ก่อนมาสัมมนาในครั้งนี้ผู้เขียนเคยได้ยิน (ได้อ่าน) มาบ้าง เรื่อง “การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑” จากการที่ต้องเข้ามาคลุกคลีกับโครงการ “Smart classroom” ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practice) ของ โรงเรียนนายเรือ ผู้เขียนจึงใช้โอกาสนี้มาทำความเข้าใจกับบทบาทของครู ให้ in trend เข้ากับยุคสมัยกับเขาซักหน่อย พอมาเห็นหัวข้อ Show & Share เรื่อง “จากครูสู่โค้ช สอนอย่างไรให้นักเรียนคิดเป็น (Teacher as Coach)” โดย ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์ และ คุณ ณัฐวุฒิ คุ้มทอง จากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็รู้สึกสนใจว่าเค้าจะทำกันยังไง ทีนี้ขอบรรยากาศห้องเรียนก่อน ห้องเรียนจัดเป็นเก้าอี้วงกลม ให้ทุกคนในห้องเห็นหน้ากันหมด มีกระดานสำหรับเขียนข้อความที่เป็นความเข้าใจร่วมกัน ไว้เป็นช่วงๆ ผู้เขียนเห็นสภาพห้องแล้วแบบ… ไม่อยากเข้า เพราะเดาได้เลยว่าผู้เรียนต้องพูดเพื่อแสดงความคิดเห็นแน่ๆ และด้วยความที่ว่าเราเป็นครูใหม่หัดสอน มันก็กังวลว่าจะพูดไรดี แต่ความรู้สึกนี้ ไม่สามารถห้ามความอยากรู้ อยากเห็นของตนเองได้ เลยตัดสินใจ ลุย…ไปข้างหน้า
คำถามแรกที่อาจารย์ให้ผู้เข้าอบรมตอบคือ “คุณทั้งหลายครับ เวลาพวกคุณสอนให้เทคนิคแบบไหนสอนกันครับ” ขอให้ช่วยแยกกลุ่มให้หน่อย
กลุ่ม ๑ ถามคำถาม (Ask) เพื่อให้นักเรียนเห็นปัญหา (Problem) หมายความว่า ครูจะตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา (Root causes analysis) วิธีการง่ายๆ ที่เดี๋ยวนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การตั้งคำถาม ๕ วาย (5 WHYs) หลักการก็ไม่ยาก แค่ถามคำถาม “ทำไม” ไป ๕ ครั้ง (เป็นอย่างน้อย) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาโดยเจาะลึกให้ถึงแก่นที่แท้จริงของปัญหา ผ่านการถามคำถาม ๕ คำถาม ที่เจาะลึกลงไปเรื่อยๆ การสอนแบบนี้ถือเป็นการสอนแบบให้คำแนะนำ (Counseling) คือ ให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุของปัญหา แล้วครูจะแนะนำให้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนตัดสินใจ/คิดวิธีการแก้ปัญหา การสอนแบบนี้ให้ หัวใจเดียว
กลุ่ม ๒ ถามคำถาม (Ask) และชวนให้คิดถึงทางออกของปัญหา (Solution) การสอนแบบนี้ให้หัวใจหลายดวง ครูทำหน้าที่เป็นโค้ชซึ่งจะไม่ให้วิธีการหรือคำแนะนำ แต่จะช่วย (Facilitate) นักเรียนวิเคราะห์สถานการณ์ สร้างแผนการดำเนินงาน/แผนการตามความรู้และสถานการณ์ พร้อมร่วมคิดไปกับนักเรียน เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ ด้วยวิธีการของนักเรียนที่คิดขึ้นได้เอง
กลุ่ม ๓ บอก (Tell) ปัญหา (Problem) กลุ่มนี้ครูซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ (specialist) ในสาขานั้นๆ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา (Consult) ให้คำแนะนำ (Recommend) และวิธีการ (Solution) แก่นักเรียน ในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งที่เฉพาะเจาะจง วิธีนี้ได้หัวใจเดียว เช่นกัน
กลุ่ม ๔ บอก (Tell) ทางออกของปัญหา (Solution) กลุ่มนี้ครูจะเป็นผู้ให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ เทคนิค อบรมถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ดี
กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ สามารถอธิบายได้จาก TAPS Model
ผู้เขียนขอสรุปแนวทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ไว้คร่าวๆ คือ การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ จะเน้นให้ผู้เรียนมีการคิดวิพากษ์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมซึ่งต่อไปจะรวมเรียกว่าทักษะในการเรียนรู้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากกว่าความรู้ บทบาทของครูในสมัยก่อน มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ (จนบางครั้งเลยเถิดกลายเป็นผู้ผูกขาดความรู้และความถูกต้องไว้) นักเรียนส่วนใหญ่จึงเคยชินกับการรับฟังและทำตาม จะต้องปรับไปเน้นที่ทักษะความเป็นโค้ช ครูจึงอาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้/ประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นๆ แต่ครูควรมีลักษณะเหมือนเป็นหุ้นส่วนกับนักเรียนในกระบวนการกระตุ้นความคิดอย่างสร้างสรรค์ ปรับกรอบความคิด และจูงใจหรือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนนำเอาศักยภาพทั้งส่วนตัวและวิชาชีพมาใช้ในรูปแบบหรือแนวทางของตนเอง อาจกล่าวได้ว่า“ลักษณะของการเป็นโค้ชที่ดีคือ ผู้รู้จักวางความรู้ ประสบการณ์ เพื่อเข้าถึงจิตใจผู้อื่น ผ่านการถาม การฟัง การสังเกต การสังเคราะห์มากกว่าการวิเคราะห์ เพราะนักเรียนสามารถคิดเองได้ ถ้าเราเข้าถึงเขา สร้างความไว้วางใจ และความรู้สึกมั่นใจ มั่นคงให้แก่เขาได้ ฟังเขา เชิญชวนให้เขาแสดงความเห็น ชม และกระตุ้น ส่งเสริมการใช้จุดแข็งของเขา” เมื่อจบสัมมนาในเรื่องนี้ ผู้เขียนก็เลือกไปเข้าห้อง Deep listening อยากให้ติดตามเทคนิคนี้ ในตอนต่อไปค่ะ