๑. เรือกรรเชียง
ตามปกติ เรือเล็กหรือเรือกระเชียงเปรียบเสมือนตัวแทนของเรือใหญ่ ดังที่เรียนมาแล้วในภาคทฤษฎีว่าด้วยข้อบังคับเรือโบต เรือกระเชียงมักจะต้องถูกจัดเป็นพาหนะใช้ในการเกี่ยวกับเกียรติยศ ดังนั้นเรือกระเชียงต้องสะอาดและเรียบร้อยผู้ที่ใช้เรือกระเชียงต้องปฏิบัติให้แข็งแรง องอาจ มีระเบียบ วินัย สง่างาม เพื่อจะได้มาสิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องฝึกหัดให้เกิดความเคยชินและความมั่นใจ
ก. การขึ้น – ลงเรือ นายทหารยามและนายทหารอื่น ๆ ตลอดจนจ่ายามและนายท้ายเรือกระเชียงต้องช่วยการกวดขันและตักเตือนให้ผู้ที่ขึ้นลงเรือกระเชียงทุกนาย ให้ปฏิบัติตามหัวข้อต่อไปนี้
๑) แต่งกายให้รัดกุม นายท้ายและคนกระเชียงเอาสายรัดคางลง
๒) ต้องขึ้นลงเรือด้วยความรวดเร็ว ว่องไวและแข็งแรง
๓) ห้ามมีเสียงพูด ให้มีแค่เสียงผู้สั่งการเท่านั้น
๔) ห้ามเหยียบกระทงเรือ ให้เดินข้ามกระทงไปตามท้องเรือ
๕) คนกระเชียงถ้าลงจากท้ายเรือกจะต้องเข้านั่งประจำกระชียงที่กระทงหัวสุดของเรือก่อน ส่วนคนต่อ ๆ ไป นั่งกระทงต่อ ๆ กันตามลำดับ เว้นแต่จะได้สั่งการเป็นอย่างอื่น การนั่งกระเชียงตามปกติ ควรนั่งประมาณครึ่งกระทง
๖) เมื่อเข้าประจำกระเชียงแล้ว จะต้องจัดกระเชียงของตนให้พร้อมที่จะใช้กระเชียงได้ โดยใส่หลักกระเชียงไว้ให้ถูกต้อง เรียบร้อย และวางกระเชียงให้ชิดกราบเรือแต่ละกราบ กระเชียงคู่หน้า (ท้ายเรือ) อยู่ด้านนอกเรือสุด กระเชียงถัดไปเรียงเข้ามาด้านในเรือตามลำดับ ใบกระเชียงอยู่ทางด้านหัวเรือวางแบนราบกับกระทงเรือและอยู่บนเชือกหูกระเชียงของกระเชียงคู่หลังถัดไป ปลายด้ามกระเชียงอยู่ประมาณแนวหัวเข่า เมื่อหันไปจับเพื่อเอากระเชียงออกจะพอดีกับช่วยมือทั้งสอง ขอตะเพลาอยู่กลางปลายชี้ไปทางท้ายเรือ ด้ามอยู่ข้างคนกระเชียงคู่หัวเรือสุด
๗) เมื่อไม่ได้กระเชียงให้นั่งกอดอกอยู่เสมอ แขนซ้ายทับแขนขา ซ่อนกำมือไว้ ยืดลำตัวตรงและนิ่ง ตามองศีรษะของคนข้างหน้า กดคางลงเล็กน้อย
๘) คนที่เหลือจากประจำกระเชียงห้ามนั่งที่หัวเรือ ให้นั่งทางท้ายเรือ เพื่อให้โอกาสคนกระเชียงหัวได้ใช้ขอตะเพลาได้เต็มที่ แล้วนั่งกอดอกเช่นเดียวกับพวกประจำกระเชียง
๙) เมื่อจะขึ้นจากเรือให้ถอดกระเชียงออกเสมอ
ข. ระวังกระเชียง เมื่อกระเชียงลอยลำออกห่างจากเรือที่เทียบแล้วหรือลอยอยู่ต้องการตรวจสอบว่า คนกระเชียงจัดกระเชียง และเตรียมการที่จะใช้กระเชียงเรียบร้อยหรือไม่ ทำการสั่งได้ด้วยการสั่ง “ระวังกระเชียง” โดยให้ปฏิบัติดังนี้
๑) ผู้สั่งใช้คำบอกคำสั่ง “ระวังกระเชียง”
๒) คนกระเชียงกราบขวา เอามือขวาจับปลายด้ามกระเชียงคว่ำมือ มือซ้ายจับด้ามกระเชียงห่างจากมือขวาประมาณ ๑ ศอก หงายมือ คนกระเชียงกราบซ้าย เอามือซ้ายจับปลายด้ามกระเชียงค่ำมือและมือขวาจับด้ามกระเชียง ห่างจากมือซ้ายประมาณ ๑ ศอก หงายมือแล้วแต่ยกกระเชียงขึ้นพาดกราบเรือ โดยให้กระเชียง ๑ ออกก่อนแล้วกระเชียงต่อ ๆ ไป ออกในจังหวะติดต่อกันโดยเร็วที่สุดเป็นลักษณะคลี่พัด ใบกระเชียงแบนได้ระดับกับพื้นน้ำขนานกันตามราบ กระทำกับกระดูกงูเรือประมาณ ๓๐ องศา จากหัวเรือ (ถ้าต้องการเรือเป็นการรีบด่วน จะสั่งกระเชียงออก โดยไม่ต้องสั่งระวังกระเชียงก่อน ก็ทำได้)
ค. กระเชียงออก – เข้า
“กระเชียงออก”
๑) ผู้สั่งใช้คำบอกคำสั่ง “กระเชียงออก”
๒) คนกระเชียงกราบขวา จับปลายด้ามกระเชียงในลักษณะคว่ำมือ มือซ้ายจับด้ามกระเชียงห่างจากมือขวาประมาณ ๑ ศอก ในลักษณะหงายมือคนกระเชียงกราบซ้ายเอามือซ้ายจับปลายด้ามกระเชียงในลักษณะคว่ำมือ มือขวาจับด้ามกระเชียงห่างจากมือซ้ายประมาณ ๑ ศอก ในลักษณะหงายมือ แล้วต่างยกกระเชียงวางลงในง่ามหลักกระเชียงพร้อมกัน โดยใช้กระเชียง ๑ ออกก่อน แล้วกระเชียงต่อ ๆ ไป ออกในจังหวะติดต่อกันโดยเร็วที่สุดเป็นลักษณะคลี่พัดจากท้ายเรือไปหัวเรือ อย่าให้ใบกระเชียงแตะน้ำ ใบกระเชียงแบนได้ระดับกับพื้นน้ำ กระเชียงแต่ละคู่ต้องอยู่ในแนวเดียวกัน คนกระเชียงต้องนั่งนิ่ง ตัวตรงข้อศอกชิดลำตัว ขาเหยียดและเท้าทั้งสองยันที่ไม้ยันเท้า มือทั้งสองคว่ำ จับกระเชียงห่างกันเท่ากับความกว้างของหน้าอกแขนท่อนล่างขนานกัน ตาแลตรงไปข้าหน้า
“กระเชียงเข้า” เมื่อประสงค์จะให้เอากระเชียงเข้า เพื่อจอดเรือให้ปฏิบัติดังนี้
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “กระเชียงเข้า”
๒) คนกระเชียงจับกระเชียงในท่าเริ่มแรกกระชียงออก ยกกระเชียงขึ้นวางลงในเรือตามกราบของตน คนกระเชียงหัวให้รีบวางลงก่อนแล้วคนกระเชียงต่อ ๆ ไป จึงวางลงตามโดยเร็ว ทำให้เหมือนลักษณะหุบพัด เสร็จแล้วเอาลูกตะเพราออก แล้วจึงนั่งกอดอก (ให้ถือว่า เมื่อกระเชียงออก จะต้องเอาลูกตะเพราเข้าเก็บในเรือ และเมื่อกระเชียงเข้า จะต้องเอาลูกตะเพราออกเสมอ)
ง. การตีกระเชียง การตีกระเชียงแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ
๑) ตีแบบปิดจังหวะ
๒) ตีแบบเปิดจังหวะ
การตีแบบปิดจังหวะ เป็นการฝึกหัดขั้นต้น เพื่อให้ผู้รับการฝึกหัดตีกระเชียงได้ถูกต้อง เป็นแบบเดียวกัน การตีปิดจังหวะนี้แบ่งออกเป็น ๓ จังหวะ คือ
๑) จังหวะที่ ๑ ผู้สั่งใช้คำบอกคำสั่ง “ตีปิดจังหวะ ๑” คนกระเชียงโย้ตัวพร้อมกับกระแทกกระเชียงไปข้างหน้าโดยแรง หลังตรง แขนทั้งสองตึง ตาแลตรงไปข้างหน้า ศีรษะตรงตามแนวลำตัวเท้ายันอยู่บนไม้ยันเท้าตามเดิม ตัวโย้ไปข้างหน้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เว้นแต่คนกระเชียงคู่ ๑ ต้องไม่โย้ตัวมากเกินไป มือทั้งสองจับกระเชียงตามเดิมของท่ากระเชียงออกพลิกใบกระเชียงโดยม้วนข้อมือเข้าหาลำตัว ทำให้ใบกระเชียงด้านหน้าทำมุมกับพื้นน้ำเล็กน้อย ปลายใบกระเชียงจะอยู่สูงจากน้ำประมาณ ๑ คืบ
๒) จังหวะที่ ๒ ผู้สั่งใช้คำบอกคำสั่ง “๒” (ลากเสียง) คนกระเชียงจุ่มใบกระเชียงลงน้ำพร้อมกันทั้งสองกราบ โดยไม่ต้องชำเลืองหรือหันไปดูใบกระเชียงแขนตึง เอนตัวดึงใบกระเชียงไปข้างหลังด้วยกำลังแขนและน้ำหนักตัวให้ใบกระเชียงลงน้ำประมาณครึ่งใบ เมื่อจวนสุดระยะของการเอนตัวแล้ว จึงงอแขนกระตุกใบกระเชียงเข้าหาลำตัวจน โคนนิ้วหัวแม่มือติดกับหน้าอก ใบกระเชียงจะขึ้นจากน้ำพร้อมกันและขนานกัน ปลายใบกระเชียงอยู่พ้นน้ำประมาณ ๑ ศอก ควรเอนตัวไปข้างหลังให้มากที่สุด แต่ไม่ถึงกับนอกและต้องเอนตัวเสมอกันทั้งลำศีรษะคนตรงแนวลำตัว (ไม่แหงนหน้าหรือผงกศีรษะ)
๓) จังหวะที่ ๓ ผู้สั่งใช้คำบอกคำสั่ง “๓” คนกระเชียงกระแทกกระเชียงกลับมาอยู่ในกระเชียงออกโดยแรง
การตีแบบเปิดจังหวะ เป็นการฝึกหัดขั้นต่อไปจากการฝึกหัดขั้นต้นเมื่อผู้รับการฝึกหัดเข้าใจในการตีแบบเปิดจังหวะแล้ว การตีแบบเปิดจังหวะมี ๓ วิธี คือ
๑) ตีเกียรติยศ
๒) ตีปกติ
๓) ตีตามสบาย
ตีเกียรติยศ เป็นการตีเข้าระเบียบ ใช้ในกิจการที่เกี่ยวกับเกียรติยศ เช่น การไปรายตัว เป็นต้น การตี แบ่งออกเป็น ๓ จังหวะ เช่นเดียวกับการตีปิดจังหวะ แต่มีระยะเวลาระหว่างจังหวะดังนี้
ก) ระหว่างจังหวะ ๑ กับจังหวะ ๒ มีระยะเวลาหยุดประมาณ ๑/๒ วินาที
ข) ระหว่างจังหวะ ๒ กับจังหวะ ๓ ตีติดต่อกัน ไม่มีจังหวะหยุด
ค) ระหว่างจังหวะ ๓ กับจังหวะ ๑ มีระยะเวลาหยุดประมาณ ๑ วินาที
ตีปกติ เป็นการใช้งานในเลาปกติทั่วไป การตีไม่มีการหยุดระหว่างจังหวะ ใช้กำลังและน้ำหนักตัวโย้ไปข้างหน้า และเอนตัวไปข้าหลังพลิกใบกระเชียงอย่างตีเกียรติยศ
ตีตามสบาย ใช้ในเมื่อต้องไปทำงานตรากตรำ หรือตีกระเชียงเป็นเวลานาน ๆ หลายชั่วโมง เช่น ในการทำแผนที่ทะเล เป็นต้น หรือต้องบรรทุกของเป็นจำนวนมากจะตีกระเชียงไม่ได้ถนัด การตีไม่ต้องมีจังหวะและไม่ต้องโย้ตัวตามระเบียบ จับกระเชียงได้ตามถนัดแต่ต้องตีพร้อมกัน ทั้งนี้ให้ใช้เฉพาะงานพิเศษที่กล่าวมาแล้ว เท่านั้น
หมายเหตุ ในการฝึกหัดเรือกระเชียงนั้น ผู้รับการฝึกพึงระลึกว่าวัตถุประสงค์ของการตีกระเชียง คือ ต้องตีให้ถูกต้องตามแบบ ส่วนการตีให้แรงและตีได้เป็นระยะทางไกล ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับการฝึกหัด ถ้าตีไม่ถูกแบบจะทำให้เสียนิสัย ยากแก่การแก้ไข สำหรับผู้ฝึกควรชี้แจงให้ผู้รับการฝึกทราบว่า การดึงด้ามกระเชียงนั้นใช้แรงขามากกว่าแกรงแขน และทั้งมือทั้งแขนทั้งไหล่ชายกระเบนเหน็บ และทั้งขาทั้งเท้าควรไดรับการออกแรงเท่า ๆ กัน ตลอดระยะเวลาการตีกระเชียง
หยุด เมื่อกำลังตีกระเชียง หรือทวน หรือรากระเชียงอยู่และต้องการให้หยุด ให้ปฏิบัติดังนี้
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “หยุด”
๒) คนกระเชียงเอากระเชียงมาอยู่ในท่ากระเชียงออกโดยเร็ว
รากระเชียง เมื่อเรือแล่นไปข้างหน้า และต้องให้เรือช้าลงหรือหยุด ให้ปฏิบัติดังนี้
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “รากระเชียง”
๒) คนกระเชียงหยุดตี เอากระเชียงมาไว้ในท่ากระเชียงออก พลิกหลังมือเข้าหาตัวให้ใบกระเชียงตั้งฉากกับพื้นน้ำ และจุ่มใบกระเชียงลงน้ำตรง ๆ พร้อมกันในทางฉาก ใช้กำลังแขนทั้งสองผลักด้ามกระเชียงรับกำลังต้านทานของน้ำไว้ ถ้าเรือแล่นเร็วมากจะยกใบกระเชียงขึ้นลงสับน้ำเป็นจังหวะ ๆ เพื่อเป็นการผ่อนกำลังก็ทำได้ (ในการฝึกหัดและสอนควรให้จุ่มกระเชียงราเฉย ๆ สักครู่หนึ่งก่อน เพื่อดูความพร้อมเพรียง ต่อไปจึงให้กระเชียงสับน้ำโดยกระเชียง ๑ เป็นผู้นำ)
ปล่อยกระเชียง เรือกระเชียงหู เมื่อจะจอดหรือหลบหลีกเรือหรือสิ่งอื่นไม่ต้องกระเชียงเข้า ให้ใช้วิธีปล่อยกระเชียงโดยปฏิบัติดังนี้
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “ปล่อยกระเชียง”
๒) คนกระเชียงเสือกกระเชียง ออกไปข้างเรือแล้วปล่อยมือ ใบกระเชียงคงพาดอยู่ในง่ามหลักกระเชียง คนกระเชียงอยู่ในท่ากอดอก ถ้านายท้ายประสงค์จะให้กราบหนึ่งกราบใดปล่อยกระเชียงแต่เพียงกราบเดียวให้สั่ง “ขวา (ซ้าย) ปล่อยกระเชียง” เมื่อสั่งปล่อยกระเชียงแล้ว ต้องสั่ง “กระเชียงออก” เสียก่อน จึงสั่งตีต่อไปได้
จ. ทวน เมื่อมีความประสงค์จะให้เรือถอยหลัง ให้ปฏิบัติดังนี้
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “ทวน”
๒) คนกระเชียงทำท่าตรงข้ามกับการตี และทำเป็น ๓ จังหวะเช่นเดียวกัน คือ
จังหวะ ๑ เอนตัวไปข้างหลัง ทำเหมือนกับเมื่อสิ้นจังหวะ ๒ ของท่าตี พร้อมกับพลิกหลังมือเข้าหาตัว
จังหวะ ๒ จุ่มใบกระเชียงลงน้ำตามจังหวะนับ แล้วผลักด้ามกระเชียงให้ด้ามกระเชียงทวนน้ำพร้อมกับโย้ตัวไปข้างหน้า จนไปอยู่ในจังหวะ ๑ ของท่าตี
จังหวะ ๓ ให้กลับมาอยู่ในท่ากระเชียงออก
หมายเหตุ การทวนในขณะปกติ ให้ทำตรงกันข้ามการตีปกติ ไม่มีจังหวะหยุด
ฉ. ขวาตี – ซ้ายทวน หรือขวาทวน – ซ้ายตี ขณะตีกระเชียงอยู่ ประสงค์จะกลับลำหรือเลี้ยวให้ปฏิบัติดังนี้
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “ขวาตี – ซ้ายทวน หรือ ขวาทวน – ซ้ายตี” โดยสั่งกราบขวานำหน้า และระบุวิธีเสมอ ถ้าไม่ระบุวิธี หมายถึงตีหรือทวนตามสบาย
๒) คนกระเชียงตีและทนตามคำสั่ง ให้มีจังหวะหยุดนิ่งพร้อมกันในจังหวะที่ ๓ ส่วนจังหวะที่ ๑ และที่ ๒ นั้น คงโย้ตัวไปข้างหน้าหรือเอนตัวไปข้างหลังตามท่าตีและท่าทวน ให้ทั้งสองกราบทำท่าแย้งกัน
ช. การทำความเคารพ (ข้อบังคับทหารว่าด้วยการเคารพ พ.ศ. ๒๔๗๙)
การเคารพเมื่อใช้กระเชียง
ข้อ ๑ เรือกระเชียงซึ่งกำลังเดินอยู่ ให้ทำการเคารพแก่บุคคลและวัตถุจะได้กล่าวต่อไปนี้
๑) ตั้งกระเชียงหรือหยุดกระเชียงตามชนิดของเรือ แล้วแลไปทางบุคคลและวัตถุควรรับการเคารพ นายท้ายไม่ต้องทำการเคารพ ให้ระวังท้ายเรือไปตามเดิม เป็นการเคารพแก่
ก) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี รัชทายาท พระบรมวงศ์ เฉพาะที่มีธงหมายเกียรติยศ พระเจ้าแผ่นดินและเจ้าต่างประเทศ
ข) นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายพลทุกชั้น ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ผู้บังคับการเรือใหญ่ซึ่งตนสังกัดนั้นขึ้นไป ถ้าเป็นเรือของกองทหารตั้งแต่ผู้บังคับกองพันขึ้นไป
ค) พระบรมศพ พระบรมอัฐิ ขบวนแห่งพระศพ
ง) ธงมหาราช ธงกระบี่ ธงครุฑพ่าห์ ธงราชนาวี ธงเยาวราช ธงราชวงศ์ ธงราชนาวีประจำเรือใหญ่ ธงประจำกองทหาร ธงนายกรัฐมนตรี ธงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ธงผู้บัญชาการทหารเรือ ธงผู้บังคับการกองเรือยุทธการ และธงนายพลเรือ ในเวลาที่ชักขึ้นลงหรือผ่านไป ส่วนธงราชนาวีประจำเรือใหญ่ ให้กระทำเฉพาะแต่ในขณะที่ทำพิธีขึ้นลงเท่านั้น
๒) คำนับโดยวิธีเดียวกันใน ๑) แต่ไม่ต้องตั้งกระเชียงเป็นแค่เพียงหยุดกระเชียงเป็นการเคารพแก่
ก) บรรดาทหารชั้นนายนาวา ชั้นนายพันทหารบก
ข) ขบวนแห่ศพ ซึ่งมีกองทหารเข้าขบวนแห่ด้วย
๓) ไม่ต้องหยุดกระเชียง เป็นแต่นายท้ายบอก แลขวา – ซ้าย ไปผู้รับการเคารพให้แก่บรรดาผู้รับการเคารพอื่น ๆ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วใน ๑) และ ๒) นั้น
๔) การเคารพด้วยวิธีตั้งกระเชียงซึ่งได้ว่าไว้ใน ๑) นั้น ถ้าเป็นเวลาที่เรือขึงเพดานอยู่ไม่ต้องตั้งกระเชียง และให้ใช้วิธีทำการเคารพอย่างที่ว่าไว้ใน ๒) นั้นแทน อนึ่งบรรดาเรือกระเชียงหู จะขึงเพดานหรือมิได้ขึงก็ตาม ไม่ต้องทำการเคารพด้วยวิธีตั้งกระเชียงเลย ให้ทำการเคารพต่อบุคคลวัตถุที่ระบุไว้ใน ๑) โดยวิธีเดียวกันกับที่ว่าไว้ใน ๒) นั้น ทุกประการ
การเคารพเมื่อไม่ใช้กระเชียง
ข้อ ๒ การเคารพในเรือกระเชียงซึ่งได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ ข้างบนนี้ถ้าเป็นเวลาเรือจอด หรือพ่วงอยู่ให้ทหารประจำเรือ ทำการเคารพพร้อมกันโดยให้ทหารที่มีอาวุโสในที่นั้นหรือนายท้ายเรือ (ถ้ามี) เป็นผู้สั่งให้แลขวาหรือแลซ้าย
ข้อปฏิบัติการทำความเคารพเมื่อไม่ต้องหยุดกระเชียง
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “แลขวา” หรือ “แลซ้าย” (ไม่ต้องมีคำว่า “ทำ” ต่อท้าย)
๒) นายท้ายต้องสั่งการให้ถูกจังหวะ โดยให้เริ่มทำความเคารพในจังหวะที่ ๑ คนกระเชียงสะบัดหน้าไปทางขวา (ซ้าย) พร้อมกับการกระแทกกระเชียงไปข้างหน้าในจังหวะที่ ๑ แล้วตีกระเชียงไปรวม ๓ ครั้ง จึงเลิกทำความเคารพ (นายท้ายไม่ต้องสั่ง) โดยการสะบัดหน้ากลับในต้นจังหวะที่ ๑ พร้อมกันก่อนที่จะตีกระเชียงต่อไปเป้นครั้งที่ ๔
๓) นายท้ายไม่ต้องทำความเคารพ ผู้ที่นั่งไปในเรือเมื่อสวมหมวกทำความเคารพโดยวันทยหัตถ์ ถ้าไม่สวมหมวกให้แลขวา (ซ้าย) การเริ่มและเลิกทำคามเคารพให้พร้อมกับคนกระเชียง
ข้อปฏิบัติการทำความเคารพเมื่อต้องหยุดกระเชียง
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “หยุด” เว้นจังหวะเล็กน้อย แล้วสั่งต่อ “แลขวา (ซ้าย)” การสั่งหยุดให้กระทำให้ถูกจังหวะ โดยสั่งการในปลายจังหวะ ๓ คนกระเชียงหยุดกระเชียงอยู่ในท่ากระเชียงออก สะบัดหน้าไปทางผู้รับการเคารพพร้อมกัน
๒) การเลิกทำความเคารพนายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “ตี” คนกระเชียงสะบัดหน้าแล้วตีในจังหวะที่ ๑ พร้อมกัน
๓) การปฏิบัติอื่น ๆ เช่นเดียวกับการทำความเคารพโดยไม่ต้องหยุดกระเชียง
ซ. การใช้ขอตะเพรา
หน้าที่คนขอตะเพราในการนำเรือ นั้น นายท้ายอาจไม่สามารถนำเรือเข้าเทียบเรือใหญ่ได้ตามที่ต้องการ โดยเฉพาะในเวลาที่มีคลื่นลมจัด จึงจำเป็นต้องใช้ขอตะเพราช่วยดึงเรือเล็กให้เข้าชิดเรือใหญ่ โดยให้คนกระเชียงให้ใช้ขอตะเพราเกี่ยวส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือใหญ่ แต่งเรือให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ
การยกขอตะเพรา ให้คนขอตะเพรายกขอตะเพราขึ้นตั้งในขณะที่คนยังนั่งอยู่ โดยเตรียมยกขอตะเพราขึ้นเมื่อกระเชียงตีจังหวะ ๑ และยกขึ้นตั้งเมื่อกระเชียงตีจังหวะ ๒ ตั้งขอตะเพราไว้ชั่วเวลาประมาณ ๒ วินาที ถ้าไม่สามารถจะยกขอตะเพราขึ้นได้ ก็ให้สาวขอตะเพรามาก่อนแล้วจึงยกปลายขึ้น ต่อจากนั้นให้คนขอตะเพราลุกขึ้นยืนแล้วกลับหลังหัน หันหน้าไปทางหัวเรือ ยืนถ่างขาเล็กน้อย
การกลับหลังหันให้หันทางกราบเทียบ แล้วข้ามกระทงที่คนนั่งไปยืนอยู่ระหว่างกระทงกับหัวเรือ หรือบนชานหัวเรือ
การถือและการใช้ขอตะเพรา ให้ถือขอตะเพราตั้งอยู่กับพื้นท้องเรือหรือพื้นชานหัวเรือทางตัวเล็กน้อย ปลายขอตะเพราส่วนที่เป็นตะขออยู่ในแนวลำเรือมือทั้งสองที่กำขอตะเพราอยู่ชิดกับมือที่อยู่ทางกราบเทียบอยู่ข้างบน มือที่อยู่ข้างล่างอยู่ประมาณแนวเข็มขัด แขนท่อนล่างทั้งสองได้ฉากกับขอตะเพราข้อศอกกางออกเล็กน้อยพองาม เมื่อเรือเข้าใกล้ที่เทียบจนเห็นว่าสมควรใช้ขอตะเพราออกไปรับเรือ มือทั้งสองแยกห่างจากกัน มือที่อยู่ใกล้เรือใหญ่หงาย อีกมือหนึ่งคว่ำ ใช้ขอตะเพราเกี่ยวเรือใหญ่ที่เทียบไว้แต่งเรือให้ขนานกับเรือใหญ่ บังคับให้เรือหยุด ในเมื่อเห็นว่าที่นั่งของนายทหารตรงกับบันไดเรือใหญ่ (ที่เทียบ) ระวังอย่าให้เรือซบเข้าติดกับเรือใหญ่หรือถ่ายออกพยายามให้ขนานกับเรือใหญ่เสมอ
การวางขอตะเพรา คนขอตะเพราตามปกติเมื่อค้ำเรือออกแล้วคงยืนถือขอตะเพราในท่าถือขอตะเพราหันหน้าไปทางหัวเรือ เมื่อได้ยืนนายท้ายสั่ง “ตี” หรือ “ทวน” จึงกลับหลังหัน แล้วจึงข้ามมานั่งที่กระทงของตน ขอตะเพรายังคงตั้งอยู่ เมื่อกระเชียงตีจังหวะ ๓ ให้เตรียมขอตะเพราและวางขอตะเพราลงทันทีในจังหวะ ๑ ของการตีต่อไป (ปกติไม่มีการโน้มขอจะเพราไปรอการาง ถ้าไม่สามารถวางลงไปทันที่ได้ จึงขออนุญาตให้โน้มหรือเสือกขอตะเพราได้)
ในลักษณะพิเศษเช่นการฝึกหัด ต้องมีการอธิบายกันมาก ๆ คนขอตะเพราเมื่อได้ผลักเรือออกไปแล้วแทนที่จะยืนถือขอตะเพราอยู่เป็นเวลานาน ๆ ก็อนุญาตให้วางขอตะเพราได้ ทั้งนี้แล้วแต่นายท้ายจะเห็นสมควร
คนกระเชียงหัวทั้งคู่ทำท่ากระเชียงออกให้พร้อมกันกับกระเชียงอื่น ๆ เมื่อกระเชียงคู่อื่น ๆ กลับมาอยู่ในจังหวะที่ ๓ แล้วทำท่ากระเชียงเช่นเดียวกันกระเชียงกราบของตนต่อไป
ฌ. การออกเรือ เมื่อคนลงเรือกระเชียงพร้อมแล้ว จะออกเรือ ให้ปฏิบัติดังนี้
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “หัวเรือผลักออก” ตามปกติคนขอตะเพราเป็นผู้ผลักเพราะยืนอยู่แล้วที่หัวเรือ
๒) คนกระเชียงอื่น นอกจากคนขอตะเพราเอาลูกตะเพราเข้า
๓) ถ้าเรือกระเชียงเทียบอยู่กับเรือใหญ่หรือท่าเทียบ คนขอตะเพราใช้ปลายขอตะเพราค้ำให้เรือออกห่างจากที่เทียบในทางเป็นมุมฉาก เพื่อให้เรือออกห่างให้มากที่สุด แต่ในบางลักษณะซึ่งขอตะเพราที่ยันให้เรือวิ่งไปทางหน้าก็ได้ ถ้าที่เทียบเรือไม่พอตีคนกระเชียง ๑ กราบเทียบหรือคนกระเชียงอื่นกราบเทียบและนายท้ายช่วยกันดึงให้เรือกระเชียงเดินหน้า นายท้ายหักหางเสือให้เรือเบนออก แล้วจึงสั่ง “กระเชียงออก” คนกระเชียงทั้งหมด (เว้นคู่หัวเรือ) ทำท่ากระเชียงออก
๔) ถ้าเรือกระเชียงไม่ได้เทียบอยู่กับเรือใหญ่ เช่น ออกเรือจากบุม ให้คนกระเชียงหัวผลักเรือให้ออกห่างไปจากบุมเรือใหญ่ แล้วกลับมานั่งประจำกระเชียง เอาลูกตะเพราเข้า
๕) ถ้าหลักกระเชียงยังไม่ได้สวมด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้สวมเสียในโอกาสนี้
ญ. การเทียบเรือ
การเข้าเทียบ ให้นายท้ายนำเรือไปให้ใกล้ที่เทียบพอสมควร (ถ้าเทียบกับเรือใหญ่ให้เรือกระเชียงอยู่ประมาณท้ายเรือใหญ่) แล้วให้ปฏิบัติดังนี้
๑) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “หัวเรือปล่อยกระเชียง”
๒) คนกระเชียงหัวเรือทั้งคู่ปล่อยกระเชียง คนกระเชียงหัวกราบที่ไม่ได้เทียบ นั่งกอดอก คนกระเชียงหัวกราบเข้าเทียบเตรียมรับเรือเป็นคนขอตะเพรา ถ้าไม่ทราบว่าคนกระเชียงหัวผู้ใดเป็นคนขอตะเพรา โดยนั่งกอดอกอยู่ทั้งสองคน) ให้นายท้ายสั่ง “หัวเรือขวา (ซ้าย) เตรียมรับเรือ”
๓) นายท้ายใช้คำบอกคำสั่ง “ปล่อยกระเชียง” เมื่อเห็นว่าเรือได้ระยะพอที่จะเข้าเทียบได้สนิท (ถ้ามีนายทหารขึ้นหรือลงเรือ นายท้ายสั่งทำความเคารพ ใช้คำบอกคำสั่ง “แลขวาซ้าย)” ถ้าไม่มีนายท้าย คนกระเชียง ๑ กราบขวา ต้องเป็นผู้สั่งทำความเคารพ
หมายเหตุ เมื่อสั่งปล่อยกระเชียงไม่ต้องเอาลูกตะเพราออก
การออกจากเทียบ เมื่อเรือออกจากเทียบแล้วนายท้ายสั่ง “กระเชียงออก” หรือ “กระเชียงลง” แล้วแต่ลักษณะของกระเชียงเวลานั้นว่าอยู่อย่างไร
เมื่อนายท้ายสั่ง “กระเชียงออก” คนกระเชียงหัวเรือกราบไม่เทียบยังคงนั่งกอดอกอยู่จนกว่าคนขอตะเพราจะได้วางขอตะเพราเรียบร้อยแล้ว จึงให้คนกระเชียงหัวเรือทั้งคู่ยก กระเชียงตั้งขึ้นพร้อมกันให้กระเชียงตั้งขึ้น เมื่อกระเชียงตีจังหวะ ๒ แล้วทำท่ากระเชียงออก ให้พอดีกับกระเชียงกราบของคนต่อไป คนกระเชียงหัวที่มิได้เป็นคนขอตะเพรามีหน้าที่เอาลูกตะเพราเข้าแทนคนขอตะเพราด้วย
ฎ. การใช้เชือกนำเทียบ
เมื่อเรือเล็กเข้าเทียบ
เมื่อเรือเล็กเข้ามาใกล้เรือใหญ่ให้ยามบันไดโยนเชือกนำเทียบให้ ในขณะที่หัวเรือเล็กอยู่ประมาณตรงช่องบันไดเรือใหญ่ การโยนนี้ต้องพยายามอย่าให้คนรับ ฯ พลาดได้ เพราะทำให้เสียเวลาและพยายามอย่าให้เชือกนำเทียบไปถูกผู้อื่นที่นั่งอยู่ในเรือเล็กด้วย
ตามปกติคนขอตะเพราเป็นผู้รับเชือกนำเทียบ แต่ถ้าคลื่นลมและกระแสน้ำแรงจัดจะให้คนอื่นซึ่งไม่ใช่คนขอตะเพรา เป็นผู้รับเชือกนำเทียบแทนก็ได้เมื่อทางเรือเล็กรับเชือกนำเทียบได้แล้วให้ดึงเชือกนี้แต่งเรือจนที่นั่งท้ายเรืออยู่ตรงกันกับช่องบันไดเรือใหญ่ แล้วต้องคอยระมัดระวังปลายเชือกอยู่ให้ยุงหรือไปพันติดส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือเล็ก และให้เตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชือกนำเทียบได้เสมอ
ให้นายท้ายพยายามถือหางเสือ แต่งเรือรักษาให้ขนานกับเรือใหญ่อยู่เสมอ เมื่อจะสั่งหรือรับคน จึงหักหางเสือให้เรือเทียบ ถ้าทำได้ในลักษณะนี้คนหัวเรืออาจไม่จำเป็นจะต้องใช้ขอตะเพราก็ได้
เมื่อเรือเล็กออกจากเทียบ
ก่อนที่นายท้ายจะสั่งผลักออก ให้คนหัวเรือส่งหางเชือกนำเทียบให้กับคนต่อ ๆ มาทางท้ายเรือของกราบเทียบ คนกระเชียงกราบเทียบบิดตัวหันหน้าออกทางกราบเรือ เพื่อช่วยรับเชือกและดึงเรือให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า
เมื่อนายท้ายสั่งผลักออก ให้ผู้ถือเชือกนำเทียบคนหัวดังเชือกให้เรือเคลื่อนไปข้างหน้าแล้วให้คนกระเชียงกราบเทียบคนต่อ ๆ ไปช่วยกันดึงต่อไปจนถึงนายท้าย เพื่อประสงค์จะให้เรือวิ่งไปข้างหน้าโดยไม่ให้หัวเรือเล็กซบเข้าหาเรือใหญ่
นายท้ายใช้พังงาหันหางเสือให้หัวเรือเบนออกจากเรือใหญ่
เมื่อนายท้ายหรือคนสุดท้ายในเรือเล็กปล่อยเชือกนำเทียบแล้ว ให้ยามบันไดรีบสาวเชือกนำเทียบขึ้นเรือใหญ่ แล้วขดหรือเก็บไว้ให้เรียบร้อย
ฏ. หน้าที่และข้อปฏิบัติของนายท้ายเรือกระเชียงรวมทั้งคำแนะนำ
นายท้ายเรือกระเชียงมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ กล่าวคือ ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับ ตัวเรือ ทหาร ผู้โดยสาร รวมทั้งการนำเรือ ดังต่อไปนี้
๑) หน้าและความรับผิดชอบทั่ว ๆ ไป
ก) ต้องตรวจเรือและสิ่งของเครื่องใช้ให้มีพร้อมก่อนออกเรือ
ข) นายท้ายต้องรับผิดชอบในความประพฤติและระเบียบวินัยของทหารภายในเรือ ต้องกวดขัดการตีกระเชียงของคนกระเชียงให้เข้มแข็งถูกต้องตามแบบ
ค) นายท้ายต้องตรวจการแต่งกายของทหารให้ถูกต้องตาม ระเบียบข้อบังคับ (โดยเฉพาะในการไปเยี่ยมคำนับ หรือการรับตรวจ) กล่าวคือ
– ต้องต่างกายให้เหมือนกัน
– สวมหมวกให้สมอมงกุฎอยู่ตรงกึ่งกลางแสกหน้า และสวมหมวกให้เรียบร้อย
– คล้องสายรัดคาง (เฉพาะการฝึกหัดและการตีกระเชียงชนิดตีเกียรติยศ)
– สายนกหวีดเรือ (ถ้ามี) ให้อยู่ใต้ปกเสื้อมิให้อยู่บนผ้าผูกคน
– ห้ามถลกขากางเกง
ง) เมื่อมีราชการไปในที่ใด ๆ ก่อนออกจากเรือใหญ่นายท้ายจะต้องรายงานต่อนายยามตามคำสั่งที่ได้รับมา เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงออกเรือได้ และเมื่อกลับมาถึงเรือใหญ่ต้องรายงานความเรียบร้อยต่อนายยามอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงนำข่าวหรือภารกิจที่ตนได้รับมอบหมายให้กระทำ ไปรายงานต่อผู้สั่ง
จ) ในโอกาสที่ไปเยี่ยมคำนับ เมื่อเข้าเทียบเรือส่งนายทหารแล้วให้นำเรือออกมาลอยลำให้ห่างจากเรือใหญ่พอสมควร จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากเรือใหญ่ให้ไปจอด ณ ที่ใดจึงให้ปฏิบัติตาม
ฉ) การนำเรือกระเชียงเข้าเทียบต้องเทียบทวนน้ำ หรือตามเรือใหญ่เสมอ
ช) ห้ามนำเรือกระเชียงจอดเกยฝั่งยอกจากในกรณีพิเศษ ตามปกติให้ทอดสมออยู่ห่างจากฝั่งเสมอ การนำเรือเข้าหาฝั่งในเวลามีคลื่นจัดต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามวิธีการนำเรือเข้าฝั่งในเวลามีคลื่นลมจัด นายท้ายจะต้องระมัดระวังมิให้หางเสือกระแทกกับพื้นดิน ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ให้ถอดออก
ซ) นายท้ายต้องคอดดูเครื่องหมาย ธงสัญญาณจากเรือใหญ่และเรือธงอยู่เสมอ เมื่อเห็นธงสัญญาณเรียกกลับ นายท้ายต้องรีบนำเรือกลับโดยเร็ว
ฌ) ในการชักหย่อนเรือกระเชียงทุกคราว นายท้ายต้องอำนวยการให้คนประจำเรือปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ในการชักหย่อนเรือเสมอ