ผีเข้าผีออก
โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.
มีเรื่องเล่าว่า ลูกได้พาพ่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพราะอาการกำเริบหนักจากโรคประจำตัว โรงพยาบาลจึงรับไว้เป็นคนไข้ใน เมื่อถึงเวลาเย็นก็มีพยาบาลมาเช็ดตัวให้ ผู้เป็นลูกยืนดู
อยู่ห่าง ๆ เห็นพยาบาลคนนั้นยกมือยกเท้าคนป่วยแล้วเช็ดเบาๆ ด้วยอาการทะนุถนอมแบบกลัวคนไข้เจ็บ พร้อมกับเช็ดหน้าเช็ดตาให้โดยไม่รังเกียจเลย ทำอย่างกับคนป่วยเป็นพ่อของตน ผู้เป็นลูกเห็นการทำหน้าที่ของพยาบาลเช่นนั้นแล้วเกิดความรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง ประทับใจอย่างเหลือเกิน เย็นวันต่อมาพยาบาลคนเดิมก็เข้ามาเช็ดตัวให้คนป่วยอีก แต่คราวนี้กิริยาท่าทีต่างจากวันแรกอย่างสิ้นเชิง ดูเธอสักแต่ว่าจะทำให้เสร็จ ๆ ไปเท่านั้น ไม่มีอารมณ์จะทำเลย หน้าตาเหมือนคนไม่สบาย จับคนป่วยพลิกยกมือ ยกเท้าแบบกระชากกระชั้น เช็ดถูก็ดูแรง ๆ ทำเอาคนป่วยหน้านิ่วด้วยความเจ็บปวด ฝ่ายผู้เป็นลูกที่ยืนดูอยู่เกิดอารมณ์สงสารพ่ออย่างจับใจ จะบอกให้ทำเบา ๆ ก็ใช่ที่ จึงได้แต่เพียงพูดกับพ่อว่าทนเจ็บหน่อยนะพ่อ เดี๋ยวก็เสร็จแล้ว ดูเหมือนพยาบาลจะได้สติเพราะคำพูดนั้น จึงเพลามือลง และรีบเช็ดตัวให้เสร็จก่อนที่จะรีบเดินออกจากห้องไป เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับสำนวนไทยที่ว่า ผีเข้าผีออก ซึ่งมีความหมายว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่คงที่หรือจะเรียกว่าเป็นคนไม่เสมอต้นเสมอปลายก็ได้
ในแง่คิดทางธรรมอาการผีเข้าผีออกเป็นผลมาจากพื้นจิตเป็นคนประเภทโทสจริต ผสมสัทธาจริต ทำให้บางครั้งเป็นคนใจร้อน ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย แต่บางครั้งกลับเป็นคนมีจิตสาธารณะ ธัมมะธัมโม น่าเชื่อถือและน่าประทับใจ ธรรมโอสถที่ช่วยแก้อาการโทสจริตได้ก็คือ ต้องปฏิบัติกรรมฐานโดยใช้พรหมวิหารธรรมและวัณณกสิณ คือการพิจารณาสีต่าง ๆ เป็นต้นว่า แดง เขียว เหลืองเป็นเครื่องบำบัด ส่วนสัทธาจริตแก้ได้ด้วยพิจารณาอารมณ์กรรมฐานประเภทอนุสติที่จะช่วยปรับพื้นจิตให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างมั่นคง เห็นคุณค่าของความมีจิตอาสาและจิตสาธารณะในทุกโอกาสได้
หากคนประเภทผีเข้าผีออกไม่เป็นที่พึงปรารถนาของทุกสังคม ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นคนอารมณ์ไม่คงที่ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่ถ้าใช้ธรรมบำบัดรักษาอย่างจริงจังจนกลับมาเป็นคนอารมณ์คงที่ มีจิตอาสา และจิตสาธารณะอย่างเสมอต้นเสมอปลายแล้ว ก็จะทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับทุกคนเป็นไปอย่างน่าประทับใจได้ในทุกครั้ง