สารบัญ
ตัวอย่าง (๑)
แนวการตอบข้อสอบอัตนัยวิชาการเมืองไทยและการเมืองระหว่างประเทศ
คำถามข้อ 1 นนร.คิดว่าลักษณะของผู้กำหนดนโยบายมีผลต่อการกำหนดนโยบายหรือไม่ อย่างไร ยกตัวอย่างประกอบ
- ก่อนลงมือตอบ นนร.ควรทำ Outline ก่อนเสมอ เพราะจะช่วยกำหนดขอบเขตในการตอบ โดยอิงกับคำถามให้ครบทุกคำถาม
วิเคราะห์คำถาม( มี 3 คำถาม)
1.ลักษณะของผู้กำหนดนโยบายมีผลต่อการกำหนดนโยบายหรือไม่
2.ถ้าลักษณะของผู้กำหนดนโยบายมีผลต่อการกำหนดนโยบาย มีอย่างไร
3.ยกตัวอย่างประกอบ
แนวทางการตอบ
1.อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้กำหนดนโยบาย(ไม่ได้ถาม แต่ต้องอธิบาย)
- กระบวนการคิดของผู้กำหนดนโยบาย โดยทั่วไป
- ปัจจัยที่ทำให้การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายถูกต้องหรือเบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง
- ยกตัวอย่าง
ตอบ
- อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้กำหนดนโยบาย
การศึกษาทำความเข้าพฤติกรรมของรัฐต่าง ๆ ในโลกนั้น มีความจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย เพราะในความเป็นจริง มนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินใจ รัฐมิได้ปฏิบัติการ แต่มนุษย์ตัดสินใจและกระทำในนามของรัฐ ซึ่งหากเราเข้าใจถึงสาเหตุการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย ก็จะเข้าใจพฤติกรรมของรัฐนั้น ๆ ด้วย เช่น ถ้าเราพูดถึงนโยบายเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์(Constructive Engagement) ของประเทศไทยต่อสหภาพเมียนม่า จริง ๆ แล้วเราพูดถึงนโยบายที่กำหนดขึ้นโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะ
- กระบวนการกำหนดนโยบายของผู้กำหนดนโยบาย โดยทั่วไป
ผู้กำหนดนโยบายจะเป็นผู้ที่ทำการตัดสินใจที่จะเลือกดำเนินตลอดจนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาปัจจัยนำเข้า(inputs) ต่าง ๆ ของกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ว่าปัจจัยนำเข้าต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว มันเปิดโอกาสหรือให้ทางเลือก (ในการดำเนินนโยบาย) อะไรแก่เขาบ้าง และจากทางเลือกต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยนี้ ผู้กำหนดนโยบายก็จะตัดสินใจเลือกทางเลือก หรือนโยบายที่เขาคิดว่าเหมาะสมที่สุด ซึ่งปัจจัยที่กำหนดทางเลือกของผู้กำหนดนโยบาย ประกอบด้วย ผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) ขีดความสามารถ (Capability) สภาพแวดล้อมในขณะนั้น (environment) และผลสะท้อนกลับ(Feed Back)ของตัวแสดงอื่น ๆ
การที่จะพิจารณาว่าผลประโยชน์ของชาติคืออะไร อยู่ที่ไหนก็ดี การพิจารณาขีดความสามารถของรัฐก็ดี การมองสภาพแวดล้อมขณะนั้น ตลอดจนการวิเคราะห์ผลสะท้อนที่จะมีตอบโต้กลับมาก็ดี เป็นหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ผู้กำหนดนโยบายสามารถวิเคราะห์หรือรับรู้ข้อมูลที่เป็นปัจจัยนำเข้าต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ถ้าผู้กำหนดนโยบายมองข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริง การตัดสินใจเลือกดำเนินนโยบายก็มีโอกาสผิดพลาดได้น้อยกว่าการที่ผู้กำหนดนโยบายรับรู้ข้อมูลเหล่านี้อย่างไม่ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง สิ่งสำคัญก็คือการรับรู้(perception)ของผู้นำเป็นอย่างไร
- ปัจจัยที่ทำให้การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายถูกต้องหรือเบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง (ตอบคำถาม) สามารถยกตัวอย่างประกอบรายละเอียดเนื้อหาได้เลย
กระผมคิดว่าคิดว่าลักษณะของผู้กำหนดนโยบายมีผลต่อการกำหนดนโยบายอย่างยิ่ง เนื่องจากคนเรามีโครงสร้างการรับรู้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ได้แก่
1 ลักษณะนิสัย(Charactor)อันเป็นผลมาจาก ค่านิยม ความเชื่อ อุดมการณ์ ตลอดจนสัญชาติญาณของผู้กำหนดนโยบาย เช่น บุคคลนี้โดยพื้นฐานแล้วเป็นคนที่ไว้วางใจผู้อื่น หรือหวาดระแวงผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นคนมีเหตุผลในกรณีส่วนใหญ่หรือไม่ เป็นคนที่มีอุดมการณ์จัดหรือไม่ เพราะคนลักษณะนี้ มักจะเป็นคนยากที่จะประนีประนอมด้วย การมองโลกของเขาเป็นอย่างไร เป็นคนเด็ดขาด มั่นคง หรือสามารถสั่นคลอนได้ง่าย คำถามเหล่านี้อาจถูกตั้งเป็นข้อสันนิษฐานบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกภาพ(Persoanality)ของผู้กำหนดนโยบาย เพราะมันมีส่วนโน้มน้าวพฤติกรรมของพวกเขา จากประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศชี้ให้เห็นอิทธิพลของเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์(Hitler) อิรักสมัยซัดดัม ฮุสเซ็น (Saddam Hussen) สหภาพโซเวียตสมัยกอร์บาชอฟ (Mikail Korbashov) หรืออิทธิพลของนายเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ที่มีต่อการโน้มน้าวนโยบายต่างประเทศของประเทศตนเอง การชี้ตัวผู้กำหนดนโยบายถือเป็นขั้นตอนแรกของการค้นคว้าให้รู้แน่ถึงแหล่งของการตัดสินใจ รู้ให้แน่ว่าใครคือคนที่มีอิทธิพลสูงสุดในการดำเนินงานทางด้านนี้ เพราะการตัดสินใจของเขาไม่ว่าจะเป็นไปตามหน้าที่หรือเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม นั่นคือการตัดสินใจของรัฐ
2 ประสบการณ์ในอดีตและภูมิหลังของผู้กำหนดนโยบาย (Former Experience and Background) ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอะไรก็ได้ตั้งแต่ประสบการณ์วัยเด็กและวัยรุ่น รวมถึงพื้นฐานทางสังคมและระดับการศึกษา ไปจนถึงประสบการณ์จากการกำหนดนโยบายที่ผ่านมา เช่น การต่อสู้ทางการเมือง ผู้กำหนดนโยบายมาจากชนชั้นไหน เป็นคนเชื้อชาติอะไร ผิวสีอะไร ดังเราจะเห็นว่าในประเทศที่มีปัญหาเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ถ้าผู้กำหนดนโยบายเป็นคนเชื้อชาติอะไร มีสีผิวอะไร การตัดสินเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ตลอดจนการเลือกดำเนินนโยายก็สอดคล้องเป็นไปตามผลประโยชน์ของคนเชื้อชาตินั้น ผิวสีนั้น เป็นต้น เช่น ผู้นำคนปัจจุบันซีเรียนับถือนิกายซุนหนี่ ก็มีนโยบายต่อต้านนิกายชีอะห์
สรุป
การกระทำของรัฐเกิดขึ้นเพราะผู้ตัดสินใจกำหนดนโยบายเป็นผู้เลือกข้อตกลงใจ (Decision) ซึ่งมีผลทำให้รัฐมีการกระทำในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น ทำไมจึงแซงชั่นประเทศอื่น ทำไมจึงก่อสงครามกับประเทศอื่น หรือทำไมจึงร่วมมือกับประเทศอื่น ดังนั้นการทำความเข้าใจพฤติกรรมของรัฐจึงหมายถึงการทำความเข้าใจผู้ตัดสินใจกำหนดนโยบายในแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร ทำไมจึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น มีเบื้องหลังอย่างไร หรือมีแรงกระตุ้นอย่างไรจึงต้องดำเนินนโยบายเช่นนั้น ซึ่งจะทำให้เข้าใจการกระทำในเวทีระหว่างประเทศไปด้วย
————————–
ตัวอย่าง (๒)
แนวการตอบข้อสอบอัตนัยวิชาการเมืองไทยและการเมืองระหว่างประเทศ
คำถามข้อ 2 ให้ นนร.ยกตัวอย่างปัจจัยภายในที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่ง
- ก่อนลงมือตอบ นนร.ควรทำ Outline ก่อนเสมอ เพราะจะช่วยกำหนดขอบเขตในการตอบ โดยอิงกับคำถามให้ครบทุกคำถาม
วิเคราะห์คำถาม( มี 1 คำถาม)
- ยกตัวอย่างปัจจัยภายในที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่ง
แนวทางการตอบ
- ปัจจัยในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
- ปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อการกำหนดยโยบายต่างประเทศมีอะไรบ้าง
- ยกกรณีตัวอย่าง
ตอบ
- ปัจจัยในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
ในกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ปัจจัยที่ผู้กำหนดนโยบายจะนำมาพิจารณา ประกอบด้วยปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งปัจจัยภายในได้แก่ ผลประโยชน์แห่งชาติ ขีดความสามารถของชาติ และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อระบบการเมืองของประเทศนั้น ๆ และปัจจัยภายนอกประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกเขตแดนของรัฐที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ โดยปกติการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศอาจพิจารณาอิทธิพลจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
- ปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อการกำหนดยโยบายต่างประเทศมีอะไรบ้าง (สามารถยกตัวอย่างประกอบได้เลย)
จากโจทย์ให้พิจารณาเฉพาะในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ ที่ส่งผลต่อการกำนดนโยบายต่างประเทศ กระผมพิจารณายกตัวอย่าง(ตัวอย่าง ๑) กรณีที่อิทธิพลการเมืองภายใน และปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน และการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ได้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจสมัยประธานาธิบดีโอบามาที่เผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ 2008 ทำให้บทบาทระหว่างประเทศของโอบามาไม่ชัดเจน และไม่สนใจส่งกองกำลังทหารไปช่วยแก้ไขวิกฤติการณ์ในลิเบีย
(ตัวอย่าง ๒) บทบาทการเมืองภายในส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศ กรณที่ประเทศอังกฤษประกาศไม่เข้าร่วมสหภาพทางการเงินของสหภาพยุโรปเนื่องจากอุดมการณ์อนุรักษนิยมและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเงินของอังกฤษนับเป็นเหตุผลทางการเมืองภายในเป็นหลักในการกำหนดนโยบายให้คงไว้ซึ่งการใช้เงินตราปอนด์ของอังกฤษต่อไป
(ตัวอย่าง ๓) ญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นถึงนโยบายการปกป้องทางการค้า (Protectionism Trade Policy) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชาตินิยมหรือเน้นการใช้สินค้าทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก
(ตัวอย่าง ๔) ความขัดแย้งในอดีตยูโกสลาเวียอันเกิดจากชาวเซอร์เบียหรือชาวเซิร์บทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับชาวโคโซโว และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ทั้งยังไม่ต้องการให้แยกเป็นเอกราชอันเนื่องจากเหตุผลด้านทรัพยากรเป็นหลัก ส่งผลให้การดำเนินสงครามภายในประเทศเกิดขึ้นโดยไม่สนใจเสียงต่อต้านจากปัจจัยภายนอกประเทศหรือ องค์การระหว่างประเทศ ดังนั้นแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเซอร์เบียจึงไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาด้วยนัยยะเหตุผลทางการเมืองภายในประเทศเป็นหลัก
(ตัวอย่าง ๕) ปัจจัยภายในอันส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศเช่น การตัดสินใจของประธานาธิบดีคลินตันร่วมกับกิจการขององค์การนาโตในการแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในอดีตยูโกสลาเวียท่ามกลางข่าวอื้อฉาวว่าประธานาธิบดี บิล คลินตันมีความสัมพันธ์กับ นางเลวินสกี้ คลินตันจึงตัดสินใจสร้างเหตุการณ์ระหว่างประเทศโดยการวางระเบิดที่ยูโกสลาเวียเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจเหตุการณ์ภายในประเทศ (Wittkopf and McCormick,1999,xv)
(ตัวอย่าง ๖) กรณีประเทศไทย ที่ปัจจัยภายในทางด้านการเมือง ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ช่วงที่เกิดรัฐประหาร (19 ก.ย. 2006-ก่อนแต่งตั้งรัฐบาลใหม่) ได้เกิดผลกระทบต่อไทยมาก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยและไม่เจรจา FTA ด้วยจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส่วนสหรัฐฯก็บีบไทยด้วยการตัดความช่วยเหลือด้านการทหารจำนวน 29 ล้านเหรียญ จีนจึงถือโอกาสนี้ให้ความช่วยเหลือไทยถึง 40 ล้านเหรียญ ทหารจึงไม่สนใจสหรัฐฯ ช่วงนี้ไทยไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯอย่างเต็มที่จึงต้องวิ่งเข้าหาจีน ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งก็ไม่สามารถกำหนดนโยบายอย่างเป็นทางการได้ เพราะประเทศอื่นไม่ยอมรับ
สรุป
หากพิจารณากระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศตามแนวคิดของนักวิชาการที่ทำการวิเคราะห์กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ จะพบประเด็นเปรียบเทียบปัจจัยระหว่างบทบาทการเมืองภายในและบทบาทการเมืองระหว่างประเทศว่าปัจจัยใดมีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศมากกว่ากัน กล่าวคือในการศึกษากรอบการกำหนดนโยบายต่างประเทศโดยต้องทำการศึกษาผ่านทั้งปัจจัยการเมืองภายในและปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศดังกล่าว
————————–
ตัวอย่าง (๓)
แนวการตอบข้อสอบอัตนัยวิชาการเมืองไทยและการเมืองระหว่างประเทศ
คำถามข้อ 3 ระบบระหว่างประเทศในปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร และมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร
- ก่อนลงมือตอบ นนร.ควรทำ Outline ก่อนเสมอ เพราะจะช่วยกำหนดขอบเขตในการตอบ โดยอิงกับคำถามให้ครบทุกคำถาม
วิเคราะห์คำถาม( มี 2 คำถาม)
1.ระบบระหว่างประเทศในปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร
2.ระบบระหว่างประเทศในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร
แนวทางการตอบ
- อธิบายความหมายของระบบระหว่างประเทศ (พอสังเขป ที่จะนำไปสู่การตอบคำถาม)
- ระบบระหว่างประเทศปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร (ตอบคำถามแรก)
- ระบบระหว่างประเทศปัจจุบันมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร (ตอบคำถามที่ ๒) (เพื่อให้การอธิบายอย่างเป็นระบบต้องระบุให้ชัดเจนเลยว่าจะอธิบายผลกระทบทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม หรือกระทบหมดทุกด้านก็ได้)
ตอบ
- อธิบายความหมายของระบบระหว่างประเทศ (พอสังเขป ที่จะนำไปสู่การตอบคำถาม)
ในการศึกษาระบบระหว่างประเทศนั้น มีแนวความคิดว่าในโลกซึ่งประกอบไปด้วยรัฐอิสระต่าง ๆ กว่า 185 รัฐนั้น มีความสัมพันธ์กันหลายระดับ ได้แก่ ประเทศที่มีการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ในระบบใหญ่ (Dominant System) และประเทศที่อยู่ในระบบรอง(Sub System) ตัวแสดงสำคัญในระบบใหญ่ได้แก่ตัวแสดงที่มีอิทธิพลครอบคลุมไปทั่วโลก เช่น ประเทศมหาอำนาจ องค์การสหประชาชาติ และกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น ส่วนตัวแสดงในระบบรองจะเป็นตัวแสดงอื่น ๆ ที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคของโลก ระบบใหญ่จะมีอิทธิพลต่อระบบรองในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวคือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระบบใหญ่ ระบบรอง ๆ ก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่ง ซึ่งมีสถานภาพอยู่ในระบบรอง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบใหญ่
- ระบบระหว่างประเทศปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร (ตอบคำถามแรก)
ตามความเห็นของกลุ่มกระผม เห็นว่าทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นระบบ 1 ขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก หากเปรียบระบบโลกเป็นปิรามิด ในปัจจุบัน มีสหรัฐฯอยู่บนยอดปิรามิดเพียงประเทศเดียว สหรัฐฯมีพลังอำนาจแห่งชาติที่ครบเครื่องในทุกๆด้าน ทั้งอำนาจทางทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม สหรัฐฯเป็นผู้นำในระบบโลก โดยครอบงำองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ UN นอกจากนั้น สหรัฐฯก็มีเครือข่ายทางทหารทั่วโลก โดยเฉพาะพันธมิตรนาโต้
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต มีแนวโน้มชัดเจนว่า มหาอำนาจใหม่กำลังจะผงาดขึ้นมา โดยเฉพาะจีน อินเดีย บราซิล และรัสเซีย สำหรับ จีน ถือว่ามาแรงที่สุด ในอนาคต จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอิทธิพลของจีนจะขยายออกไปเรื่อยๆ ดังนั้น ระบบโลกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วอำนาจไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ที่มีการแข่งขันทางทหารและทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่ก็จะยังคงไม่ใช่ระบบหลายขั้วอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น ระบบการเมืองโลกในอนาคต จะมีลักษณะเป็นลูกผสม หรือ กึ่งหนึ่งขั้วอำนาจ กึ่งหลายขั้วอำนาจ
นอกจากนี้ ในอนาคต องค์การระหว่างประเทศจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ UN จะทำให้ระบบโลกมีลักษณะเป็นโลกาภิบาล หรือ global governance มากขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นระบบพหุภาคีนิยม (multilateralism) มากขึ้น แต่ระบบพหุภาคีนิยม ก็จะยังไม่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน
- ระบบระหว่างประเทศปัจจุบันมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร (ตอบคำถามที่ ๒) (นนร.สามารถจัดกลุ่มของผลกระทบเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในที่นี้โจทย์ไม่ได้ระบุผลกระทบด้านใด ๆ นนร.ก็สามารถเลือกตอบได้)
จากลักษณะของระบบระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่เป็นประเทศขนาดกลาง ในที่นี้ กระผมขอกล่าวถึงเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเราควรปรับตัวเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของชาติ เช่น การขยายอำนาจการต่อรองด้วยการรวมตัวกับอาเซียนอย่างเข้มแข็ง การปกป้องและพัฒนาผู้ผลิตภายในประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น
สรุป
อย่างไรก็ตาม การที่จะนำพาประเทศให้สามารถยืนหยัดและพัฒนาต่อไปได้ ควรมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่รองรับต่อระบบโลกในอนาคต และไทยจะต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงผลกระทบทั้งในเชิงบวก และในเชิงลบ คือวิเคราะห์ว่า ระบบโลกในอนาคตจะเป็นภัยต่อไทยอย่างไร และจะเป็นโอกาสต่อไทยอย่างไร
————————–
น.อ.หญิง ผศ.ขนิษนาฏ รัตนพฤกษ์
ก.ย.๖๐
การตอบข้อสอบอัตนัยอ่านแล้ว สามารถข้อสอบได้อย่างมีแนวทาง