๙.เรือยนต์
ก. การขึ้น – ลงเรือ
นายทหารยามและนายทหารอื่น ๆ ตลอดจนจ่ายามและนายท้ายเรือยนต์จะต้องช่วยกันกวดขันตักเตือน ให้ผู้ที่ขึ้นลงเรือยนต์ทุกนายปฏิบัติตามหัวต่อไปนี้
๑) แต่งกายให้รัดกุม นายท้ายเรือและคนขอตะเพราเอาสายรัดคางลง
๒) ต้องขึ้นลงเรือด้วยความรวดเร็ว ว่องไวและแข็งแรง
๓) ห้ามมีเสียงพูด ให้มีแต่เสียงผู้สั่งการเท่านั้น
๔) ห้ามเหยียบกระทงเรือ ให้เดินข้ามกระทงไปตามท้องเรือ
๕) ผู้ที่ลงก่อน ถ้าลงท้ายเรือให้ไปยังหางหัวเรือก่อน ถ้าลงจากหัวเรือให้ไปนั่งทางท้ายเรือก่อนโดยแต่งเรืออย่าให้เอียง กราบขวา – ซ้าย หรือหนักหัว – ท้าย เว้นแต่จะได้สั่งการเป็นอย่างอื่น
๖) ผู้อื่นนอกจากนายท้ายให้นั่งกอดอกอยู่เสมอ แขนซ้ายทับแขนขวาว่อนกำมือไว้ ยืดลำตรงและนิ่งกดคางลงเล็กน้อย
ข. สัญญาณที่ใช้สั่งจักร
ผู้นำเรือหรือนายท้ายเป็นผู้ใช้
๑) เตรียมเครื่อง ระฆังหรือนกหวีดสั้น ๑ ครั้ง ผู้ใช้เครื่องเริ่มเดินเครื่องยนต์พร้อมที่จะใช้เครื่องได้
๒) หยุดเครื่อง ระฆังหรือนกหวีดสั้น ๑ ครั้ง
๓) ถอยหลัง ระฆังหรือนกหวีดสั้น ๒ ครั้ง
๔) เดินหน้าเบา ระฆังหรือนกหวีดสั้น ๓ ครั้ง
๕) เดินหน้าเต็มตัว ระฆังหรือนกหวีดสั้น ๔ – ๕ ครั้ง (รัวถี่)
๖) เลิกเครื่อง . – . – . – . – (สั้น – ยาว, สั้น – ยาว, สั้น – ยาว, ยาว)
ค. หน้าที่คนขอตะเพรา
ในการนำเรือ นั้น นายท้ายอาจไม่สามารถนำเรือเข้าเทียบเรือใหญ่ได้ตามต้องการ โดยเฉพาะในเวลามีคลื่นลมจัด จึงจำเป็นต้องใช้ขอตะเพราช่วยดึงเรือเล็กให้เข้าชิดเรือใหญ่ โดยใช้ขอตะเพราเกี่ยวส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือใหญ่ แต่งเรือให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ
ตามปกติ คนขอตระเพราให้นั่งอยู่ที่หัวเรือสุด เมื่อเรือจะเข้าเทียบให้ยกขอตะเพราขึ้น แล้วตั้งขอตะเพราอยู่กับพื้นท้องเรือหรือชานหัวเรือ ห่างตัวเรือเล็กน้อย มือทั้งสองที่กำขอตะเพราอยู่ชิดกัน มือที่อยู่ทางกราบเทียบอยู่บน มือที่อยู่ข้างล่างอยู่ประมาณแนวเข็มขัด แขนท่อนล่างทั้งสองได้ฉากกับขอตะเพรา ข้อศอกกางออกเล็กน้อยพองาม เมื่อเรือเข้าใกล้ที่เทียบ จนเห็นว่า สมควรใช้ขอตะเพรารับเรือได้แล้ว ให้คนขอตะเพราออกไปรับเรือ ให้มือทั้งสองแยกห่างจากกัน มือที่อยู่ใกล้เรือใหญ่หงาย อีกมือคว่ำ ใช้ขอตะเพราเกี่ยวกับเรือใหญ่ที่เทียบไว้ และแต่งเรือให้ขนานกับเรือใหญ่ แล้วบังคับให้เรือหยุด เมื่อเห็นว่า ที่นั่งของนายทหารตรงกับบันไดเรือใหญ่ (ที่เทียบ) ระวัง !!! อย่าให้หัวเรือซบเข้าติดกับเรือใหญ่หรือถ่างออก พยายามให้ขนานกับเรือใหญ่เสมอ เมื่อจะออกเรือ นายท้ายสั่ง “หัวเรือผลักออก”
ตามปกติ คนขอตะเพราเป็นผู้ผลัก เพราะยืนอยู่แล้วที่หัวเรือ เมื่อค้ำเรือออกแล้ว คงยืนถือขอตะเพรา เมื่อเรือใช้เครื่องจักรเดินหน้าหรือถอยหลัง คนขอตะเพราจึงกลับหลังหัน เข้านั่งประจำที่วางขอตะเพราลง
ง. การบังคับเรือยนต์ (SHIP HANDING) คือการกระทำที่จะให้เรืออยู่ในอำนาจและเป็นไปตามความประสงค์ของผู้นำเรือโดยการใช้เครื่องจักร – หางเสือให้สัมพันธ์กับ เวลา กระแสน้ำ กระแสลม และระยะทาง ซึ่งผู้ที่เป็นนายเรือจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเป็นอย่างดี
การบังคับเรือกลหรือเรือยนต์โดยทั่วไป ก็ขึ้นอยู่กับ กฎสามัญของการเรือ แต่วิธีการนำเรือลำหนึ่ง ย่อมแตกต่างกันไปจากอีกลำหนึ่ง เพราะรูปของท้องเรือ จำนวนใบจักร และชนิดของหางเสือ ไม่เหมือนกัน
ปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบังคับเรือ นั้น มีอยู่ ๒ ประเภท คือ.-
๑) ปัจจัยภายใน คือ คุณสมบัติและส่วนประกอบของเรือ
ก) ตัวเรือ (SHIP ‘S HULL)
– ความกว้าง เรือที่มีความกว้างมากย่อมมีระยะเคลื่อนไปข้างหน้าหรือถอยหลังน้อย แต่การหันจะแสดงอาการตอบได้เร็วส่วนเรือที่มีความกว้างน้อยย่อมมีระยะเคลื่อนไปข้างหน้าหรือถอยหลังมาก แต่การหันจะแสดงอาการตอบได้ช้ากว่า
– ความยาว เรือที่มีความยาวมากย่อมหันได้ช้ากว่าเรือที่มีความยาวน้อย
– ท้องเรือ เรือที่กินน้ำตื้นบังคับได้ง่ายกว่าเรือที่กินน้ำลึก
– เรือที่มีกระดูกงู จะมีวงหันกว้างกว่า เรือไม่มีกระดูกงู
– เรือที่มีกระดูกงูปีก จะมีวงหันกว้างกว่า เรือที่ไม่มีกระดูกงูปีก
ข) เครื่องจักร
– เรือจักรเดี่ยว (หมุนขวา)
– เมื่อเรือเดินหน้าท้ายเรือตกไปทางขวา
– เมื่อเรือถอยหลังท้ายเรือตกไปทางซ้าย
– การกลับลำในที่แคบ ให้กลับลำทางขวา จะสะดวกกว่า
– ในการเทียบเรือ เทียบกราบซ้าย และสะดวกกว่า
– เรือจักรคู่ อาการผลักทางข้างของใบจักร จะลบล้างกัน การกลับลำทำได้ง่ายขึ้น เพราะใช้การหมุนเรือโดยเดินเครื่องกลับกัน
ค) หางเสือ
– เมื่อเรือกำลังแล่น อำนาจของหางเสือจะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มความเร็วของเรือ
– มุมหางเสือที่ใช้มีผลสูงสุดเมื่อมุมเป็น ๓๕ องศา เมื่อเกินกว่านี้แล้วอำนาจของหางเสือจะลดลงอำนาจการต้านทานของหางเสือต่อความเร็วของเรือจะมีมากขึ้น
– การใช้มุมหางเสือมาก ๆ ทันทีทันใด ควรใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้นเพราะอาจจะทำให้เรือเอียงโดยแรงหรือคว่ำได้
– ผู้นำเรือ จะต้องทราบถึงลักษณะของแต่ละมุมหางเสือที่ใช้กับการตอบสนองของการหันของเรือทั้งเวลาเดินหน้า, ถอยหลัง, ครึ่งตัว, เต็มตัว
– โดยปกติ เรือเดินหน้าหางเสือตรงเรือจะตรงไป หางเสือขวา หัวเรือขวา หางเสือซ้าย หัวเรือจะไปทางซ้าย และเมื่อเรือถอยหลังหางเสือตรงเรือจะตรงไป หางเสือขวาหัวเรือไปซ้าย หางเสือซ้าย หัวเรือไปขวา
๒) ปัจจัยภายนอก ที่ผู้นำเรือจะต้องคำนึงถึง ก็คือ
ก) กระแสน้ำ ต้องคำนึงถึงทั้งทิศทางและความเร็ว
ข) กระแสลม ต้องคำนึงถึงทั้งทิศทางและความเร็ว
ค) ท่าเทียบ
– รูปร่าง T, L, I
– ความกว้างของหน้าท่า
– ความลึก
จ. การบังคับเรือในเวลามีคลื่นลมจัด
นายท้าย พึงระมัดระวังในการนำเรือ
๑) ลดความเร็วลง
ก) เพื่อไม่ให้เรือกระโดดขึ้นลงมากเกินไป
ข) เพื่อป้องกันเครื่องยนต์ชำรุด เสียหายในเมื่อใบจักรพ้นน้ำ
ค) หลักสำคัญ ก็คือ จงใช้ความเร็วแต่พอสมควร
๒) สั่งเบาเครื่องเป็นครั้งคราว เมื่อคลื่นใหญ่หรือใบจักรพ้นน้ำในลักษณะเช่นนี้ ช่างเครื่องควรใช้ไหวพริบเบาเครื่องได้เองให้ได้จังหวะกับคลื่น โดยไม่ต้องรอสัญญาณสั่งการจากนายท้ายก็ได้ เพราะถ้ารอนายท้ายสั่ง อาจไม่ทันการ
๓) ถ้านำเรือแล่นในทางขวางคลื่น เฉียงคลื่นในบางคราวมีลูกคลื่นใหญ่ชัดมาควรหันหัวสู้คลื่นไว้ก่อนจนกว่าจะผ่านพ้นไป
๔) จูงเรืออื่นอยู่ ควรแต่งระดับให้ใบจักรกินน้ำพอสมควร
ฉ. การนำเรือเข้าเทียบ
๑) นายท้ายเรือต้องมีความชำนาญ รู้กำลังของเรือและกำลังของหางเสือ
๒) นายท้ายเรือต้องระมัดระวังเกี่ยวกับทริมและโมเมนตัมของเรือ
๓) อย่าเข้าเรือแรงเกินไป
๔) นำเรือไปเกือบขนานกับท่าที่จะเทียบ
๕) พยายามให้หัวเรือทวนน้ำเข้าเทียบเสมอ
๖) สั่งหยุดเครื่องในระยะพอสมควรก่อนถึงบันไดหรือท่าเทียบ
๗) ไม่จำเป็นไม่ควรใช้เครื่องถอยหลังช่วย เพราะอาจจะทำให้บังคับเรือยาก
๘) อย่าทำการเทียบโดยเร่งร้อนจนเกินไป
๙) การนำเรือเทียบเรือใหญ่ถ้าทำได้ควรเทียบใต้ลม
๑๐) การใช้เชือกนำช่วย เมื่อมีคลื่นลมจัด หรือกระแสน้ำ โดยปฏิบัติงานสัมพันธ์กับเรือใหญ่ดังนี้.-
– เมื่อเรือเล็กเข้ามาใกล้ยามบันไดโดยเชือกนำให้ อย่าให้ถูกคนรับ
– คนขอตะเพรารับเชือกแล้วแต่งเชือกจนที่นั่งท้ายเรืออยู่ตรงบันไดอย่าให้เชือกยุ่ง
– การผูกเชือกต้องแน่นและแก้ง่ายปกติให้เงื่อนตะกรุดเบ็ด
– นายท้ายเรือแต่งเรือให้ขนานกับเรือใหญ่ ระมัดระวังอย่างให้กระแทกบันไดหรือกราบเรือ (ดูรูป)
รูปแสดง ตัวอย่างการเทียบเรือ
รูปแสดง ตัวอย่างการเทียบเรือ
|
||||
|
รูปแสดง ตัวอย่างการเทียบเรือ
|
รูปแสดง ตัวอย่างการเทียบเรือ
……………………………………………………..