ยาขมหม้อใหญ่
โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.
เราคงจะเคยได้ยินสำนวนไทยโบราณว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา มาบ้างแล้ว คำพูดดังกล่าวนั้นเป็นการเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ เรามักจะรู้สึกว่าขมขื่นกลืนกินยาก แต่เมื่อกลืนเข้าไปแล้ว ที่ว่าขมนั้นจะเป็นยาแก้โรคได้ ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เราชอบเราจะรู้สึกว่าเอร็ดอร่อย เมื่อกลืนกินผ่านลำคอเข้าไปแล้วก็เท่านั้นเอง คือผ่านเลยไป ทำให้รู้สึกว่าสบาย แต่หลังจากนั้นอาจจะมีโทษภัยติดตามมา ท่านจึงเปรียบเสมือนการดำเนินชีวิตของบุคคลเรา ถ้าหากเราทำตัวตามสบายจนเกินไป ก็จะเกิดผลเสียไม่ได้อะไรเลย กาลเวลาก็ล่วงเลยไปเปล่า จะแก่ก็แก่ไปอย่างที่กล่าวกันว่า แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน นั่นเอง
สำนวนไทยที่ว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา สามารถนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ในเบื้องต้นของชีวิต ถ้าบุคคลทำตัวสบาย มักง่าย เกียจคร้าน หนักไม่เอา เบาไม่สู้ ในเบื้องปลายของชีวิตย่อมจะประสบความล้มเหลว เอาดีได้ยาก ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า หวานเป็นลม แต่ถ้าในเบื้องต้นของชีวิต บุคคลมีความขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ บังคับฝืนใจตนเองให้กระทำหน้าที่การงาน ดุจฝืนใจตนเองดื่มยาขมหม้อใหญ่ ในเบื้องปลายของชีวิตก็ย่อมจะประสบความสำเร็จเสมอ ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า ขมเป็นยา
ดังนั้น บุคคลผู้อยากได้ดีมีความสำเร็จสมหวังในชีวิตและหน้าที่การงาน จึงควรฝืนใจดื่ม ยาขมหม้อใหญ่ด้วยการทำอะไรให้ทำจริง ๆ ดังคำกลอนว่า
หวานเป็นลม ขมเป็นยา ท่านว่าไว้ เตือนจิตให้ หวนคิด ปริศนา
ความเกียจคร้าน ในการ กิจนานา ย่อมจะพา ให้ทนทุกข์ หมดสุขใจ
ความขยัน บากบั่น ในการกิจ ย่อมสัมฤทธิ์ ทุกสิ่งสรรพ์ ดังขานไข
ทำอะไร ให้ฟันฝ่า อย่าทิ้งไป ดุจยาขม หม้อใหญ่ ให้ดื่มกิน