กล่าวนำ
จากการที่โรงเรียนนายเรือมีระบบเครือข่ายภายในของตนเองและมีการใช้ช่องทางออกสู่ภายนอกผ่านทางผู้ให้บริการระบบเครือข่ายแยกอิสระออกจากระบบเครือข่ายของกองทัพเรือ ถึงแม้จะมีช่องทางเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายภายในของกองทัพเรือ แต่ผู้ใช้งานทั่วไปก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบเครือข่ายภายในของกองทัพเรือผ่านช่องทางดังกล่าวได้โดยตรงเนื่องจากผู้ใช้งานทั่วไปจะเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารของตนเองเข้ากับระบบเครือข่ายของผู้ให้บริการที่มีภายใน รร.นร. โดยได้รับหมายเลขไอพีแอดเดรส (IP Address) ที่อยู่คนละกลุ่มกับที่ใช้ในระบบเครือข่ายภายใน ทร. และยังไม่มีการกำหนดเส้นทางเชื่อมต่อจากระบบเครือข่ายดังกล่าวนี้ผ่านไปยังระบบเครือข่ายภายในของกองทัพเรือได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะต้องมีการติดตั้งเราต์เตอร์ (Router) และกำหนดตารางเส้นทางของข้อมูล (Routing Table) เพื่อเชื่อมโยงระบบเครือข่ายทั้งสองระบบเข้าด้วยกัน ดังนั้นการเข้าถึงระบบงานต่างๆ ในเครือข่ายภายในของกองทัพเรือ เช่น ระบบงานกำลังพล hrmiss.navy.mi.th ระบบการเงิน info.navy.mi.th/finance ระบบสำนักงานอัตโนมัติ i.navy.mi.th เป็นต้น จะต้องเข้าผ่านระบบพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ของกองทัพเรือ (proxy.navy.mi.th:8080) ในลักษณะการเข้าถึงระบบเครือข่ายภายในกองทัพเรือจากระบบเครือข่ายภายนอก (ผ่าน Public IP ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของ รร.นร. ในลักษณะผ่านทางประตูด้านหน้า) เพื่อเข้าถึงระบบงานต่างๆ ที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ภายในระบบเครือข่ายของกองทัพเรือ
จากที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อมีการเข้าถึงระบบงานต่างๆ ภายในกองทัพเรือผ่านทางพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ของกองทัพเรือ จึงเกิดข้อจำกัดในการใช้งานบางประการที่ส่งผลให้ผู้ใช้งานขาดความสะดวกสบายและความคล่องตัวในการใช้งาน กล่าวคือ พร็อกซี่ของกองทัพเรือจะมีการกำหนดมาตรการการใช้งานบางอย่าง เช่น ผู้ใช้งานผ่านพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ที่ร้องขอมาจากระบบเครือข่ายภายในสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ภายนอกได้ แต่ผู้ใช้งานผ่านพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ที่ร้องขอมาจากระบบเครือข่ายภายนอกจะให้เข้าถึงระบบงานภายในกองทัพเรือเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานจากภายนอกเข้าถึงเว็บไซต์ภายนอกผ่านทางพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ เป็นต้น (เป็นการลดภาระการทำงานของพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์และป้องกันการถูกลักลอบใช้งานจากผู้ไม่ได้รับอนุญาต) ส่งผลให้ผู้ใช้งานจาก รร.นร. ที่ตั้งค่าใช้งานผ่านพร็อกซี่ของกองทัพเรือจะถูกปฏิเสธการใช้งานหากมีการร้องขอเข้าเว็บไซต์ภายนอก จะใช้งานได้เฉพาะระบบงานภายในกองทัพเรือ นั่นคือ หากต้องการเข้าถึงเว็บไซต์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ระบบงานภายใน ทร. เช่น เมื่อเปิด www.google.com หรือ www.gmail.com ก็จะถูกพร็อกซี่ของ ทร. ปฏิเสธการเข้าถึงและจะต้องมายกเลิกการตั้งค่าพร็อกซี่ก่อนทุกครั้ง และเมื่อจะกลับมาใช้งานระบบงาน ทร. ก็จะต้องกลับมาตั้งค่าการใช้งานพร็อกซี่ ทร. (proxy.navy.mi.th:8080) ก่อนทุกครั้งสลับกันไปมา การใช้งานของข้าราชการใน รร.นร. บางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้งานเว็บไซต์ภายนอกทั่วไปควบคู่กับการใช้งานระบบงานของ ทร. จึงไม่ได้รับความสะดวกในการใช้งาน
การแก้ไขปัญหาวิธีการหนึ่งหากต้องการใช้งานเว็บไซต์ทั่วๆ ไปพร้อมกับการใช้งานระบบงานของ ทร. คือ ต้องติดตั้งอินเตอร์เน็ตบราวเซอร์สองโปรแกรม โดยโปรแกรมหนึ่งใช้งานทั่วไป อีกโปรแกรมหนึ่งตั้งค่าพร็อกซี่ของ ทร. ไว้เพื่อใช้งานระบบงานของ ทร. เช่น ใช้ Chrome ในการใช้งานทั่วไป และใช้ Firefox ในการใช้งานระบบงานของ ทร. ซึ่งจะต้องกำหนดค่าพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ของ ทร. ไว้ ในบทความนี้จะนำเสนออีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราไม่ต้องใช้งานสองโปรแกรมและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสลับการตั้งค่ากลับไปกลับมาในการใช้งาน วิธีการนี้เป็นการกำหนดค่าอัตโนมัติโดยใช้โปรแกรมส่วนขยายของ Chrome ที่มีชื่อว่า Proxy Switcher and Manager ร่วมกับการเขียนโค๊ดสั้นๆ ด้วยภาษาจาวาสคริปท์ เพื่อให้เราสามารถใช้งานเว็บไซต์ทั่วไปและระบบงานของ ทร. ได้พร้อมกันด้วยบราวเซอร์ Chrome เพียงโปรแกรมเดียว อีกทั้งไม่มีความจำเป็นต้องสลับการตั้งค่ากลับไปกลับมาอีกด้วย
ขั้นตอนการติดตั้ง
-
- เปิดบราวเซอร์ Chrome ขึ้นมาแล้วค้นหาคำว่า “Proxy Switcher” ดังรูป
- คลิ๊กไปที่ “Proxy Switcher and Manager – Google Chrome”
- คลิ๊กไปที่ “Add to Chrome”
- จะปรากฏกล่องข้อความขึ้นมา (Pop Up) ให้คลิ๊ก “เพิ่มส่วนขยาย”
- Chrome จะติดตั้งส่วนขยาย “Proxy Switcher and Manager” และจะปรากฏรูปสัญลักษณ์ (Icon) ที่ด้านหลังช่องแสดง URL เป็นรูปจอคอมพิวเตอร์ เมื่อคลิ๊กไปบนรูปสัญลักษณ์จะปรากฏหน้าต่างดังรูป
- บนหน้าต่างของ Proxy Switcher จะมี Tab อยู่จำนวน 5 Tabs คือ
- Direct (บราวเซอร์จะติดต่อเซิร์ฟเวอร์ปลายทางด้วยตนเองโดยตรง)
- Auto Detect (บราวเซอร์จะพยายามค้นหาพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์และพร็อกซี่สคริปท์ในเครือข่ายอัตโนมัติ)
- System Proxy (บราวเซอร์จะใช้การตั้งค่าพร็อกซี่ของระบบซึ่งก็คือค่าที่ถูกตั้งบน Internet Explorer)
- Manual Proxy (ให้กำหนดค่าพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์เอง)
- PAC Script (ให้กำหนดที่อยู่ของไฟล์ที่ตั้งค่าต่างๆ ของพร็อกซี่ไว้แล้วโดยระบุเป็น URL หรือสามารถเขียนเป็นโค๊ดด้วยภาษา JAVA Script ก็ได้)
- ให้คลิ๊กไปที่ Tab: PAC Script
- ในช่อง Inline ให้ลบข้อความตัวอย่างออกให้หมด
- ให้พิมพ์โค๊ดลงไปตามนี้
function FindProxyForURL(url, host) {
if (dnsDomainIs(host,”mail.navy.mi.th”))
return “DIRECT”;
if (dnsDomainIs(host, “info.navy.mi.th”) ||
shExpMatch(host, “(*.navy.mi.th|navy.mi.th)”) ||
isInNet(host, “10.106.0.0”,”255.255.0.0″))
return “PROXY proxy.navy.mi.th:8080”;
return “DIRECT”;
}
- ได้ดังรูป
- จากนั้นคลิ๊กที่ไอคอนรูปจอคอมพิวเตอร์อีกครั้งเพื่อปิดส่วนขยาย Proxy Switcher and Manager
- สามารถใช้งานได้หลังจากนี้โดยที่ใช้งานเว็บไซต์ภายนอกได้ปกติ และสามารถใช้งานระบบงานภายใน ทร. ได้โดยจะมีหน้าต่างให้ใส่ user name และ password ในการ Authentication จากพร็อกซี่ของ ทร. โดยไม่ต้องคอยเปลี่ยนการตั้งค่าพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์หรือไม่ต้องใช้งานบราวเซอร์สองโปรแกรมพร้อมๆ กัน
คำอธิบายโค๊ดที่ใช้ในสคริปท์
if (dnsDomainIs(host,”mail.navy.mi.th”))
return “DIRECT”;
ถ้าต้องการเข้าถึง mail.navy.mi.th ให้บราวเซอร์เรียกไปที่เซิร์ฟเวอร์ปลายทางได้โดยตรง เนื่องจาก mail.navy.mi.th เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่เป็น public IP และให้เข้าถึงได้โดยตรงจากทั่วโลก จึงไม่ต้องเรียกผ่านพร็อกซี่ ทร. ให้เป็นภาระของพร็อกซี่
if (dnsDomainIs(host, “info.navy.mi.th”) ||
shExpMatch(host, “(*.navy.mi.th|navy.mi.th)”) ||
isInNet(host, “10.106.0.0”,”255.255.0.0″))
return “PROXY proxy.navy.mi.th:8080”;
ถ้าต้องการเข้าถึง info.navy.mi.th หรือ ต้องการเข้าถึงโฮสท์หรือเซิร์ฟเวอร์อะไรก็ตามที่อยู่ภายใต้โดเมน navy.mi.th หรือ ต้องการเข้าถึงโฮสท์ปลายทางที่มีหมายเลขไอพีขึ้นต้นด้วย 10.106.X.X Subnet 255.255.0.0 (เป็นหมายเลขไอพีในระบบเครือข่ายของ ทร.) ให้ร้องขอไปที่พร็อกซี่ที่มีชื่อว่า proxy.navy.mi.th ทางพอร์ท 8080
return “DIRECT”;
หากด้านบนไม่เข้าหลักเกณฑ์ใดๆ ให้เรียกไปที่โฮสท์ปลายทางโดยตรง
สรุป
เราสามารถใช้ภาษาจาวาสคริปท์เขียนโค๊ดสั้นๆ เพื่อใช้งานบราวเซอร์ให้เข้าถึงเว็บไซต์ทั่วไปได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพร็อกซี่เซอร์เวอร์ของ ทร. (ซึ่งจะถูกปฏิเสธการร้องขอหากเป็นการร้องขอจากเครือข่ายภายนอก ทร.) และเมื่อเราต้องการเข้าถึงระบบงานภายใน ทร. บราวเซอร์จะร้องขอไปยังเซิร์ฟเวอร์ระบบงานภายใน ทร. ผ่านทางพร็อกซี่ที่ได้กำหนดค่าไว้ในสคริปท์โดยอัตโนมัติ ทำให้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น สืบค้นข้อมูลทั่วไปบนอินเทอร์เน็ตควบคู่กับการใช้ระบบงานของกองทัพเรือ และการตั้งค่าดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านได้ทั้งในช่วงนอกเวลาราชการหรือในช่วง WFH (Work From Home)