ความสามัคคี
โดย น.ท.สมปอง วัฒนกูล อศจ.บก.รร.นร.
ความสามัคคี เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนา เพราะพลังของสามัคคีนั้น ช่วยให้งานที่ช้ากลายเป็นงานเร็ว งานที่หนักกลายเป็นงานเบา งานที่ยากลำบากกลายเป็นงานง่าย และทำให้งานที่มีผลน้อยกลายเป็นงานมีผลมากได้ ที่สำคัญพลังของความสามัคคีช่วยทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคมในภาพรวมอีกมากมาย
ถ้ามองในทางสัจธรรม สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้เลยถ้าปราศจากความสามัคคีหรือปรองดองจากสิ่งอื่น ตัวตนของเราก็ดี รถราต่าง ๆ ก็ตาม ล้วนเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะความสามัคคีของอวัยวะหรืออะไหล่ต่าง ๆ ทั้งสิ้น เช่น คนเราประกอบด้วย เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก รถยนต์ก็ประกอบด้วยล้อ ตัวถัง และเครื่องยนต์ เป็นต้น แม้แต่ในการทำงาน บางคนทำได้คนเดียวโดยไม่ได้อาศัยใครเลย แต่จริง ๆ แล้วในการทำนั้น ก็ยังต้องอาศัยตา มือ สติปัญญา และอาศัยกำลังอื่น ๆ อีกมากมายในตัวเขา งานจึงสำเร็จลุล่วงด้วยดี ด้วยเหตุที่พลังของสามัคคีมีคุณค่าเช่นนี้ ทางศาสนาจึงสอนให้สร้างสามัคคีโดยลดทิฐิมานะลง หยุดการเอารัดเอาเปรียบ ละคำพูดที่เหยียดหยาม เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้คนสามัคคีกันไม่ได้ และให้คิดพูดและทำสิ่งที่ดีต่อกัน รู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ถืออภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ตลอดจนสร้างกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมกีฬา การประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นต้น เพื่อให้สามัคคีนั้นเกิดขึ้น
ถ้าอยากให้เกิดความสามัคคีแล้ว ไม่ขจัดอุปสรรคของความสามัคคี และไม่สร้างอุบายแห่งความสามัคคีให้เกิด ตลอดจนไม่จัดกิจกรรมอะไรขึ้นมารองรับเลย สามัคคีที่ถูกต้องชอบธรรม
ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นั่นหมายความว่า สิ่งที่ช้าก็คงช้าต่อไป สิ่งที่หนักก็คงหนักต่อไป สิ่งที่ยากก็คงยากต่อไป และสิ่งที่ได้ผลน้อยก็คงได้ผลน้อยต่อไป ทั้งนี้เพราะขาดความสามัคคีนั่นเอง
[/vc_column_text]