การพัฒนาชุดเครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในส่วนของ กรม นนร.รอ. ทำให้กำลังพลที่สวมใส่เครื่องแบบรู้สึกผ่อนคลาย มั่นใจแต่ยังคงไว้ซึ่งความสง่างาม และทำให้เครื่องแบบที่มีราคาแพงมาก สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น
การแลกเปลี่ยนความรู้ในหน่วยงานทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของกองทัพเรือ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ นำไปสู่การพัฒนาแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิม เพื่อให้กำลังพลที่สวมใส่เครื่องแบบเกิดความมั่นใจรู้สึกผ่อนคลาย โดยเครื่องแบบยังคงสง่างาม ใช้งานได้ยาวนานขึ้นเป็นการประหยัดงบประมาณ เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
ชุดเครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรม นนร.รอ. มีส่วนประกอบหลักอยู่ ๓ ส่วน คือ
๑.เนื้อผ้า เป็นผ้าสีน้ำเงินดำตัดเย็บเป็นเสื้อคอปิดและกางเกงแถบทอง (ปัจจุบันใช้ผ้าสีดำ)
๒. ดิ้นทอง ใช้ประดับในส่วนของเสื้อปกคอปิดเรียกว่า “คอล่า” ทำเป็นเครื่องหมายยศที่ปลายแขนเสื้อและแถบด้านข้างของกางเกงขายาวสีน้ำเงินดำ
๓. โลหะชุบทอง เป็นดุมสมอใหญ่ประดับทั้งด้านหน้าและด้านหลังจำนวน ๒๐ เม็ด
มว.คลัง แผนกพลาธิการฯ ได้ทำการเสนอรูปแบบการปรับปรุงชุดเครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ โดยอาศัยประสบการณ์การเรียนรู้ให้ ผู้ประกอบการที่ พธ.ทร. ว่าจ้างตัดเย็บแก้ไขจุดบกพร่องของเสื้อคอปิดที่เดิมมีการปักลายดิ้นทองตรงปกเสื้อที่เรียกว่า “คอล่า” ทำให้ไม่สามารถถอดออกได้ จะเกิดปัญหาเมื่อทำการซักทำความสะอาดเครื่องแบบ เพราะดิ้นทองจะดำและเสื่อมสภาพเร็วมากการซ่อมทำเปลี่ยนดิ้นทองใหม่จะทำได้ยากมากหรือทำไม่ได้เลยตามภาพ
แสดงภาพเสื้อเครื่องแบบที่ได้ทำการแก้ไขให้ “คอล่า” สามารถถอดออกได้ ไม่เย็บติดกับคอเสื้อเหมือนก่อน โดยการทำเป็นแผ่นผ้าใช้แถบเวลล์โก้เทป (ตีนตุ๊กแก) เป็นตัวยึดเกาะสามารถถอดเปลี่ยนเมื่อชำรุดหรือเมื่อต้องการซักทำความสะอาดชุดเครื่องแบบ
ภาพเปรียบเทียบความแตกต่าง ดิ้นทอง บริเวณคอล่าที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างคอแบบเก่ากับแบบใหม่
ประโยชน์ที่ 2 ที่ได้จากการใช้คอล่าแบบถอดได้คือ ทำให้กำลังพลที่สวมใส่เครื่องแบบมีความมั่นใจ และรู้สึกผ่อนคลาย และสามารถใช้เครื่องแบบได้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะแม้ว่าส่วนคอเสื้อที่เป็นคอปิด จะคับจนไม่สามารถติดคอเสื้อได้ แต่ระบบคอล่าแบบใหม่ สามารถทำให้ใช้เครื่องแบบได้ปกติ โดยไม่ต้องติดคอเสื้อแต่ประการใด ซึ่งดูภายนอก ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าไม่ได้ติดคอเสื้อ
มว.คลัง ฯ ได้ดำเนินการพัฒนาชุดเครื่องแบบรักษาพระองค์อย่างต่อเนื่อง (ระยะที่ 2) โดยเฉพาะตัวเสื้อซึ่งเป็นส่วนสำคัญและราคาแพงที่สุด โดยแก้ไขจุดอ่อนอีก 1 จุด ตรงชั้นยศที่ปลายแขนเสื้อให้สามารถถอดเปลี่ยนได้เช่นกัน โดยใช้แนวความคิดเดียวกับค่อล่าที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาแล้วตามภาพ
ผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการพัฒนา
1 ทำให้ประหยัดงบประมาณของกองทัพเรืออย่างมากประมาณ 3 ล้านบาทต่อรอบการจัดหา
2 การเก็บรักษาและดูแลชุดเครื่องแบบทำได้ง่ายขึ้น
3 การจ่ายเครื่องแบบให้กำลังพลสวนสนาม ทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องกังวลเรื่องคอเสื้อ หรือแถบชั้นยศอีกต่อไป เพราะสามารถถอดเปลี่ยนได้
4 เกิดการพัฒนามีการแลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานทหารรักษาพระองค์ด้วยกันและมีการนำองค์ความรู้ไปใช้อย่างได้ผลจริง
5 เอกชนผู้ประกอบการได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดใช้ผลิตผลงานให้หน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สร้างเงิน สร้างงานอย่างชัดเจน
—————-
ผลงานชิ้นนี้เป็นความภาคภูมิใจของ รร.นร. และขอขอบคุณ น.ต.สุรชัย พิเกสน้อยไว้ ณ โอกาสนี้