
กระทบแต่ไม่กระเทือน
โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.
เมื่อพูดถึงความโกรธความขัดใจ แม้จะเป็นเรื่องไม่ดี ให้โทษนานัปการ แต่ก็เป็นเรื่องที่ละได้ยาก ตัดได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อถูกผู้อื่นทำให้โกรธ บางคนถึงกับขาดสติ ควบคุมตนเองไม่ได้จนเกิดเรื่องเกิดราวก็มี สาเหตุก็เพราะเมื่อถูกอารมณ์โกรธกระทบแล้วเกิดอาการหวั่นไหว กระเทือนไปตามแรงกระทบไม่สามารถรักษาความหนักแน่นมั่นคงของตนไว้ได้
การแก้ปัญหาเมื่อถูกกระทบแล้วรู้สึกโกรธวิธีหนึ่ง ก็คือสร้างหลักคิดประจำใจที่พอจะสรุปเพื่อจำง่าย ๆ ได้ ๓ ข้อ คือ
๑. อย่าเผาตัวเอง คือท่านถือว่าความโกรธเป็นเหมือนไฟ เพราะเมื่อโกรธขึ้นแล้วจิตใจจะเร่าร้อน กระสับกระส่าย ขุ่นมัว หาความสุขไม่ได้ ที่สำคัญคือไฟชนิดนี้ไม่สามารถใช้เผาคนอื่นได้ คนไหนโกรธก็เผาคนนั้น คนที่ถูกโกรธถ้าไม่โกรธตอบหรือไม่รู้ตัวว่าถูกโกรธ ก็ยังนอนหลับสบาย แต่คนโกรธเองถูกเผาแทบตาย ท่านจึงแนะนำว่า อย่าเผาตัวเอง
๒. อย่าข่มเหงคนไข้ คนไข้ที่อาการหนัก เพ้อไม่ได้สติ หรืออาละวาดคลุ้มคลั่ง หากเผลอกล่าวคำผรุสวาทด่าทอ หรือล่วงเกินใด ๆ คงไม่มีใครถือสาอาฆาต เพราะรู้ว่าไข้กำเริบ คนมีกิเลสก็คือคนไข้แต่เป็นไข้ทางใจ เมื่อกิเลสกำเริบถึงจุดที่ควบคุมตนเองไม่ได้ ก็ละเมิดหรือล่วงเกินผู้อื่นบ้าง ผู้มีปัญญาเมื่อให้อภัยคนไข้ทางกายแล้ว ควรให้อภัยคนไข้ทางใจด้วย
๓. อย่าเอาแต่ใจเป็นหลัก การที่ความโกรธ ความขัดใจเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้สึกว่าคนนั้นก็ไม่ได้อย่างเราคิด คนนี้ก็สั่งไม่ได้อย่างใจ คนโน้นก็พูดไม่รู้เรื่อง เป็นต้น สรุปว่าเอาใจของตนเป็นศูนย์กลาง แล้วคอยดูว่าคนไหนทำได้อย่างใจคิดบ้าง แต่ลืมนึกไปว่า ตัวเราเอง บางครั้งยังทำให้ถูกใจตัวเองไม่ได้ เรื่องจะเกณฑ์ให้คนอื่นเป็นอย่างใจเราหมด เป็นอันไม่ต้องพูดถึง
ปุถุชน เมื่อความไม่พอใจมากระทบ จะกระเทือนแค่ไหน ก็แล้วแต่คุณภาพและความมั่นคงของจิตใจ บางคนต้องถูกบีบคั้นอย่างหนักจึงหมดความอดทน บางคนถูกนินทาก็หวั่นไหว แต่บางคนแค่ถูกมองหน้าก็กระเทือนแล้ว หลักคิดที่ว่า อย่าเผาตัวเอง อย่าข่มเหงคนไข้ อย่าเอาแต่ใจเป็นหลัก จะช่วยให้จิตหนักแน่นมั่นคง แม้จะถูกกระทบแต่ไม่กระเทือนง่าย ๆ