สอนอย่างไรให้คิดเป็น
“Blog นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกวิธีการจัดการเรียนการสอนของหัวข้อนี้ ของภาคต้น ปีการศึกษา 2563 สำหรับตัวเองที่จะต้องทำการสอนหัวข้อนี้อีกครั้งในหลักสูตรใหม่ ซึ่งจะทำการสอนอีกทีใน 4 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้เขียนอาจจะลืมไปแล้วว่าสอนอะไร หรือไม่ก็จะลาออกจากราชการแล้ว อาจารย์ใหม่ (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จบการศึกษาในสาขานี้โดยตรงเช่นกัน) แต่ต้องรับหน้าที่สอนในหัวข้อนี้ ดังนั้น Blog นี้ น่าจะเป็นประโยขน์ไม่มากก็น้อย”
ภาษาที่ใช้ใน blog นี้ ขอเป็นเรื่องเล่า ที่ไม่มีข้อจำกัดอะไรมากนัก
การจะสอนให้คนคิดเป็น คงไม่สามารถสอนได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นคงคิดเก่ง คิดเป็นกันทั้งประเทศไปแล้ว ในห้วงรยะเวลาสั้น ๆ ที่ผู้เขียนรับผิดชอบการสอนหัวข้อการคิดอย่างมีเหตุผลนี้ ทำได้แค่เปิดมุมมองใหม่ ๆ สร้างทัศนคติแบบบวก ๆ มองโลกแบบบวก ๆ เข้าไว้ ถ้ามีปัญหาเข้ามา ก็มองให้ออกว่าแท้จริงแล้ว ต้นตอของปัญหานั้น คืออะไรกันแน่ การเสริมทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นพื้นฐานของความกระจ่างแจ้งต่าง ๆ และสุดท้ายเป็นปัญหาสังคมปัจจุบันที่เกิดจากการไม่คิดอะไรเลย ทำให้เรามองปัญหา หรือเรื่องราวเหล่านั้นอย่างฉายบฉวย และตัดสินโดยขาดความยั้งคิด หรือไม่ทันคิด หรือคิดไม่เป็น ได้แต่เชื่อตามที่ว่ากัน ส่วนการคิดแก้ปัญหา หาหนทางแก้ไข เป็นเรื่องที่ผู้เรียนต้องไปต่อยอดเอาเอง
การคิดอย่างมีเหตุผล ((Critical Thinking) เป็นหัวข้อหนึ่งของวิชาความเป็นพลเมืองโลก สำหรับ นนร.ชั้นปีที่ 2 ซึ่งผู้สอนได้รับมอบหมายให้สอนในหัวข้อทักษะของผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะ 4Cs ได้แก่
Creativity and Innovation
– คิดนอกกรอบและต่อยอดเป็น
– กระบวนคิดเปิดกว้าง เป็นตัวของตัวเองไม่ซ้ำใคร (Originality) สามารถมองหาโอกาสและประเมินความเป็นไปได้
– ถ่ายทอดความคิดให้ผู้อื่นเข้าใจได้และยอมรับมุมมองผู้อื่นอย่างใจกว้าง
– สามารถต่อยอดไอเดียความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น
Critical Thinking and Problem Solving
– คิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหาเองได้
– ช่างสังเกต มองเห็นปัญหา ตั้งคำถาม
– อธิบายเหตุและผลตามสถานการณ์และมุมมองที่หลากหลายได้ มองภาพรวมเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ปลายทางจากระบบที่ซับซ้อนออก
– ประเมินและตัดสินใจจากการสังเกต หารือหลากหลายมุมมอง หาข้อมูล หลักฐานข้อพิสูจน์ได้
– ถอดบทเรียนความรู้ ข้อเสนอแนะหรือสิ่งที่ควรปรับปรุงจากประสบการณ์
– แก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิมหรือรู้จักประยุกต์หนทางแก้ปัญหามาใช้กับเรื่องใหม่ได้
Communication
– สื่อสารได้ถูกต้องเหมาะสม
– มีทักษะการพูด เขียน และสื่อภาษากายได้ตรงตามวัตถุประสงค์ (เช่น เพื่อแจ้งข่าว สอน โน้มน้าว หรือปลุกกระตุ้น)
– รับข้อมูลและตีความหมายได้ถูกต้อง รวมถึงนำเสนอต่อผู้อื่นได้ชัดเจน
– ปรับใช้สื่อและเทคโนโลยีให้เหมาะกับจุดประสงค์ และสามารถประเมินประสิทธิภาพของแต่ละสื่อได้
– สื่อสารได้ในทุกบริบทที่แตกต่างหลากหลาย (รวมถึง ใช้ภาษาได้มากกว่า 1 ภาษา)
Collaboration
– การทำงานร่วมกับผู้อื่น
– ทำงานเป็นทีม ยืดหยุ่น ปรับตัวให้ทำงานในสถานการณ์หรือทีมที่แตกต่างกันได้ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน
– ยอมรับความสามารถและความแตกต่างของปัจเจกบุคคลควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
สอนอย่างไร ให้คิดเป็น
ภายในเวลาสอน 7 ครั้ง ๆ ละ 2 ชั่วโมง เราจะสอนอย่างไร ให้ นนร.คิดเป็น หรือคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งผู้สอนได้ค้นหาข้อมูลเพื่อจะได้วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ยืนพูดหน้าห้องอย่างที่เคยเป็นมา หาจุดเริ่มต้นของการฝึกทักษะการคิด มองหาทักษะที่จะมาเป็นพื้นฐานของการคิด และนำมาวางแผนการสอน
ผู้สอนได้บูรณาการการฝึกทักษะทั้ง 4Cs โดยเน้นภาพใหญ่คือการคิดอย่างมีเหตุผล เพราะเป็นทักษะที่สำคัญมาก และผู้เขียนมองว่าเป็นปัญหาหนึ่งของการศึกษาไทย ที่ทำให้คนไทยถูกมองว่าคิดไม่เป็นหรือไม่กล้าคิด ซึ่งทักษะนี้หากเราสอนอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะนี้ด้วยตนเองได้ต่อไป
การฝึกให้ นนร. สามารถพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลด้วยตนเอง ถูกมองว่าสวนกับบริบทของความเป็นนักเรียนทหาร แต่แท้จริงแล้ว การคิดอย่างมีเหตุผลช่วยให้ทุกคน ที่อยู่ในทุกสถานการณ์สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมเหล่านั้น ได้อย่างถูกต้องและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข รวมทั้งมีทัศนคติที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต สามารถมองเห็นทางออกในปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เพียงแต่เราในฐานะผู้สอน กระตุกให้คิด อย่าปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ผ่านไปโดยที่เราไม่เข้าใจ และไม่พยายามเข้าใจ
เป็นโอกาสดี ที่เกิดในช่วงสถานการณ์ Covid 19 ที่ รร.นร.มีนโยบายให้มีการจัดการเรียนการสอน online ผสมผสานกับการเรียนในชั้นเรียนตามปกติสำหรับ นนร.ชั้นปีที่ ๒ ผู้เขียนใช้ Google Classroom เป็นเครื่องมือหลัก เพราะสะดวกทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องทำพร้อม ๆ กัน แต่ทำเมื่อไรก็ได้ โดยมีกำหนดการส่งงานตามเวลา ทั้ง นนร.และผู้สอน ได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีนี้ไปด้วยกัน ซึ่งหลังจากจบ Course นี้แล้ว พวกเราก็ได้รับความรู้นี้ ติดตัวไป ถือว่าได้เรื่องการใช้เทคโนโลยีไปแล้ว
ชั่วโมงแรกของ Course เป็นการแนะนำวิชา โดย น.อ.รศ.อมรเทพ แกล้วกสิกรรม และแนะนำ Google Classroom โดย น.อ.หญิง รศ.ขนิษนาฏ รัตนพฤกษ์ และให้ นนร.ทุกนาย(รวมทั้ง ผอ.กวกส.และ รอง ผอ.กวกส.ฯ) สมัครเป็นสมาชิกของชั้นเรียนในระบบ เพื่อการเรียนรู้และติดตาม
ในขั้นต้น เมื่อเราได้สร้างห้องเรียนใน Google Classroom แล้ว นนร.ทุกคนต้องสมัครเป็นนักเรียนในชั้นเรียน ส่วนที่เราต้องทำเพิ่มเติม คือ นนร.กรอก username และ Email ที่ใช้ลงในใบรายชื่อด้วย เนื่องจากเมื่อท้ายสุด อจ.ต้องนำคะแนนจากการทำแบบทดสอบทั้งหมด ทั้งในระบบและนอกระบบมารวม การนำคะแนนในระบบ ซึ่ง(รวมถึงการใช้ Google Form ทำแบบทดสอบ) มาใช้ ต้องมีข้อมูลนี้มาใช้ประกอบ
ในการสอนผสมผสานนี้ อจ.ควรนำเอกสารประกอบการสอนทั้งหมด Upload ลงในระบบ Google Classroom เพราะไม่มี sheet หรือตำรา โดยลงสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันการสับสน
♦จุดเริ่มต้น สำหรับการที่คนเราจะเป็นคนคิดอย่างมีเหตุผลได้ เริ่มจากการมีทัศนคติที่ดี หรือ Growth Mindset และการคิดบวก (Positive Thinking) ซึ่งเป็นเสมือนต้นทุนทางปัญญา เพราะการมีทัศนคติที่ดี และการเป็นคนคิดบวก เป็นพื้นฐานนำไปสู่การเป็นคนคิดอย่างมีเหตุผล/การหาทางออกของทุกปัญหา นับว่าเป็นทักษะที่สำคัญมาก และฝึกฝนได้
♦การฝึกตั้งคำถาม เป็นส่วนหนึ่งการฝึกการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งการตั้งคำถามเป็นการหยุดการตอบสนองต่อประเด็นต่าง ๆ โดยไม่ทันคิดหรือไม่คิด ผู้สอนจึงได้นำหลักคำสอนเรื่องกาลามสูตร ๑๐ ว่าด้วยการอย่าเชื่อมาประกอบการสอน พร้อมทั้งยกประเด็นปัญหามาให้ นนร. (กลุ่ม) ฝึกตั้งคำถาม โดยที่เราไม่จำเป็นต้องหาคำตอบของคำถามเหล่านั้น วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ คือฝึกตั้งคำถามให้ได้มากที่สุด
♦ปัญหาต่างๆ ที่เราพบเห็นในปัจจุบัน มีปัญหาจำนวนมากที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดสิ้น นั่นเป็นเพราะเราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และที่แก้ไม่ถูกจุดก็เป็นเพราะเรามองปัญหาผิดไป ดังนั้นเราจึงต้องมองให้ออกว่าแท้จริงแล้วปัญหาของความเสียหายนั้น มันคืออะไรกันแน่ ผู้สอนจึงนำเรื่อง “การวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหา” (Root Cause Analysis) ประกอบกับหลักคิดอริยสัจ ๔ เพื่อให้ผู้เรียนมองปัญหาให้ขาด และแก้ได้ถูกจุด ในการสอนครั้งนี้ ผู้สอนใช้หลักการ Why Why Analysis เป็นเครื่องมือ
♦การสื่อสารในชีวิตประจำวันของคนเราใช้การฟังมากกว่าทักษะอย่างอื่น การฟังเป็นความสามารถในการรับรู้สิ่งที่ได้ยินแล้ว สามารถตีความหรือจับใจความสิ่งที่รับรู้นั้นสามารถเข้าใจและจดจำไว้ได้ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญาที่ต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อย ๆ การคิดอย่างมีเหตุผลเป็นผลมาจากการฟัง ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพื่อจับใจความสำคัญ ฟังเพื่อความรู้ หรือฟังเพื่อเข้าใจ สามารถแยกได้ว่าตอนใดเป็นความรู้สึกนึกคิด ตอนใดเป็นข้อเท็จจริง หรือตอนใดเป็นความคิดเห็นของผู้พูด ตลอดจนการฟังเพื่อแสดงความคิดเห็น เพื่อแสวงหาเหตุผลและข้อเท็จจริง สามารถแยกแยะส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรื่องราวได้
♦การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) จึงเป็นอีกหัวข้อหนึ่ง ที่ผู้สอนให้ความสำคัญ เพื่อให้ นนร.เห็นความสำคัญของการฟังอย่างลึกซึ้ง จะช่วยให้เกิดความเข้าใจประเด็นได้อย่างถ่องแท้ ซึ่งการฟังในที่นี้นอกจากจะฟังผู้อื่นแล้ว เรายังต้องฟังเสียงตัวเองด้วย เพื่อให้เราเป็นผู้มีความสมเหตุสมผล ไม่ใช่เป็นผู้ทำให้เหตุผลนั้นวิบัติเสียเอง ดังนั้นใน Class นี้ผู้สอนจึงนำหัวข้อ “ตรรกะวิบัติ” มาเป็นอีกหัวข้อหนึ่งในการสอนด้วย
สรุปสุดท้ายของ Class นี้ ผู้สอนนำหลักธรรม โยนิโสมนสิการ มาขยายผล ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่ได้สอนไปแล้วทั้งหมด
แผนการสอน
ครั้งที่ 1 หัวข้อ ทัศนคติ (Mindset) และการคิดบวก (Positive Thinking)
กิจกรรม
1. บรรยายความสำคัญของ Mindset และการคิดบวก
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง Mindset
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง ทำไมทัศนคติจึงสำคัญมากกว่าความฉลาด
https://sumrej.com/why-attitude-is-more-important-than-iq/
เอกสารประกอบการสอน เรื่องทัศนคติคือนิสัยทางความคิด
2. เปิด Clip VDO เรื่อง Growth Mindset and Fixed Mindset (ภาคภาษาอังกฤษ)
3. ให้ นนร.แบ่งกลุ่ม ๆ ละ ๕ นาย สรุปเรื่องจาก Clip
4. ฝึกการคิดบวก ให้ นนร.เล่นเกมคิดดี โดย อจ.ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้น/ฝึกการคิดบวกเมื่อเผชิญสถานการณ์เลวร้าย โดยตั้งคำถามลบ ถาม นนร.รายคน และให้ตอบอย่างรวดเร็ว คำถาม เช่น อกหักดีอย่างไร สอบตกดีอย่างไร โดนทำโทษวิ่งรอบเรือหลวงธนบุรี ดีอย่างไร ฯลฯ
5. ยกสถานการณ์ที่เป็นกรณ๊วิพากษ์กันในปัจจุบัน ให้ นนร.ฝึกคิดบวก (ตู้ปันสุข)
6. สรุปประโยชน์ของกิจกรรมนี้ร่วมกัน
ครั้งที่2. การคิดเชิงวิพากษ์ (การพิจารณาตัดสินเรื่องราว โดยการตั้งคำถาม)
กิจกรรม
1. บรรยาย
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การคิดเชิงวิพากษ์ (อุปสรรคของการคิด)
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การคิดเชิงวิพากษ์เพื่อยกระดับการตัดสินใจ
เอกสารประกอบการสอนเรื่อง กาลามสูตร ตีความย้อนกลับ
ประเด็นที่นำมาใช้ประกอบ
– สังคมอุดมดราม่า
– ความเชื่อผิด ๆ มาจากไหน
2. ฝึกการตั้งคำถามจากกรณีการล้มละลาย/ขาดทุนจนไม่สามารถเปิดกิจการต่อไปได้ ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือปล่อยล้มละลายหรืออุ้มกิจการ ประเด็นที่ให้ นนร. ฝึกการคิดเชิงวิพากษ์คือ ให้ นนร. แต่ละกลุ่ม ตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่คำตอบ/การตัดสินใจ หรือความเห็นที่เหมาะสม สำหรับประชาชน
จากข้อความ “ความล้มเหลวของการบินไทย คือความล้มเหลวของรัฐบาล
ความล้มเหลวของรัฐบาลคือความรับผิดชอบของประชาชน”
สุดท้ายแต่ละกลุ่ม มานำเสนอผลงาน และ อจ.ต้องเฉลยคำถามเป็นตัวอย่างคำถามที่เหมาะสม
3. ดู clip ของ Spoke Dark เรื่องนี้ พร้อมกับให้วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ
4. นนร./อจ.ร่วมกันสรุปประโยชน์ที่ได้จากกิจกรรมนี้
ครั้งที่ 4 Root Cause Analysis
กิจกรรม
1. บรรยายความสำคัญ
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การคิดเชิงวิพากษ์เพื่อยกระดับการตัดสินใจ
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง การคิดเชิงวิพากษ์ root cause
2. ทำกิจกรรม Root Cause Analysis โดยใช้หลัก Why Why Analysis
(แนวทางการให้คะแนน ๑.คำตอบสุดท้าย สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ๒. การกระจายของ Mind Map ที่แสดงให้เห็นว่ามีการระดมสมองอย่างกว้างขวาง
3. นนร.สรุปประโยชน์ที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ร่วมกัน
ครั้งที่ 5. Deep Listening -การฟังอย่างลึกซึ้ง
กิจกรรม
1. ดู Clip เรื่อง Deep Listening เพื่อให้ นนร.เข้าใจและเห็นความสำคัญ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
https://www.urbinner.com/post/deep-listening
2. นนร.สรุปเนื้อหา และประโยชน์ของ Deep Listening (เก็บคะแนน)
3. ให้ นนร.ทำกิจกรรม Role Play คนหนึ่งพูด คนหนึ่งไม่ฟัง
ครั้งที่ 6 Fallacy – ตรรกะวิบัติ
กิจกรรม
1. บรรยายความสำคัญ
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง สอนการคิดอย่างมีเหตุผล (ตรรกะวิบัติ)
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง ตรรกะวิบัติ
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง โยนิโสมนสิการ2
https://www.m-culture.go.th/young/ewt_news.php?nid=330
2. ฝึกด้วยการทำแบบทดสอบ
ครั้งที่ 7 สรุปหลักการทั่วไปของการคิดอย่างมีเหตุผล ด้วยหลักโยนิโสมนสิการ ๑๐
กิจกรรม
1. บรรยายสรุป
2. ทำแบบทดสอบในระบบ Google Classroom (เก็บคะแนน)
ส่งท้าย
เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับ อาจารย์ใหม่ ที่จะต้องรับผิดชอบการสอนหัวข้อนี้ ในวิชาศิลปะวิทยาการพัฒนามนุษย์ ในหลักสูตรการศึกษา รร.นร.ปีการศึกษา ๒๕๖๓ สามารถนำไปต่อยอด หรือปรับปรุง ผู้สอนจึงได้จัดการความรู้ในเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดแล้ว การจัดการเรียนการสอนในหัวข้อการคิดอย่างมีเหตุผลนั้น มุ่งผลให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการคิด และการใช้ชีวิตในสังคมยุคปัจจุบัน มากกว่าต้องการให้ นนร.มีความรู้ทางวิชาการ แบบทดสอบ และข้อสอบในการเรียนนี้ จึงวัดทักษะ เช่น การระดมความคิดของสมาชิกในกลุ่ม วิธีการที่จะให้ได้มาซึ่วงคำตอบ (หาใช่คำตอบไม่) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม โดยการกระตุ้นให้ นนร.ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ปลุกเร้าความสนใจด้วยลูกเล่นต่าง ๆ ที่พึงจะกระทำได้