คุณธรรมผู้ใหญ่
โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.
ในเรื่อง “รามเกียรติ์” มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายตอนด้วยกัน โดยเฉพาะตอนที่กล่าวถึงพระลักษมณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ วิธีที่จะแก้ไขก็คือ ต้องไปหาสรรพยาอันได้แก่ สังกรณี ตรีชวา และน้ำจากปัญจมหานที มาแก้ไขพิษหอกโมกขศักดิ์ และต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ผู้ที่รับอาสาไปเอาสรรพยาก็คือ หนุมาน แต่หนุมานมีปฏิภาณว่องไว แทนที่จะรีบไปหาสรรพยามาให้ทันชั่วคืนเดียว กลับเหาะไปยึดรถพระอาทิตย์ เพื่อมิให้ส่องสว่างมายังพื้นโลก อันเป็นเงื่อนไขความเป็นความตายของพระลักษมณ์ หลังจากพระอาทิตย์หันมาทอดพระเนตรจนหนุมานร่างไหม้เป็นจุลแล้วชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ถามถึงความประสงค์จนทราบความต้องการ แต่พระอาทิตย์ไม่สามารถตอบสนองได้เพราะผิดวิสัยราศีจักร แต่ก็สามารถยืดหยุ่นให้ได้โดยชักราชรถเข้าไปหลบในกลีบเมฆมิให้ส่องแสงมายังพื้นโลกทำให้หนุมานสามารถไปเอาสรรพยามารักษาพระลักษมณ์ได้ทันท่วงทีก่อนสว่าง
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้คือ พระอาทิตย์แม้มีอานุภาพมาก แต่ก็ยังมีความเห็นอกเห็นใจ รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว แก้ปัญหาด้วยวิธีนิ่มนวล เป็นการประสานประโยชน์ผู้อื่น และตนเองก็ไม่เสียหลักการ พร้อมสร้างคุณธรรมตรึงใจ ๕ ประการ คือ
๑. พึ่งพาได้ เมื่อใดที่ผู้น้อยมีปัญหา ก็ขวนขวายช่วยเหลือ หรือแนะนำแนวทางแก้ปัญหาได้
๒. ใช้หลักการ คือมีเป้าหมายที่ชัดเจน และดำเนินไปตามหลักการนั้น ๆ มิใช่ว่าวันนี้มีหลักการอย่างหนึ่ง รุ่งขึ้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง
๓. หาญรับหน้า เมื่อเกิดความผิดพลาดเสียหาย ก็พร้อมรับผิดชอบ มิใช่ว่า ผิดไม่รับ แต่ชอบนั้นต้องการ
๔. กล้าตัดสินใจ อันเป็นเครื่องแสดงออกถึงความกล้าหาญทางความคิดและการตัดสินใจ
๕. ไม่ไร้มนุษยสัมพันธ์ คือมีคุณธรรม ได้แก่ ความโอบอ้อมอารี มีวจีไพเราะ สงเคราะห์ทุกคน วางตนได้เหมาะสม อันเป็นฐานทำให้สามารถประสานสัมพันธ์กับคนได้ทุกระดับชั้น
ดังนั้น ผู้ใหญ่หรือผู้กำลังเป็นใหญ่ ควรศึกษาวิธีการและคุณธรรมดังกล่าวแล้วนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นหลักชัยตรึงใจผู้น้อยต่อไป