บันทึกจาก SoTL5
ตอนที่1 เกริ่นนำ
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ที่กำลังเปิดบล็อกนี้เข้ามาอ่านทุกท่าน อาจเป็นเพราะเหตุบังเอิญหรือความผิดพลาดที่กดเปิดเข้ามา แต่อย่าเพิ่งเปลี่ยนใจปิดบล็อกไปไหนค่ะ ผู้เขียนอยากให้ลองเปิดใจอ่านบล็อกนี้สักนิด ด้วยผู้เขียนได้พยายามสรุปความรู้ที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ ๕ (Scholarship of Teaching and Learning ; SoTL5) เมื่อ ๒๗ – ๒๙ มี.ค.๖๒ ที่ โรงแรม S31 จัดโดย สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ สำนักวิชาศึกษาทั่วไป สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สถาบันคลังสมองของชาติ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัย บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่จะประกอบวิชาชีพอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตระหนักถึงการวิจัย เพื่อพัฒนาการศึกษา สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมให้ก่อเกิดประโยชน์ ด้านการศึกษา และรองรับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาแบบองค์รวมในศตวรรษที่ ๒๑
การจัดสัมมนา SoTL (ผู้จัดการสัมมนาอ่านว่า โซ-ทัล) นี้ ในประเทศไทยเพิ่งมีการดำเนินการมาเพียงครั้งที่ ๕ เท่านั้น แต่ในต่างประเทศได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นสิบปีแล้ว ด้วยเหตุนี้คณะผู้จัดงาน จึงมีเป้าหมายที่ต้องการให้สถาบันการศึกษาในทุกระดับชั้น เข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อสร้างเครือข่ายศิลปะการสอนให้ขยายวงกว้าง ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ที่เกี่ยวกับการสอน รวมถึงเป็นแหล่งที่รวมเทคโนโลยีและจิตวิทยาการเรียนการสอน โดยเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของแต่ละสถาบัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยให้ก้าวไกล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งจากความต้องการของคน ความต้องการของงาน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมจากอิทธิพลของ Digital technology และ Digital transformation ในยุคศตวรรษที่ ๒๑
สำหรับ SoTL5 จัดภายใต้ธีม (theme) Future of Learning with Artificial Intelligence : Opportunities or Threat ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตามหัวข้อต่างๆ คือ
– การวิจัยในชั้นเรียน
– การประเมินผล
– เทคนิคการเรียนการสอน
– เทคโนโลยีเพื่อจัดการเรียนการสอน
ผู้เขียนต้องขอบอกความรู้สึกจากใจจริงว่า ในครั้งแรกที่รู้ว่าต้องเข้าร่วมสัมมนา คือการต่อต้านไม่อยากไปเลย เพราะคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ประกอบกับ ตัวผู้เขียนเองไม่ได้จบครู จึงไม่มีความสนใจในหัวข้อใดๆ เลย ออกจะรู้สึกหงุดหงิดที่ต้องไปสัมมนา เมื่อนึกถึงสภาพการจราจรที่ต้องฝ่าฟันไปในถนนสุขุมวิทอันเลื่องชื่อเรื่องรถติด แต่หลังจากที่ไปฟังเพียงห้านาที ผู้เขียนรู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ เพราะเหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอน หรือแม้กระทั่งปรับใช้ในการทำงานอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงได้มองเห็นข้อบกพร่องของตนเองในการทำงานที่ควรต้องปรับปรุง และปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้กับนักเรียนซึ่งเป็นเด็กใน generation Z ที่ส่วนใหญ่มีลักษณะ ที่มีแนวคิดเป็นอิสระของตัวเองอย่างชัดเจน มีความสนใจในเรื่องรอบตัวหลากหลายมิติทั้งเรื่องศิลปะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสังคมจึงชอบทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน นิยมความรวดเร็วทันใจ จึงพยายามมองหาสูตรสำเร็จที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย บางทีนิยมเรียกเด็กในยุคนี้ว่า “Digital Generation” เนื่องด้วยสังคมของเด็กในยุคนี้มีความเป็นพลวัตสูงมาก จึงมีปัญหาในเรื่องทักษะการสื่อสาร เพราะขาดการสื่อสารกันด้วยแววตา การสัมผัส วลีสัมผัส เป็นผลทำให้เด็กไม่มีน้ำใจ ไม่รู้จักความเอื้ออาทร หากเด็กยุคนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอบรมที่ดี จะทำให้เด็กมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ความผูกพันกับองค์กร หรือถิ่นฐานเดิมไม่มี ดังนั้นหน้าที่ของครูส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนในยุค generation X หรือ generation Y นับเป็นพวก Digital Immigrant จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับ Digital world ซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือน สภาพสังคมกลายเป็นสิ่งที่อยู่กลางอากาศหรือไร้พรมแดน ครูจึงต้องมีวิธีการสอนในลักษณะ
๑. การโค้ช คือการเป็นหุ้นส่วนกับนักเรียน ในกระบวนการกระตุ้นความคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ฝึกให้นักเรียนคิดและวิเคราะห์เป็น การสอนแบบอบรมสั่งสอนอาจใช้ไม่ได้ผล การโค้ชสามารถเริ่มอย่างง่ายๆ จากการชวนตั้งคำถาม ข้อสังเกต ให้นักเรียนรู้จักวิธีแก้ปัญหา คิดอย่างมีวิจารณญาณอย่างไตร่ตรอง คือ คิดว่าเรื่องที่ได้ฟัง ได้เห็น ได้รู้เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สมควรเชื่อถือไหม สามารถพิจารณาข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดจากทุกด้านมารวบรวมแล้วตัดสินใจว่าสุดท้ายเป็นอย่างไร
๒. ยกกรณีศึกษาต่างๆ มาเสริมสร้างความรู้เท่าทันให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย รู้จักคิด ตัดสินใจ วางแผนและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังได้ดี
๓. เป็นแบบอย่างที่ดีให้นักเรียน ปลูกฝังในสิ่งที่ดี โดยใช้วิธีที่เกิดจากความรักและสัมพันธภาพที่ดี เมื่อหัวใจนักเรียนเปิด สมองจะเปิดตาม นักเรียนจะค่อยๆ ซึมซับแบบอย่างที่ดีนั้นไปปฏิบัติจนเกิดเป็นจิตสำนึกที่ดี และกลายเป็นจิตอาสาร่วมกันพัฒนาสังคม
เกริ่นนำไปพอสมควรแล้ว พบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ หากผู้อ่านอยากเปลี่ยนบทบาทจากครูเป็นโค้ช