ ผู้เรียนสามารถศึกษาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา
ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนในวิชาครูทหาร สำหรับ นนร.ชั้นปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563 จึงได้เปลี่ยนวิธีการสอนจากการสอนแบบบรรยาย และการสอนแบบสาธิตและฝึกปฏิบัติ เป็นการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ Google Apps for Education ที่มีชื่อว่า Google Classroom เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับจัดการห้องเรียน (Course Management System) และมีเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร (Modes of Communication) ที่หลากหลายและไม่มีค่าใช้จ่ายในการให้บริการ เช่น โปรแกรม Zoom, Line, Chat, E-mail, Webboard
สืบเนื่องจากวิชาครูทหาร ได้จัดให้มีรูปแบบการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก จึงยังขาดข้อมูลและสารสนเทศเพื่อประกอบการออกแบบระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ผู้เขียนจึงพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์วิชาครูทหารสำหรับ นนร. ชั้นปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563 เพื่อให้ได้ข้อมูลและสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อ รร.นร. ผู้บริหาร อาจารย์ทั้งภายในและภายนอก รร.นร. เพื่อเป็นแนวทางในการจัดเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
ผลการพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Learning Management System: ELMS) วิชาครูทหารสำหรับ นนร.ชั้นปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563 ประกอบด้วย 3 ระบบย่อย ดังนี้
1. ระบบการจัดการข้อมูล
ระบบการจัดการข้อมูล เป็นการตั้งค่าชั้นเรียนออนไลน์ ได้แก่ การสร้างชั้นเรียนออนไลน์ ด้วยบัญชี Google ของครูผู้สอน การเข้าใช้งานระบบผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ครูสามารถเชิญหรือลบสมาชิกในชั้นเรียน กำหนดรายละเอียดของชั้นเรียน การเปิดใช้งานรหัสของชั้นเรียน การอนุญาตให้ผู้เรียนเขียนหรือแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนออนไลน์
2. ระบบการจัดการรายวิชา
ระบบการจัดการรายวิชา เป็นโครงสร้างของชั้นเรียนออนไลน์ ประกอบด้วย การแสดงหน้าหลักของชั้นเรียน (แสดงการเคลื่อนไหวกิจกรรมในชั้นเรียน การสื่อสารกับสมาชิกในชั้นเรียน) องค์ประกอบของชั้นเรียน (แบบทดสอบก่อนเรียน การแนะนำรายวิชา เนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนการสอน แบบทดสอบกลางภาค วีดิโอการสอน แบบทดสอบปลายภาค แบบทดสอบหลังเรียน แบบประเมินครูผู้สอน และแบบประเมินความพึงพอใจ ฯ การแจ้งเตือนผู้เรียน เช่น กำหนดการส่งงาน โดยจะแจ้งผู้เรียนผ่านบัญชี G – mail ของผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งครูผู้สอนสามารถตรวจสอบการส่งงานและการให้ข้อมูลป้อนกลับรายบุคคล สมาชิกในชั้นเรียน คะแนนของผู้เรียน การสอนในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom ผู้เรียนสามารถทบทวนเนื้อหาภายหลังจากการบันทึกวีดิโอระหว่างการสอน ทดสอบความรู้ภาคทฤษฎีโดยใช้แบบทดสอบออนไลน์ และการ Quiz ทดสอบทักษะภาคปฏิบัติ ด้วยการให้ผู้เรียนบันทึกวีดิโอการปฏิบัติในทักษะต่าง ๆ และส่งงานผ่าน Google Classroom
3. ระบบส่งเสริมการเรียนรู้
ระบบการส่งเสริมการเรียนรู้ ประกอบด้วย Google Form (การสร้างแบบทดสอบออนไลน์ การสร้างข้อคำถามท้ายบท) Google docs (การพิมพ์งานออนไลน์) ระบบการติดต่อสื่อสาร ผ่านโปรแกรม Line, Zoom และเครื่องมือที่ระบบกำหนดให้
ระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Learning Management System: ELMS)
รายละเอียดตามแผนภาพด้านล่าง
ผลการประเมินประสิทธิภาพระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ประสิทธิภาพของระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จากประสิทธิภาพของกระบวนการ และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ พบว่า ค่าร้อยละของคะแนนเฉลี่ยประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) มีค่าเท่ากับ 84.20 และค่าร้อยละของประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) มีค่าเท่ากับ 80.23 สรุปได้ว่า ประสิทธิภาพของระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด (E1/E2 = 84.20/80.23) ราบละเอียดตามภาพด้านล่าง
ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังใช้ระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังใช้ระบบการจัดการเรียนรู้ ฯ พบว่า คะแนนทดสอบหลังเรียนกับคะแนนทดสอบก่อนเรียนมีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (t = 21.21, p = .00) โดยคะแนนทดสอบหลังเรียนมีค่าสูงกว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียน (M = 48.87, 26.93, SD = 3.83, 7.60 ตามลำดับ) ราบละเอียดตามภาพด้านล่าง
ผลการประเมินความพึงพอใจของ นนร.ต่อระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นักเรียนนายเรือมีความพึงพอใจต่อระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (M = 3.86, SD = 1.03) โดยผู้ตอบแบบประเมินมีความพึงพอใจในด้านการบริหารจัดการเรียนรู้ อยู่ในระดับมาก (M = 3.95, SD = 1.08) และด้านประสิทธิภาพการใช้งานระบบ อยู่ในระดับมาก (M = 3.76, SD = 1.09) เช่นกัน
เมื่อพิจารณาด้านการบริหารจัดการเรียนรู้ พบว่า ผู้ตอบแบบประเมินมีความพึงพอใจสูงสุดในเรื่องความเหมาะสมในการกำกับติดตามงานในระหว่างการเรียนการสอน อยู่ในระดับมาก (M = 4.01, SD = 1.10) และมีความพึงพอใจต่ำสุดในเรื่องความเหมาะสมของระบบการวัดและประเมินผล อยู่ในระดับมาก (M = 3.90, SD = 1.08)
เมื่อพิจารณาด้านประสิทธิภาพการใช้งานระบบ พบว่า ผู้ตอบแบบประเมินมีความพึงพอใจสูงสุดในเรื่องระบบการติดต่อสื่อสารในระบบมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (M = 3.86, SD = 1.12) และมีความพึงพอใจต่ำสุดในเรื่องความสะดวกในการเข้าใช้งานในระบบ (M = 3.70, SD = 1.16)
ปัญหาและแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
1. ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
1.1 การเรียนการสอนในระบบออนไลน์ช่วงแรกประสบปัญหาเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตของ รร.นร.ไม่เสถียร ความแรงของสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่เพียงพอ บางสถานที่ของ รร.นร.ไม่สามารถใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตในระหว่างการเรียนการสอนได้ ซึ่งส่งผลกระทบด้านการติดต่อสื่อสารและเป็นอุปสรรคในระหว่างการเรียนการสอน
1.2 การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนในระหว่างการเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากการซักถาม การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชั้นเรียนออนไลน์นั้นกระทำได้ค่อนข้างลำบาก อีกทั้งครูและผู้เรียนขาดความชำนาญในการใช้สื่อการสอนในระบบออนไลน์
1.3 ผู้เรียนได้รับการฝึกทักษะภาคปฏิบัติในระหว่างการเรียนการสอนไม่เพียงพอ ส่งผลให้การพัฒนาทักษะการปฏิบัติของผู้เรียนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
2. แนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
2.1 สถาบันต้องปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้สามารถสนับสนุนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงในระหว่างการเรียนการสอน
2.2 ครูผู้สอนต้องปรับเนื้อหาการสอนให้มีความกระชับ เน้นสาระสำคัญของแต่ละเนื้อหา ใช้สื่อการสอนที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้เรียน เช่น วีดิโอ เป็นต้น และอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนและสื่อการสอนต่าง ๆ ได้โดยง่าย
2.3 การพัฒนาทักษะการปฏิบัติของผู้เรียนในรายวิชา ครูผู้สอนควรจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริงตามบริบทของรายวิชานั้น ๆ (ในปริมาณที่มากกว่าการสอนในชั้นเรียนปกติ) เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาทักษะอย่างแท้จริง นอกจากนี้ครูผู้สอนควรนำข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของการเรียนการสอนในปีที่ผ่าน ๆ มา เพื่อเป็นกรณีศึกษาและตัวอย่างแก่ผู้เรียนในปีปัจจุบัน
2.4 การสอนทางไกล (Video Conference) ระหว่างครูกับผู้เรียนนั้น ครูควรเห็นหน้าต่างการนำเสนอของตนเอง ในมุมมองของผู้เรียน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการสื่อสารในระหว่างการสอนนั้น สอดคล้องกับสิ่งที่ครูต้องการนำเสนอ ซึ่งอาจการใช้คอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่ง เข้าระบบชั้นเรียนออนไลน์ในฐานะผู้เรียน และนำไปวางในจุดที่ครูสามารถมองเห็นการนำเสนอของตนเองในระหว่างการสอน เป็นต้น
2.5 ครูผู้สอนต้องเลือกใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหา และฝึกการใช้สื่อการสอนให้เกิดความชำนาญ เพื่อเพิ่มความมั่นใจของครูในระหว่างการสอน
2.6 ครูผู้สอนต้องวางแผนการทดสอบรายวิชาให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการทดสอบในระบบออนไลน์นั้น การควบคุมการคัดลอกคำตอบระหว่างผู้เรียนปฏิบัติได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น ครูผู้สอนจึงต้องวางแผนการทดสอบในรายวิชาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จำนวนครั้ง ห้วงเวลา รูปแบบของข้อสอบ วิธีการทดสอบในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้ผลคะแนนสามารถสะท้อนความรู้ของผู้เรียนแต่ละคนได้อย่างแท้จริง
รายละเอียดเพิ่มเติม