12ข้อควรรู้ก่อนไปบริจาคเลือด
โรคสุกใสหรือโรคอีสุกอีใส
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด
- ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ
- มีระยะฟักตัว 10 – 21 วัน
- ร้อยละ 90 มักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี
- หากติดเชื้อในผู้ใหญ่หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีอาการรุนแรงมากกว่าในเด็ก
- โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เป็นซ้ำอีก แต่เชื้ออาจหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท และมีโอกาสเป็นงูสวัดได้ในภายหลัง
อาการ
- อาการนำ เด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหาร ส่วนในผู้ใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามตัว มีคลื่นไส้และอาเจียน
- ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นขึ้น พร้อมกันกับไข้หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นตุ่มแดงก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำและมีอาการคัน ผื่นจะเริ่มที่หน้ากระจายไปที่ลำตัวและแขนขา ต่อมาจะกลายเป็นหนอง
- หลังจากนั้น 2 – 4 วัน ก็จะตกสะเก็ด บางรายมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อยลิ้นเปื่อย เจ็บคอ เนื่องจากผื่นของโรคนี้จะขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด
อาการแทรกซ้อน
- พบได้น้อยในเด็ก
- แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่อาจพบภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น
- ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้ตุ่มน้ำกลายเป็นหนองและอาจทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้
- ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่พบได้น้อยคือ ปอดอักเสบ สมองอักเสบและมีอาการอ่อนแรงได้
- หากในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจพบการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ ตับและไตได้
- ถ้ามีการติดเชื้อสุกใสในหญิงตั้งครรภ์ระยะสามเดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นสุกใสในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นสุกใสชนิดรุนแรงได้
การรักษาและการปฏิบัติตัว
- โรคส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรง และหายเองได้
- แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เช่น acyclovir ในผู้ป่วยเด็กที่มีโรคเรื้อรังและผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เนื่องจากมีแนวโน้มจะเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
- ผู้ป่วยควรพักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ
- ถ้ามีไข้สูง ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ และรับประทานยาพาราเซตามอลบรรเทาไข้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน เพราะอาจก่อให้เกิด Reye’s syndrome ซึ่งมีอาการสมองและตับอักเสบรุนแรง
- ถ้ามีอาการคัน ให้รับประทานยาแก้แพ้และทายาคารามายด์
- ใช้น้ำเกลือกลั้วปากถ้ามีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อย
- ตัดเล็บสั้น ไม่แกะเกา และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้ตุ่มกลายเป็นหนองและแผลเป็น
การป้องกันการแพร่กระจายของโรค
- เนื่องจากโรคสุกใสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายโดยทางการหายใจ จึงควรแยกผู้ป่วยออกจากเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
- ควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน พักผ่อนอยู่บ้านเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น
- ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่นคือ ตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ก่อนมีผื่นขึ้นจนกระทั่งถึง 6 วันหลังผื่นขึ้น
การป้องกันโรค
- ในปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคสุกใส ซึ่งจะป้องกันการติดเชื้อได้ หรือถ้ามีการติดเชื้อจะสามารถลดความรุนแรงลงได้ แนะนำให้ฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรกในเด็กอายุ 12 – 15 เดือนและครั้งที่สองในเด็กอายุ 4 – 6 ปี
ที่มา
- ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- https://emedicine.medscape.com/article/1131785-overview
Related posts