๖. ดิ่งน้ำตื้น
ดิ่งน้ำตื้น ใช้คนประจำ ๒ คน คือคนทิ้ง (หมายเลข ๑) และคนสาว (หมายเลข ๒)
ความมุ่งหมาย เพื่อเป็นการฝึกการทิ้งดิ่งน้ำตื้นสำหรับหยั่งน้ำหาความลึกของท้องทะเลและลักษณะพื้นท้องทะเล อาการเคลื่อนที่ของเรือ
การจัดเจ้าหน้าที่ ผู้ฝึกเป็นผู้กำหนดชุดการฝึก และให้ผู้รับการฝึกทราบว่าใครเป็นหมายเลข ๑ และหมายเลข ๒
คำสั่ง | การปฏิบัติ |
“ชุดที่……..แถว” | ทั้งสองหมายเลขวิ่งมาแถวเรียงหนึ่งโดย หมายเลข ๑ อยู่ทางหัวเรือ หันหน้าเข้าหาสะพานดิ่ง หมายเลข ๒ อยู่ทางท้ายเรือหันหน้าเข้าหาสะพานดิ่ง |
“นับ” | หมายเลข ๑ นับ “๑”
หมายเลข ๒ นับ “๒” ตามลำดับ |
“หน้าที่ประจำตัว” | หมายเลข ๑ ว่า “หมายเลข ๑ เป็นคนทิ้ง
หมายเลข ๒ ว่า “หมายเลข ๒ เป็นคนสาว |
“เตรียมทิ้งดิ่ง” | คนทิ้ง ไปนำลูกดิ่ง สายดิ่ง และจาระบีมาที่สะพานดิ่ง ตรวจสายดิ่งตลอดจนเครื่องหมายให้ถูกต้อง ถ้าเห็นสิ่งใดชำรุดจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ต่อลูกดิ่งเข้ากับสายดิ่งเอาจาระบีอัดเข้าที่ก้นลูกดิ่ง แต่งกายให้รัดกุม ตรวจความมั่นคงของสะพานดิ่งตลอดจนราวสะพานดิ่ง ผูกปลายข้างหนึ่งของสายดิ่งไว้กับที่ ที่มั่นคง แล้วเข้าไปยืนในสะพานดิ่ง เสาะสายดิ่งไว้ในมือ อีกมือหนึ่งจับไว้ที่ไม่ลูกคลักปล่อยให้ลูกดิ่งห้อยอยู่
คนสาว แต่งกายให้รัดกุม เข้าไปยืนหลังคนทิ้ง ห่างไปทางท้ายเรือประมาณครึ่งเมตรเตรียมพร้อมที่จะสาวสายดิ่ง คนทิ้ง เมื่อเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย แล้วหันหน้าไปทางสะพานเดินเรือรายงาน”ดิ่งขวา” (ซ้าย) พร้อม |
“ทิ้ง” | คนทิ้ง ทวนคำสั่ง “ทิ้ง” แล้วควงลูกดิ่ง ๒ – ๓ รอบ เป็นอย่างน้อย แล้วจึงทิ้งเมื่อลูกดิ่งตกถึงน้ำ แล้วให้รีบสาวสายดิ่งมาอยู่ในท่าหยั่งอัตราน้ำและลักษณะพื้นท้องทะเลโดยยกลูกดิ่ง กระแทกเมื่อสายดิ่งเกือบตั้งตรง อ่านอัตราน้ำ ลึกแล้วปล่อยสายดิ่งให้คนสาวหันหน้าไปทางสะพานเดินเรือรายงาน (อัตราน้ำลึกลักษณะพื้นท้องทะเลหรือตามที่ผู้ฝึกกำหนด)
คนสาว ทำหน้าที่สาวสายดิ่งให้คนทิ้ง เมื่อคนทิ้งหยั่งน้ำเรียบร้อยส่งสายดิ่งให้คนทิ้ง คนทิ้ง รับสายดิ่งจากคนสาว เสาะสายดิ่ง เข้าไว้ในมือปล่อยให้ลูกดิ่งห้อยอยู่พร้อมที่จะทิ้งต่อไป |
“เลิกทิ้งดิ่ง” | ทั้งสองหมายเลขช่วยกันจัดสิ่งของเข้าที่เรียบร้อย แล้วเข้าแถว “นับ”หมายเลข ๑ นับ “๑” หมายเลข ๒ นับ “๒” |
“เปลี่ยนที่” | หมายเลข ๑ ว่า “๑ ไป 2 ”
หมายเลข ๒ ว่า “๒ ไป ๑ …เปลี่ยนที่” หมายเลข ๑ ก้าวถอยหลัง ทั้งสองหมายเลขเข้าแถวแทนที่กัน และเริ่มนับใหม่จนถึง “ทิ้ง” “เลิกทิ้ง” และ “เลิกแถว” |
“เลิกแถว” | ทิ้งสองหมายเลขทำขวา – ซ้ายหัน แล้ววิ่งไป แถวรวม |
การทิ้งดิ่ง มี ๓ วิธี คือ
ก. การทิ้งดิ่งโดยวิธีแกว่ง วิธีนี้ใช้ทิ้งในที่น้ำตื้น ๆ และเรือเดินช้า ๆ ไม่ต้องการให้ลูกดิ่งไปทางหัวเรือมากนัก
วิธีแกว่ง ผู้ทิ้งดิ่งต้องจับสายดิ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เหยียดแขนให้ตรงตามแนวลูกดิ่งขั้นต้นให้แกว่งลูกดิ่งไปทางหัวเรือ ให้แนวลูกดิ่งตึงขนานไปกับกราบเรือ แล้วแกว่งกลับมาทางท้ายเรือ ทำอาการดังนี้เรื่อยไปคล้ายลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งไปมา แต่ต้องเพิ่มกำลังที่แกว่งให้แรงขึ้นทุก ๆ ครั้ง จนถึงครั้งที่จะปล่อยให้ลูกดิ่งลงน้ำเป็นแรงที่สุด แต่การแกว่งนี้ไม่ควรแกว่งให้มากไปกว่า ๕ – ๖ ครั้ง เพราะจะทำให้ความแรงของลูกดิ่งลดลง และเป็นการเสียเวลาด้วย ขณะที่จะปล่อยลูกดิ่งลงน้ำนั้นต้องปล่อยขณะที่มือซึ่งแกว่งดิ่งอยู่นั้นพุ่งไปข้างหน้าและลูกดิ่งกำลังวิ่งไปข้างหน้าโดยแรง
ข. การทิ้งโดยวิธีควง วิธีนี้ใช้ทิ้งในที่น้ำลึก เรือแล่นเร็ว และต้องการให้ลูกดิ่งไปทางหัวเรือให้ไกล ๆ พอควร
วิธีควง ในขั้นต้นต้องแกว่งตามวิธีที่กล่าวมาแล้วสัก ๒ – ๓ เที่ยว เมื่อเห็นมุมดิ่งขึ้นสูง (ประมาณ ๑๒๐°) และให้เริ่มควงเมื่อประมาณกำลังว่าพร้อม การควงนั้นต้องควงขณะลูกดิ่งไปข้างหน้า แล้วควงกลับมาทางหลัง ทวีกำลังขึ้นทุกๆ ครั้ง จนถึงครั้งที่แรงที่สุด แต่การควงนี้ไม่ควรให้เกินกว่า ๓ – ๔ รอบ เพราะอาจทำให้เหนื่อยและทำให้ความแรงของลูกดิ่งลดลงได้ ต้องระวังแต่งให้วงดิ่งขนานกับตัวเรืออยู่เสมอ อย่าให้หันออกหรือเข้าได้จะเป็นอันตราย ส่วนการปล่อยลูกดิ่งลงน้ำขณะควง ก็ให้ปล่อยในอาการเช่นเดียวกันกับวิธีแกว่งที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นทุกประการ หลักสำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องให้ลูกดิ่งพุ่งลงไปในน้ำเป็นมุมเฉียงประมาณ ๔๕ องศา และสายดิ่งตึงตรง อย่าให้สายดิ่งหย่อนและลูกดิ่งตกลงไปในน้ำในอาการนอน เต็มตัวหรือตั้งตรงลงไปเฉย ๆ ลูกดิ่งจะจมน้ำช้า
ขณะเมื่อปล่อยลูกดิ่งไปแล้ว จะต้องโรยสายดิ่งให้ลูกดิ่งไปเต็มที่ เมื่อลูกดิ่งถึงพื้นท้องทะเลแล้ว ผู้ทิ้งดิ่งจะต้องเริ่มสาวเพื่อว่า เมื่อเรือแล่นไปถึงที่ลูกดิ่งจมอยู่นั้นสายดิ่งจะตึงตั้งตรงได้ฉากกับพื้นท้องทะเล จะได้อ่านอัตราน้ำลึกที่สายดิ่งได้ ถ้าสาวสายดิ่งไม่ทันหรือกระทำให้สายดิ่งตั้งตรงไม่ได้ การอ่านอัตราน้ำลึกก็จะไม่ได้ จึงเป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่า
ค. การทิ้งโดยวิธีหย่อนลงไปตรง ๆ วิธีนี้ใช้เมื่อเรือจอดหรือหยุด เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงความลึกของน้ำในตำบลที่ที่จอดทอดสมอเพื่อความปลอดภัย และยังสามารถใช้ตรวจสอบอาการเกาของเรือได้
ลักษณะของดิ่งน้ำตื้น ทำด้วยตะกั่วหนักประมาณ ๔ – ๖ ปอนด์ มีขนาดต่าง ๆ กันหลายขนาด สายดิ่งยาว ๔๐ เมตร มีเครื่องหมายบอกอัตราลึกของน้ำ ดังนี้
๒ เมตร ไม้ลูกคลัก (นับจากปลายลูกดิ่งขึ้นมา)
๕ เมตร ผ้าสีขาว
๑๐ เมตร หนังเจาะรูหนึ่งรู และมีแฉก 1 แฉก
๑๕ เมตร ผ้าสีดำ
๒๐ เมตร หนังเจาะรูหนึ่งรู และมีแฉก 2 แฉก
๒๕ เมตร ผ้าสีแดง
๓๐ เมตร หนังเจาะรูหนึ่งรู และมีแฉก 3 แฉก
๓๕ เมตร ผ้าสีเขียว
๔๐ เมตร หนังเจาะรูหนึ่งรู และมีแฉก 4 แฉก
ทุก ๆ ๑ เมตร ทำเครื่องหมายเป็นปมเชือกไว้ด้วย
หมายเหตุ อัตราน้ำที่หยั่งได้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ให้หักออก ครึ่งเมตร ทุกครั้ง
ลักษณะพื้นท้องทะเล
ก. ดินเหนียว เมื่อยกลูกดิ่งกระแทกลงไป จะรู้สึกว่ามีกำลังต้านทานมาก และเมื่อยกลูกดิ่งขึ้นมา จะรู้สึกว่ามีกำลังดูด
ข. โคลน เมื่อยกลูกดิ่งกระแทกลงไป จะรู้สึกว่าลูกดิ่งจมลงไป และเมื่อยกลูกดิ่งขึ้นมา จะรู้สึกเกือบไม่มีกำลังดูดเลย
ค. ทราย เมื่อเรายกลูกดิ่งกระแทกลงไป จะรู้สึกว่ามีกำลังต้านทานมากจนเกือบแข็ง แต่ไม่ถึงกับสะท้อน เมื่อยกลูกดิ่งขึ้นมา จะรู้สึกว่ามีกำลังดูดเล็กน้อย
ง. ทรายปนโคลน เมื่อเรายกลูกดิ่งกระแทกลงไป จะรู้สึกว่ามีกำลังต้านทานมากกว่าโคลน แต่น้อยกว่าทรายล้วน เมื่อยกลูกดิ่งขึ้นมา จะรู้สึกว่ามีกำลังดูดเล็กน้อย
จ. กรวด เมื่อเรายกลูกดิ่งกระแทกลงไป จะรู้สึกสวก ๆ ฝืด ๆ ที่มือ เมื่อยกลูกดิ่งขึ้นมา จะรู้สึกว่าไม่มีกำลังดูดเลย
ฉ. หิน เมื่อเรายกลูกดิ่งกระแทกลงไป จะรู้สึกว่าแข็งสะท้อน เมื่อยกขึ้น จะรู้สึกกว่าไม่มีกำลังดูดดึงเลย
ลักษณะพื้นท้องทะเล นั้น นอกจากการรับรู้ตามอาการที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญจริง ๆ จึงจะทราบลักษณะพื้นท้องทะเลได้ใกล้เคียงความเป็นจริงแล้ว ยังสามารถรับรู้ได้ด้วยการดูที่จารบีที่อุดอยู่ที่ก้นลูกดิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและทราบพื้นท้องทะเลได้โดยแน่นอน วิธีนี้โดยมากมักใช้ในการหยั่งน้ำ เพื่อทำแผนที่หรือหาลักษณะพื้นที่ท้องทะเลเมื่อเรือติดตื้นเท่านั้น วิธีหาพื้นท้องทะเลโดยวิธีนี้ ให้เอาจาระบีอัดเข้าที่ก้นลูกดิ่งให้เต็มและปาดหน้าให้เรียบ เมื่อสายดิ่งตั้งได้ฉากกับพื้นท้องทะเล ให้ยกดิ่งกระแทกลงไปสัก ๒ – ๓ ครั้ง แล้วสายเอาขึ้นมาดู พื้นท้องทะเลเป็นแบบใดก็จะติดจาระบีขึ้นมา ถ้าพื้นท้องทะเลเป็นหิน จาระบีที่ปาดไว้เรียบ ก็จะเป็นรอยบุ๋ม
การรายงานอัตราของน้ำและลักษณะพื้นท้องทะเล
ก. รายงานด้วยเสียงดัง ชัดเจน
ข. อัตราลึก ให้ลากเสียอัตราน้ำตัวท้ายยาว แล้วต่อคำว่า “เมตร” ให้สั้น แล้วต่อท้ายด้วย ลักษณะพื้นท้องทะเล
ตัวอย่าง สิบโหก………..เมตร โคลน (อัตราน้ำลึก ๑๖ เมตร ลักษณะพื้นท้องทะเลเป็นโคลน)