โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า หรือ Rabies เป็นไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญคือเป็นโรคที่ติดแล้วไม่สามารถหายได้ และจะเสียชีวิตเนื่องจากเชื้อจะเข้าไปทางเส้นประสาทเข้าสู่บริเวณสมอง
สำหรับพาหะหรือสิ่งมีชีวิตที่ติดเชื้อโดยส่วนใหญ่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ค้างคาว ลิง กระรอก หนู โดยประเทศไทยจากการสำรวจตั้งแต่ 6 มีนาคม 2560 – 6 มีนาคม 2561 พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากสุนัขมากที่สุด รองลงมาเป็นแมวและสัตว์อื่นๆ
นอกจากนี้มักพบว่าเป็นสัตว์ที่มีการติดเชื้อเกินครึ่งหนึ่งเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ
และในช่วงนี้มีการระบาดมากขึ้นในประเทศไทย โดย 10 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยเอ็ด สงขลา สุรินทร์ ชลบุรี ยโสธร ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ กรุงเทพและมหาสารคามตามลำดับ
สำหรับอาการของสัตว์เลี้ยงเมื่อได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 6 เดือนหลังจากนั้นเริ่มแสดงอาการโดยมีด้วยกัน 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะเริ่มแรก มีอาการประมาณ 2 – 3 วัน โดยสุนัขจะมีอารมณ์และนิสัยเปลี่ยนไป เช่น สุนัขที่ชอบคลุกคลีกับเจ้าของ จะปลีกตัวออกไปหลบซุกตัวเงียบๆ มีอารมณ์หงุดหงิด หรือตัวที่เคยขลาดกลัวคนก็จะกลับมาคลอเคลีย เริ่มมีไข้เล็กน้อย ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ การตอบสนองต่อแสงของตาลดลง กินข้าวกินน้ำน้อยลง ลักษณะการเคี้ยวหรือกลืนผิดไป
- ระยะตื่นเต้น คือ เริ่มมีอาการทางประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของ สิ่งแปลกปลอม กัดทุกสิ่งไม่เลือกหน้า ถ้ากักขังหรือล่ามไว้ จะกัดกรงหรือโซ่จนเลือดกบปาก โดยไม่เจ็บปวด เสียงเห่าหอนจะเปลี่ยนไป ตัวแข็ง
- ระยะอัมพาต สุนัขจะมีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล และไม่สามารถใช้ลิ้นได้เลย สุนัขอาจแสดงอาการขยอกหรือขย้อนคล้ายมีอะไรอยู่ในลำคอ ขาอ่อนเปลี้ยทรงตัวไม่ได้ ล้มลงแล้วลุกไม่ได้ อัมพาตขึ้นทั่วตัวอย่างรวดเร็วและตายในที่สุด อาการสุนัขบ้ามีทั้งแบบดุร้ายและแบบซึม
สำหรับในคนจะมีระยะฟักตัวโดยส่วนใหญ่ประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ อายุของผู้ป่วย ตำแหน่งที่ได้รับเชื้อและสายพันธุ์ของเชื้อ (ในบางรายพบว่ามีระยะฟักตัวเพียง 4 วัน) สำหรับอาการของคนที่ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า อาการเริ่มแรกของผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น ตาเบิกโพลงบ่อยๆ บางครั้งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต มีอาการกลืนลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งของเหลว จะเกิดอาการปวดเกร็งทำให้ไม่อยากดื่มน้ำมีอาการกลัวน้ำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคกลัวน้ำ ไม่อยากกลืนแม้กระทั่งน้ำลาย จึงทำให้น้ำลายไหล บางคนอาจปวดท้องน้อยและขา กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติและตายในที่สุด
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแนะนำให้ทำการล้างแผลโดยใช้น้ำสะอาดหรือสบู่ และหลังจากนั้นพิจารณาว่าต้องได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่
สำหรับ WHO ได้ประกาศเกณฑ์ในการพิจารณาได้รับวัคซีนหลังจากสัมผัสเชื้อ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่
ประเภทที่ 1 จับหรือสัมผัสสัตว์โดย ผิวหนังปกติ
ประเภทที่ 2 สัตว์กัดหรือข่วนเป็นรอยช้ำ เป็นแผลถลอก สัตว์เลียบาดแผล
ประเภทที่ 3 ถูกกัด หรือข่วนมีเลือดออก น้ำลายสัตว์ถูกเยื่อบุ กินสัตว์ที่สงสัยการติดเชื้อ หรือถูกค้างคาวกัดหรือข่วน
โดยในประเภทที่ 2 และ 3 ควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสามารถติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านได้
ดังนั้นหากโดนสัตว์กัดควรรีบปฐมพยาบาลและมาพบแพทย์ทันทีเพื่อประเมินความเสี่ยงและการได้รับวัคซีน และหากพบสัตว์ต้องสงสัยว่ามีการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ หรือต้องการติดตามสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดตามได้ที่ http://www.thairabies.net/